วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒)  ขุททกนิกาย มิลินทปัญหาบาลี  กถาว่าด้วยนครอันเป็นที่อุบัติแห่งปัญหา

๑. ณ สากลนครอันเป็นเมืองอุดม พระราชาพระนามว่ามิลินท์พระองค์นั้น ได้เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสน ดุจแม่น้ำคงคาไหลไปหามหาสมุทรฉะนั้น พระราชาผู้ทรงมีถ้อยคำวิจิตร ทรงนั่งถามปัญหาที่ละเอียดอ่อน อันเป็นไปตามฐานะ (เหตุ) และไม่ใช่ฐานะ (ไม่ใช่เหตุ) หลายปัญหา กับท่านพระนาคเสนเถระผู้เป็นดุจคบเพลิงบรรเทาความมืด ปุจฉาและวิสัชชนาล้วนอิงอาศัยที่ลึกซึ้ง น่าจับใจ ไพเราะหูน่าอัศจรรย์ ทำให้โลมชาติชูชันได้ คำพูดของท่านพระนาคเสนหยั่งลงในพระอภิธรรมและพระวินัยเพียบพร้อมด้วยพระสูตรอันเป็นดุจข่ายวิจิตรด้วยอุปมาและนัยทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงตั้งญาณ ทำใจให้บันเทิง ฟังปัญหาที่ละเอียดอ่อนอันเป็นเครื่องทำลายฐานะที่น่าสงสัยในมิลินทปัญหาปกรณ์นั้นเถิด

๒. ตามที่ได้สดับ ต่อกันมานั้นมีเรื่องว่า นครชื่อว่าสาคลของพวกโยนกมีอยู่ เป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ สวยงามด้วยแม่น้ำและภูเขา มีภาพพื้นภูมิประเทศน่ารื่นรมย์ สมบูรณ์ด้วยอาราม อุทยาน ชายป่า ตระพังน้ำและสระโบกขรณี มีแม่น้ำภูเขาราวป่า น่ารื่นรมย์มีแต่สิ่งที่ผู้คงแก่เรียน (ผู้มีความรู้) สร้างสรรค์ไว้ ปราศจากข้าศึกรบกวน ศัตรูไม่เข้าไปบีบบังคับ มีหอสังเกตการณ์ ซุ้มประตูที่วิจิตรหลากหลาย มีป้อมเชิงเทินที่เลิศหรูยอดเยี่ยม มีกำแพงขาวสะอาดฝังลึกรายรอบ ล้อมรอบภายในเมืองไว้ มีถนน ตรอก ทางสี่แพร่ง ที่ตัดแบ่งไว้ดี ภายในตลาดก็มีสินค้าดีๆ หลายอย่าง ตั้งเสนอขายเป็นอย่างดี สวยงามด้วยโรงทานหลายแห่งนับร้อย ประดับด้วยที่อยู่อาศัยอย่างดีๆ นับเป็นแสนๆ แห่ง ดูคล้ายยอดเขาหิมะ กลมกลืนด้วยช้างม้ารถคนเดินเท้า มีหมู่ชายหญิงเที่ยวสัญจร มีผู้คนอยู่กระจัดกระจายไปทั่ว มีทั้งพวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ พวกเวสย์และพวกสูทมากมาย เป็นที่คนผู้มีวิชาความรู้หลายอย่างซ่องเสพ ถึงพร้อมด้วยตลาดผ้านานาชนิด มีผ้าทอจากแคว้นโกฎุมพรเป็นต้น มีตลาดค้าดอกไม้ ของหอมหลายอย่างที่น่าชอบใจตั้งเสนอขายเป็นอย่างดี ฟุ้งไปด้วยกลิ่นหอม เพียบพร้อมด้วยรัตนชาติหลายอย่างที่น่าปรารถนา มีตลาดตั้งเสนอขายหันหน้าตรงทิศทั้งหลาย เป็นที่หมู่พ่อค้าผู้แต่งกายงามหรูเที่ยวไป แพร่หลายบริบูรณ์ด้วยเหรียญเงินทองและภาชนะ มีธงทิวปักโบกไสว มีทรัพย์สิน ธัญญาหาร อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจเพียงพอ มียุ้งฉางคลังสินค้าบริบูรณ์ มีของเคี้ยวของกินของเลียของดื่มของลิ้มหลายอย่าง มีข้าวกล้าสมบูรณ์คล้ายอุตรกุรุทวีป (หรือ) เหมือนอย่างเมืองเทวดาชื่อว่า อาฬกมันทา ฉะนั้น

คำอธิบาย

คำว่า พวกโยนก ในที่นี้ คือพวกกรีกที่เข้ามาอาศัยตั้งบ้านเรือน อยู่ในแคว้นปัญจาบของอินเดียตั้งแต่ ครั้งที่อเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตแคว้นนี้ได้ มิได้หมายถึงชาวไทยทางแถบล้านนา

อันบัณฑิตน่าจะดำรงอยู่ในสาคลนครนี้ แล้วกล่าวถึงบุพกรรม (กรรมที่ทำไว้ในภพก่อน) ของท่านเหล่านั้น และเมื่อจะกล่าว ก็ควรกล่าวแบ่งเป็น ๖ กันฑ์ก่อน ๖ กัณฑ์นี้มีอะไรบ้าง ได้แก่ ปุพพโยคะ ๑ มิลินทปัญหา ๑ ลักขณปัญหา ๑ เมณฑกปัญหา ๑ อนุมานปัญหา ๑ โอปัมมกถาปัญหา ๑

ใน ๖ กัณฑ์นั้น มิลินทปัญหายังแตกเป็น ๒ ส่วนคือ ลักขณปัญหา ๑ วิมติเฉทนปัญหา ๑ แม้เมณฑกปัญหาก็แตกเป็น ๒ ส่วนคือมหาวรรค ๑ โยคิกถาปัญหา ๑

ใน ๖ กัณฑ์นั้น กรรมที่บุคคลทั้ง ๒ คือพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนเถระประกอบไว้ในภพก่อน ชื่อว่าปุพพโยคะ ปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ทรงตั้งถามขึ้นมาเอง มิได้ปรารถนาคำในพระศาสนา ชื่อว่า มิลินทปัญหา ปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ทรงปรารภเกี่ยวกับลักษณะของบุคคลเป็นต้น ชื่อว่า ลักขณปัญหา ปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเกี่ยวกับพระดำรัสของพระพุทธเจ้า มีความหมายเป็น ๒ อย่างปะปนกัน ขัดแย้งกัน ชื่อว่า เมณฑกปัญหา ปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเกี่ยวกับเรื่องอนุมาน (มีเหตุให้คาดหมายได้ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้) ชื่อว่า อนุมานปัญหา ปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเกี่ยวกับอุปมาเปรียบเทียบองค์คุณบางอย่างของพระอรหันต์ กับความประพฤติเป็นไปบางอย่างของสัตว์อื่น ชื่อว่า โอปัมมกถาปัญหา

ใน ๖ กัณฑ์นั้น มิลินทปัญหา แม้นว่ามีถึง ๗ วรรค ก็จัดว่ามี ๒ ส่วน โดยเกี่ยวกับเรื่องที่ถามถึง, คือ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ถามถึงลักษณะของธรรมบางอย่าง ส่วนนี้เรียกว่าลักขณปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ถามถึงธรรมทั้งหลาย เพื่อตัดความสงสัยที่มีอยู่ในธรรมเหล่านั้น ส่วนนี้เรียกว่า วิมติเฉทนปัญหา

เมณฑกปัญหา แม้นว่ามีถึง ๘ วรรค ก็จัดว่ามี ๒ ส่วนเท่านั้นเหมือนกัน คือส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ถามเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่แห่งหมวดธรรมบางอย่าง ส่วนนี้เรียกว่า มหาวรรค ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ถามเกี่ยวเนื่องกับปฏิปทาของพระโยคีบางท่าน ส่วนนี้เรียกว่า โยคิกถาปัญหา ฉะนี้แล

กัณฑ์ที่ ๑ พาหิรกถา ปุพพโยคะเป็นต้น

๓. คำว่าปุพพโยคะ ได้แก่บุพกรรมของบุคคลทั้ง ๒ นั้น มีเรื่องว่า ในครั้งอดีตเมื่อพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคกัสสปะยังเป็นไปอยู่ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่อาศัยอยู่ที่อาวาสแห่งหนึ่งใกล้แม่น้ำคงคา ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่ถึงพร้อมด้วยวัตรและศีลจะลุกขึ้นแต่เช้า ถือไม้กวาดด้ามยาวนึกถึงพระพุทธคุณ ปัดกวาดลานไป รวมขยะไว้เป็นกองๆ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวกับสามเณรว่า “นี่แน่ะสามเณร จงเอาขยะนี้ไปทิ้ง” สามเณรผู้นั้นก็เดินไปเสียเหมือนไม่ได้ยิน ภิกษุจะเรียกอยู่แม้นครั้งที่ ๒ แม้นครั้งที่ ๓ สามเณรนั้นก็ยังเดินเฉยเหมือนไม่ได้ยินนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น ภิกษุรูปนั้นจึงคิดว่า “สามเณรผู้นี้ว่ายากจริงหนอ” ดังนี้ โกรธแล้วก็ใช้ด้ามไม้กวาดตีเอา ขณะที่สามเณรผู้ร้องไห้เพราะถูกตีนั้น หอบขยะไปทิ้ง ได้ตั้งความปรารถนาไว้เป็นข้อแรกว่า “ด้วยกรรมที่เป็นบุญ คือการทิ้งขยะนี้ในระหว่างกาล (ที่ล่วงไป) จนกว่าเราจะบรรลุพระนิพพานนี้ ขอเราพึงเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีเดชมาก เหมือนอย่างพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ในทุกๆสถานที่ที่เราบังเกิดเถิด” ดังนี้ พอทิ้งขยะแล้วก็ไปสู่แม่น้ำคงคาเพื่อสรงน้ำ พอเห็นระลอกคลื่นในแม่น้ำคงคาที่หนุนเนื่องกันมาอยู่ ก็ตั้งความปรารถนาไว้แม้นเป็นข้อที่ ๒ ว่า “ในระหว่างกาลจนกว่าเราจะบรรลุพระนิพพานนี้ ขอเราพึงเป็นผู้มีปฏิภาณอุบัติได้โดยพลัน มีปฏิภาณไม่รู้จักสิ้น เหมือนระลอกคลื่น ในทุกๆ สถานที่ที่เราบังเกิด เถิด” ดังนี้

แม้นภิกษุรูปนั้น พอวางไม้กวาดไว้ที่โรงเก็บไม้กวาดแล้ว ก็ไปสู่แม่น้ำคงคาเพื่อสรงน้ำ ได้ยินคำปรารถนาของสามเณรเข้าก็คิดว่า “สามเณรผู้นี้ แม้ว่าถูกเราใช้ก็ยังปรารถนาอย่างนี้ก่อนเทียว ก็ความปรารถนานั้นจะไม่สำเร็จแก่เราบ้างเชียวหรือ” ดังนี้แล้วก็ตั้งความปรารถนาว่า “ในระหว่างกาลจนกว่าเราจะบรรลุพระนิพพานนี้ ขอเราพึงเป็นผู้มีปฏิภาณไม่รู้จักสิ้น เหมือนระลอกคลื่นในแม่น้ำคงคานี้เถิด ขอเราพึงเป็นผู้สามารถที่จะแก้ที่จะเปลื้องปัญหาปฏิภาณที่สามเณรผู้นี้ถามได้ทุกอย่างเถิด”

บุคคลทั้ง ๒ นั้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ต่อมาแม้นพระผู้มีพระภาคของพวกเราทั้งหลายก็ได้ทรงแสดงไว้ว่า “บุคคลแม้นทั้ง ๒ นี้จะปรากฏขึ้นเหมือนอย่างที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระปรากฏขึ้นฉะนั้น เมื่อกาลล่วงไปได้ ๕๐๐ ปีนับแต่การปรินิพพานของเรา บุคคลทั้ง ๒ นี้จะเกิดขึ้น บุคคลทั้ง ๒ นี้จะจำแนกธรรมและวินัยที่เราแสดงไว้อย่างสุขขุมให้หายยุ่งเหยิง ให้หมดเงื่อนงำ ด้วยอำนาจแห่งคำถาม อุปมาและยุติในปัญหา” ดังนี้

๔. ในบุคคลทั้ง ๒ นั้น สามเณรได้เกิดเป็นพระราชาทรงพระนามว่า มิลินท์ ที่สาคลนครในชมพูทวีป ทรงเป็นบัณฑิตผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญา มีความสามารถ มีปกติใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ ทุกคราวที่ทรงทำสิ่งควรทำคือ วิธีประกอบในการงานทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันทั้งหลาย ทั้งได้ทรงเรียนศาสตร์ทั้งหลายเป็นอันมาก ศาสตร์เหล่านี้มีอะไรบ้าง ได้แก่ สุติ สมมุติ สังขยา โยคะ นีติ วิเสสิกา คณิกา คันธัพพา ติกิจฉา จตุพเพทะ ปุราณะ อิติหาสะ โชติสา มายา เหตุ มันตนา ฉันทสะ รวมเป็น ๑๙ พร้อมทั้งพระพุทธพจน์ ทรงเป็นวิตัณฑวาที (มีวาทะที่ทำใจของผู้อื่นให้หวั่นไหวได้) เป็นผู้ที่ใครๆ เข้าใกล้ได้ยาก (ไม่กล้าเผชิญหน้า) เป็นผู้ที่ใครๆ ข่มขี่ได้ยาก นับว่าทรงเป็นยอดแห่งบรรดาเจ้าลัทธิแต่ละลัทธิ ในชมพูทวีปทั้งสิ้น หาใครๆ ผู้เสมอเหมือนพระเจ้ามิลินท์ด้วยกำลัง ด้วยเชาว์ ด้วยความกล้า ด้วยปัญญามิได้ ทรงเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีไพร่พลพาหนะหาที่สุดมิได้

คำอธิบาย

คำว่า สุติ ได้แก่ ศัพทศาสตร์ ว่าด้วยหลักภาษาต่างๆ คำว่า สมมติ ได้แก่ ธรรมศาสตร์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การวินิจฉัยอรรถคดีของพระราชาหรือของหลวง คำว่า สังขยา ได้แก่ สังขยาศาสตร์ว่าเกี่ยวกับหลักการนับจำนวน คำว่า โยคะ ได้แก่ โยคศาสตร์ ว่าด้วยการใช้ของขลังเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่เกิดภัยอันตรายขึ้นในอนาคต คำว่า นีติ ได้แก่ นิติศาสตร์ ว่าด้วยข้อที่พระราชาและชาวโลกพึงประพฤติ คำว่า วิเสสิกา ได้แก่ศาสตร์ว่าด้วยการใช้เครื่องมือมีเครื่องชั่งเป็นต้น ทำเสาเป็นต้น วิชาก่อสร้าง คำว่า คณิกาได้แก่คณิตศาสตร์ คำว่า คันธัพพา ได้แก่วิชาฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลง คำว่า ติกิจฉา ได้แก่แพทย์ศาสตร์ คำว่า จตุเพทา ได้แก่เวท ๔ อย่างคือ อิรุเวท สามเวท ยชุรเวท อาถัพพเวท คำว่า อิติหาสะ ได้แก่ วิชาประวัติศาสตร์ คำว่า โชติสาได้แก่พยากรณ์ศาสตร์ คำว่า มายา ได้แก่มายาศาสตร์ คำว่า เหตุ ได้แก่วิชาว่าด้วยนิมิตลางร้ายดี คำว่า มันตนา ได้แก่วิชาทำนายสิ่งที่ต้องการรู้, ศาสตร์ของพวกวิทยาธร คำว่า ยุทธะ ได้แก่ยุทธศาสตร์ หรือศาสตร์ว่าด้วยการจัดกระบวนทัพ คำว่า ฉันทสะ ได้แก่ ฉันทศาสตร์ ว่าด้วยกิจที่พึงทำสำหรับหญิงมีการปั่นด้ายเป็นต้น กิจที่พึงทำสำหรับชายมีการไถนาเป็นต้น ที่พึงทำได้ตามความพอใจของตน

๕. อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ ทรงประสงค์จะตรวจดูบนพาหนะ อันหาที่สิ้นสุดมิได้ ซึ่งจัดเป็นกระบวนทัพประกอบด้วยพล ๔ เหล่า จึงเสด็จออกจากพระนครไป ครั้งทรงเสร็จสิ้นการตรวจดูเหล่าทัพภายนอกพระนครแล้ว พระราชาผู้ทรงชอบโต้คารม (มีวาทะ) แกล้วกล้า คล่องแคล่ว ผู้มีพระทัยวุ่นวายอยู่ในการสนทนากับพวกวิตัณฑชนเรื่องโลกายัตพระองค์นั้น ก็ทรงแหงนดูพระอาทิตย์ ตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมา รับสั่งว่า “นี่แน่ะ พนาย วันยังเหลืออยู่มาก พวกเรากลับเข้าเมืองเวลานี้แล้วจะทำอะไร สมณะหรือพราหมณ์บางคนที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นอาจารย์ประจำคณะ แม้ที่ยืนยันว่าตนเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าผู้อาจสนทนากับเราเพื่อกำจัดความสงสัย ก็มีอยู่ เราจะเข้าไปถามปัญหากับสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น เราจะขอบรรเทาความสงสัยละ” ดังนี้

เมื่อรับสั่งอย่างนี้แล้ว พวกข้าหลวงโยนกจำนวน ๕๐๐ ก็ได้กราบทูลความข้อนั้นกับพระเจ้ามิลินท์ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ศาสดา ๖ ท่าน คือท่านปูรณกัสสปะ ท่านมักขลิโคสาละ ท่านนิคณนาฏบุตร ท่านสัญชยเพลัฏฐบุตร ท่านอชิตเกสกัมพล ท่านปกุธกัจจายนะ ก็มีอยู่ อาจารย์ ๖ ท่านนั้น เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นอาจารย์ประจำคณะ เป็นผู้รู้ ชนทั้งหลายเป็นอันมากนับถือกันว่าเป็นคนดี ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงเสด็จไปถามปัญหากับศาสดาทั้ง ๖ นั้น ขอพระองค์ทรงกำจัดความสงสัยเสียเถิดพระเจ้าข้า” ดังนี้

คำอธิบาย

คำว่าศาสดา ๖ ท่าน ได้แก่ศาสดา ๖ ท่านผู้มีชื่อเหมือนกับศาสดา ๖ ท่าน ครั้งพุทธกาล กล่าวคือ ท่านปูรณกัสสปะ ผู้มีชื่อเหมือนท่านปูรณกัสสปะครั้งพุทธกาล ท่านมักขลิโคสาละ ผู้มีชื่อเหมือนท่านมักขลิโคสาละครั้งพุทธกาล อย่างนี้ เป็นต้น (อรรถกถาอธิบายไว้อย่างนี้ก็จริง แต่คำอธิบายอีกนัยหนึ่งก็น่ารับฟัง คือศาสดาผู้นี้จะมีชื่อมีโคตรเดิมว่ากะไรก็ตาม แต่เพราะเป็นศิษย์ของท่านปูรณกัสสปะ ประกาศลัทธิของท่านปูรณกัสสปะ จึงได้ชื่อคือสมญาว่าปูรณกัสสปะ คนทั้งหลายเรียกว่าปูรณกัสสปะ อีกท่านหนึ่งเพราะเป็นศิษย์ของท่านมักขลิโคสาละ ประกาศลัทธิของท่านมักขลิโคสาละ จึงได้ชื่อว่า มักขลิโคสาละ คนทั้งหลายเรียกว่ามักขลิโคสาละอย่างนี้ เป็นต้น)

๖. ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ แวดล้อมด้วยข้าหลวงโยนก ๕๐๐ คน เสด็จขึ้นรถทรงอันเป็นพาหนะที่งดงาม เข้าไปหาท่านปูรณกัสสปะ ณ. ที่พำนัก ครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว ก็ทรงยินดีร่วมกันกับท่านปูรณกัสสปะ ตรัสสัมโมทนียกถาอันเป็นเครื่องพอให้ระลึกถึงกันจบแล้ว ก็จงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ครั้งทรงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว ก็ได้ตรัสข้อความนั้นกับท่านปูรณกัสสปะ ว่า “ท่านกัสสปะผู้เจริญอะไรรักษาโลกอยู่ ?” “ขอถวายพระพร มหาบพิตร แผ่นดินรักษาโลกอยู่” พระราชา “ท่านกัสสปะผู้เจริญ ถ้าหากแผ่นดินรักษาโลกอยู่ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร สัตว์ผู้จะไปอเวจีนรกจึงล่วงแผ่นดินไปได้เล่า” เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านปูรณกัสสปะก็ไม่อาจก็กลืม ไม่อาจคาย นั่งก้มหน้า คอตก นิ่งเฉย เก้อเขินอยู่

๗. ต่อจากนั้น พระเจ้ามิลินท์จึง (เสด็จขึ้นรถทรงไป) ตรัสข้อความนั้นกับท่านมักขลิโคสาละว่า “ท่านโคสาละผู้เจริญ กรรมที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล มีอยู่หรือ ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่ว มีอยู่หรือ?” “ขอถวายพระพร มหาบพิตร กรรมที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศลไม่มีหรอก ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ที่ทำชั่วก็ไม่มี ขอถวายพระพร พวกที่เป็นกษัตริย์ในโลกนี้ แม้ไปโลกหน้า ก็จะเป็นกษัตริย์นั่นแหละอีก พวกที่เป็นพราหมณ์ เป็นเวสย์ เป็นสูท เป็นจัณฑาล เป็นคนเทหยากเยื่อ แม้ไปในโลกหน้าก็จะเป็นพราหมณ์ เป็นเวสย์ เป็นสูท เป็นคนเทหยากเยื่อนั่นแหละอีก ประโยชน์อะไรด้วย กุศลกรรม อกุศลกันทั้งหลายเล่า” พระราชา “ท่านโคสาละผู้เจริญถ้าหากว่าคนที่เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นเวสย์ เป็นสูท เป็นจัณฑาล เป็นคนเทหยากเยื่อในโลกนี้ แม้ไปสู่โลกหน้าแล้วก็จะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นเวสย์ เป็นสูท เป็นจัณฑาล เป็นคนเทหยากเยื่อนั่นแหละอีก สิ่งที่สัตว์ทำโดยเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมก็ไม่มีไซร้ ถ้าอย่างนั้นนะ ท่านโคสาละ คนมือด้วนในโลกนี้ แม้ไปในโลกหน้าแล้ว ก็จะเป็นคนมือด้วนนั่นแหละอีก คนเท้าด้วนก็จะเป็นคนเท้าด้วนนั่นแหละอีก คนที่ทั้งมือทั้งเท้าด้วน ก็จะเป็นคนที่ทั้งมือทั้งเท้าด้วนนั่นแหละอีก คนหูแหว่งก็จะเป็นคนหูแหว่งนั่นแหละอีก คนจมูกแหว่งก็จะเป็นคนจมูกแหว่งนั่นแหละอีก” เมื่อตรัสอย่างนี้ ท่านโคสาละก็นิ่งเฉยไป

ลำดับนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ทรงเกิดพระดำริข้อนี้ ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ชมพูทวีปว่างเปล่าไปเสียแล้วหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ชมพูทวีปมีแต่แกลบหนอ ใครๆไม่ว่าสมณะหรือพราหมณ์ผู้อาจสนทนากับเรา เพื่อบรรเทาความสงสัยไม่มีเลย ดังนี้”

ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ ตรัสเรียกพวกอำมาตย์ ทั้งหลายมารับสั่งว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ราตรีเดือนหงายน่ารื่นรมย์หนอ ไฉนวันนี้เราน่าจะเข้าไปหาสมณะหรือว่าพราหมณ์เพื่อถามปัญหา ใครเล่า อาจสนทนากับเราเพื่อบรรเทาความสงสัยได้” เมื่อรับสั่งอย่างนี้แล้ว พวกอำมาตย์ทั้งหลายก็ได้แต่ยืนนิ่งเฉย มองดูพระพักตร์พระราชาอยู่

ก็สมัยนั้นแล สาครนคร กลายเป็นนครที่ว่างจากพวกสมณะ พราหมณ์ คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตไปถึง ๑๒ ปี พระราชาทรงสดับว่า สมณพราหมณ์คณบดีผู้เป็นบัณฑิตอาศัยอยู่ ณ สถานที่ใด จะเสด็จไป ณ สถานที่นั้น ตรัสถามปัญหากับพวกบัณฑิตเหล่านั้น พวกบัณฑิตแม้ทุกคน ไม่อาจทําพระราชาให้ทรงยินดีด้วยคำวิสัชชนาปัญหาได้ จึงหลีกไปเสียทางใดทางหนึ่ง พวกที่ไม่ยินยอมไปทิศอื่น (คือยังคงอยู่ประจำสถานที่เดิม) ก็ได้แต่นิ่งเฉยกันหมด ส่วนพวกพิกษุ โดยมากจะพากันไปภูเขาหิมพานต์

คำอธิบาย

คำว่า ส่วนพวกภิกษุ โดยมากจะพากันไปภูเขาหิมพานต์ ดังนี้นั้น ได้แก่บรรดาภิกษุผู้มีฤทธิ์เท่านั้น ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์ไม่อาจไปสู่ภูเขาหิมพานต์ได้ เป็นภิกษุที่นับเนื่องอยู่ในคำว่า “พวกที่ไม่ยอมไปทิศอื่นก็ได้แต่นิ่งเฉยกันหมด”

๘. ก็สมัยนั้นแล พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฎิ อาศัยอยู่ที่รักขิตตลวิหาร บนภูเขาหิมพานต์ ครั้งนั้น ท่านพระอัสสคุตได้สดับคำตรัสของพระเจ้ามิลินท์ด้วยทิพโสตธาตุญาณ (ญาณคือหูทิพย์) แล้วก็ให้ประชุมภิกษุสงฆ์ที่ยอดเขายุคลธร ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีภิกษุผู้สามารถสนทนากับพระเจ้ามิลินท์เพื่อบรรเทาความสงสัยอยู่บ้างหรือไม่ ?”

เมื่อท่านพระอัสสคุตเอาอย่างนี้แล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ได้แต่นิ่งเฉย พระอัสสคุตถามแม้เป็นครั้งที่ ๒ แม้เป็นครั้งที่ ๓ ก็เอาแต่นิ่งเฉย เมื่อเป็นเช่นนั้น พระอัสสคัตจึงได้กล่าวความข้อนั้นกับภิกษุสงฆ์ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลายที่ภพดาวดึงส์ มีวิมานชื่อ เกตุมดี อยู่ทางด้านทิศปราจีนแห่งเวชยันตปราสาท เทพบุตรตนหนึ่ง ชื่อว่า มหาเสน อาศัยอยู่ที่วิมานนั้น เทพบุตรตนนั้น สามารถสนทนากับพระเจ้ามิลินท์พระองค์นั้น เพื่อบรรเทาความสงสัยได้” ดังนี้

ลำดับนั้นแล พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ได้อันตรธานหายตัวจากภูเขายุคันธรไปปรากฏตัวที่ภพดาวดึงส์ ท่านท้าวสักกะจอมเทพก็ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุผู้มาแต่ไกลเหล่านั้น ท่านทรงเห็นแล้วก็ได้เสด็จเข้าไปหาท่านพระอัสสคุต เข้าไปหาแล้วก็ทรงกราบไหว้พระท่านพระอัสสคุต แล้วจงยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ท่านท้าวสักกะจอมเทพ ครั้นทรงยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว ก็ตรัสความข้อนั้นกับท่านพระอัสสคุตว่า “พระคุณเจ้า พระภิกษุหมู่ใหญ่แลมาถึง โยมก็เป็นคนวัดของสงฆ์ พระสงฆ์มีความต้องการด้วยเรื่องอะไร มีอะไรที่โยมต้องทำหรือ ?”

ลำดับนั้น ท่านพระอัสสตุต จึงได้ถวายพระพร แจ้งความข้อนั้นกับท่านท้าวสักกะจอมเทพว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ที่สากลนครในชมพูทวีป มีพระราชานามว่ามิลินท์ ทรงเป็นผู้ที่มีวาทะทำใจผู้อื่นให้หวั่นไหวได้ เป็นผู้ที่ใครๆเข้าใกล้ได้ยาก ใครๆข่มขี่ได้ยาก กล่าวได้ว่า ทรงเป็นยอดแห่งบรรดาเจ้าลัทธิแต่ละลัทธิ พระเจ้ามิลินท์นั้น ได้เสด็จเข้าไปหาภิกษุสงฆ์ ใช้ทิฏฐิวาทะถามปัญหาข่มเหงภิกษุสงฆ์

ครั้งนั้นแล ท่านท้าวสักกะจอมเทพได้รับสั่งความข้อนั้นกับท่านพระอัสสคุต ว่า “พระคุณเจ้า พระเจ้ามิลินท์ พระองค์นี้ทรงเป็นผู้ที่เคลื่อนจากภพนี้ไปอุบัติในมนุษย์ พระคุณเจ้า ที่เกตุมดีวิมาน เทพบุตรชื่อว่า มหาเสนห์นี้ อาศัยอยู่ เทพบุตรตนนั้น สามารถสนทนากับพระเจ้ามิลินท์พระองค์นั้น เพื่อบรรเทาความสงสัยได้ โยมจะขอร้องเทพบุตรตนนั้น เพื่อให้ไปอุบัติในโลกมนุษย์”

ต่อจากนั้นแล ท่านท้าวสักกะจอมเทพ ทรงให้ภิกษุสงฆ์นำหน้า เสด็จเข้าไปยังเกตุมดีวิมาน ทรงสวมกอดมหาเสนเทพบุตร ตรัสถามความข้อนั้นว่า “นี่แน่ะ ท่านผู้นิรทุกข์ ภิกษุสงฆ์ มาขอร้องท่านเพื่อให้อุบัติในโลกมนุษย์” มหาเสนเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประสงค์อะไรด้วยโลกมนุษย์ที่มีการงานมากมายเล่า พระเจ้าข้า โลกมนุษย์หยาบช้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะขออุบัติในเทวโลกนี้ ต่อๆ ไปจนกว่าปรินิพพานพระเจ้าข้า” ท่านท้าวสักกะทรงขอร้อง แม้เป็นครั้งที่ ๒ แม้เป็นครั้งที่ ๓ มหาเสนเทพบุตรก็ยังคงกล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประโยชน์อะไรด้วยโลกมนุษย์ที่มีการงานมากมายเล่า พระเจ้าข้า โลกมนุษย์หยาบช้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะขออุบัติในเทวโลกนี้ต่อๆ ไปจนกว่าจะปรินิพพานพระเจ้าข้า” ดังนี้

ต่อจากนั้นแล ท่านพระอัสสคุตจึงได้กล่าวความข้อนั้นกลับมหาเสนเทพบุตรว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ พวกเราเมื่อตรวจดูโลกพร้อมทั้งเทวดาอยู่ ก็มองไม่เห็นใครอื่นที่สามารถทำลายวาทะของพระเจ้ามิลินท์ ประคองพระศาสนาได้ ยกเว้นแต่ตัวท่าน ข้าแต่ท่านสัตบุรุษ ขอได้โปรดบังเกิดในโลกมนุษย์ ประคองพระศาสนาของพระทศพลเถิด” ดังนี้ เมื่อท่านพระอัสสคุตกล่าวขอร้องอย่างนี้แล้ว มหาเสนเทพบุตรคิดว่า” เพิ่งทราบว่า เราเป็นผู้ที่สามารถทำลายวาทะพระเจ้ามิลินท์ ประคองพระพุทธศาสนาได้ ดังนี้แล้วก็เป็นผู้ร่าเริงบันเทิงยินดี ปรีดา ได้ให้คำปฏิญาณว่า ดีล่ะ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าจะไปอุบัติในโลกมนุษย์ละ” ดังนี้

๙. ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น ครั้งเสร็จกรณียกิจนั้นในเทวโลกแล้ว ก็อันตรธานหายตัวที่เทวโลกชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏตัวที่รักขิตตลวิหารใกล้ภูเขาหิมพานต์

ครั้งนั้นแล ท่านพระอัสสคุต ได้กล่าวความข้อนั้นแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ” ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในหมู่ภิกษุนี้มีภิกษุรูปใดไม่ได้มาประชุมอยู่บ้างหรือ ?” เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งก็ได้บอกความข้อนั้นแก่พระอัสสคุตว่า “มีท่านผู้เจริญเมื่อ ๗ วันก่อนจากนี้ ท่านโรหณะ ได้เข้าไปยังภูเขาหิมพานต์ เข้านิโรธ ขอท่านจงส่งตัวแทนไปที่สำนักของท่านโรหณะ นั้นเถิด” ดังนี้ ฝ่ายท่านพระโรหณะได้ออกจากนิโรธในขณะนั้นนั่นเอง คิดว่า “พระสงฆ์เรียกหาเรา” จึงอันตรธานหายตัวที่ภูเขาหิมพานต์ ไปปรากฎตัวที่รักขิตตลวิหาร เบื้องหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐โกฏิ

ลำดับนั้น ท่านพระอัสสคุตได้กล่าวความข้อนั้นกับท่านพระโรหณะ ว่า “ท่านโรหณะ เมื่อพระพุทธศาสนาจากแตกทำลายทำไมหนอท่านจึงไม่เหลียวแลกรณีกิจพระสงฆ์ พระโรหณะ “กระผมไม่ทันได้ใส่ใจท่านผู้เจริญ”

พระอัสสคุต ถ้าอย่างนั้นนะ ท่านโรหณะขอท่านจงทำทันตกรรม พระโรหณะ ผมต้องทำอะไรหรือท่านผู้เจริญ (ฉบับของไทย-พระอัสสคุต นี่แน่ ท่านโรหณะ เพราะท่านมิได้ใส่ใจ พวกเราก็ขอประนามท่าน โดยการลงพรหมทัณฑ์” พระโรหณะ “พรหมทัณฑ์นั้นคืออะไรหรือขอรับ ท่านผู้เจริญ”) นี่แน่ท่านโรหณะ ที่ข้างภูเขาหิมพานต์ มีละแวกบ้านของพวกพราหมณ์อยู่แห่งหนึ่งชื่อว่า คชังคละ พราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า โสณุตตระ อาศัยอยู่ ณ ที่นั้น เด็กน้อยชื่อว่านาคเสน ผู้เป็นบุตรของเขาจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นนะ ท่านโรหณะ ท่านจงเข้าไปสู่ตระกูลนั้นเพื่อบิณฑบาตตลอด ๗ ปี ๑๐เดือน แล้วชักนำเด็กน้อยนาคเสนให้บวช เมื่อเขาบวชแล้วนั่นเทียว ท่านจึงจะพ้นจากทันตกรรม” ดังนี้ ฝ่ายพระโรหณะยอมรับด้วยดีว่า “สาธุ”

คำอธิบาย

คำว่าเข้านิโรธ คือ เข้านิโรธสมาบัติ อันเป็นการกระทำจิตให้ดับไป ไม่ให้เกิดขึ้นติดต่อกันไปชั่วระยะเวลาที่ประสงค์จะเข้าคือ ๑ วัน ๒ วัน ตลอดจนแม้ ๗ วัน ระหว่างที่เข้าอยู่นี้ร่างกายเท่านั้นยังเป็นไป แต่จิตหรือนามธรรมทั้งหมดนั่นแหละหยุดเป็นไป

คำว่า กระผมไม่ทันได้ใส่ใจ ท่านกล่าวหมายความว่าท่านเข้านิโรธอยู่ ไม่มีจิต ไม่มีใจ จึงไม่อาจใส่ใจ คือ รับรู้เรื่องราวต่าง ๆได้

๑๐. ฝ่ายมหาเสนเทพบุตร เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว ก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภรรยาโสณุตตรพราหมณ์ สิ่งน่าอัศจรรย์ น่าประหลาดใจได้ปรากฏขึ้นพร้อมกับการถือปฏิสนธิ คือ อาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งหลายเรืองแสงขึ้น ยอดข้าวกล้าเผล็ด เมฆใหญ่ (ฝน) ตกหนัก.  

ฝ่ายพระโรหณะ ตั้งแต่มหาเสนเทพบุตรนั้นถือปฏิสนธิแล้ว ก็เข้าไปยังตระกูลนั้นเพื่อบิณฑบาตอยู่ตลอดเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือน แม้สักวันเดียวข้าวสักทัพพีหนึ่งก็ไม่เคยได้ ยาคูลสักกระบวยหนึ่งก็ไม่เคยได้ การทำความเคารพก็ไม่เคยได้ การกราบไหว้ก็ไม่เคยได้ หรือการต้อนรับก็ไม่เคยได้ ทว่า ได้รับแต่การด่าว่า การบริภาษเท่านั้น ไม่มีผู้พูดด้วย แม้นเพียงคำว่า “โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า” ดังนี้เท่านั้น พอล่วงเลยเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือน ไปแล้ววันหนึ่ง ก็ได้เพียงคำพูดว่า “โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า” ในวันนั้นนั่นแหละ แม้พราหมณ์ผู้กลับมาจากการงานภายนอกบ้าน พบพระเถระตรงที่เดินสวนทางกันก็ถามว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านได้ไปยังเรือนของพวกเราหรือ ?” พระเถระ “ใช่ พราหมณ์อาตมภาพได้ไป” “ท่านได้อะไร ๆ บ้างหรือ” เออ พราหมณ์ อาตมาได้” พราหมณ์นั้นไม่พอใจ พอไปถึงเรือนก็ถามว่า “พวกเธอได้ให้อะไร ๆ แก่นักบวชผู้นั้นหรือ ?” คนในเรือนตอบว่า “ไม่ได้ให้อะไร ๆ เลย” ในวันที่ ๒ (วันต่อมา) พราหมณ์นั่งอยู่ที่ประตูเรือนนั่นแหละ คิดว่า “วันนี้เราจะหาว่ากล่าวหานักบวชด้วยเรื่องพูดเท็จ” ในวันที่ ๒ พระเถระก็ไปถึงประตูเรือนของพราหมณ์

พราหมณ์พอเห็นพระเถระก็กล่าวอย่างนี้ ว่า “เมื่อวานท่านไม่ได้อะไร ๆ ที่เรือนของข้าพเจ้าเลยก็บอกว่า ‘อาตมาได้’ สำหรับท่านการกล่าวเท็จควรหรือหนอ” พระเถระกล่าวว่า “นี่แน่ะ พราหมณ์ ตลอด ๗ ปี ๑๐ เดือน ที่อาตมาเข้าไปในเรือนของท่าน อาตมาไม่เคยได้แม้เพียงคำว่า ‘โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า เมื่อวานถึงจะได้เพียงคำว่า ‘โปรดสัตว์ข้างหน้าเธอเจ้าข้า’ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็หมายเอาวาจาปฏิสันถารคำนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เออพราหมณ์ อาตมาได้’ ”

พราหมณ์คิดว่า “ท่านผู้นี้ได้แม้เพียงวาจาปฏิสัณฐานเท่านั้น ก็ยังสรรเสริญในท่ามกลางหมู่ชนว่า ‘อาตมาได้’ ถ้าท่านได้ของเคี้ยวของฉันอะไร ๆ อย่างอื่นบ้าง ไฉนจะไม่สรรเสริญเล่า” ดังนี้แล้ว ก็เลื่อมใส บอกให้เขาแบ่งข้าวทัพพีหนึ่ง และกับข้าวอย่างละนิดอย่างละหน่อย จากอาหารที่เขาเตรียมไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนถวายพระเถระ กล่าวกับท่านว่า “ท่านจะได้ภิกษาหานี้ไปตลอดกาลทั้งปวง” ดังนี้

พราหมณ์นั้น จับตั้งแต่วันใหม่ไป เห็นความสงบเสงี่ยมของพระเถระผู้เข้าไป (ในเรือน) แล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้นไปอีก จึงขอร้องพระเถระให้ตนได้กระทำการถวายภัตตาหารในเรือนตลอดกาลเป็นนิตย์ พระเถระรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ เมื่อท่านจะไปทำภัตกิจแต่ละวัน ท่านจะไปกล่าวพระพุทธพจน์ (ให้พราหมณ์ฟัง) วันละนิดวันละหน่อย แม้นางพราหมณีนั้นแล เมื่อเวลาล่วงเลยไป ๑๐ เดือนก็คลอดบุตร ได้ตั้งชื่อแก่บุตรนั้นว่า “นาคเสน” เขาเจริญเติบโตไปตามลำดับ จนมีอายุได้ ๗ ขวบ

๑๑. ครั้งนั้นแล บิดาของนาคเสนเด็กน้อย ได้กล่าวกับนาคเสนเด็กน้อย ว่า “นี่แน่ะ พ่อนาคเสนในสกุลพราหมณ์นี้ พ่อต้องศึกษาศาสตร์ที่ควรศึกษาทั้งหลายนะ” “คุณพ่อ ชื่อว่าศาสตร์ที่ควรศึกษาในสกุลพราหมณ์นี้คืออะไร ?” “พ่อนาคเสนไตรเพท ชื่อว่าศาสตร์ที่ควรศึกษา วิชาศิลปะที่เหลือทั้งหลายก็ชื่อว่าศาสตร์ที่ควรศึกษา” “ถ้าอย่างนั้นนะ คุณพ่อ ลูกจะศึกษาละ”

ลำดับนั้นแล โสณุตตรพราหมณ์ ได้มอบเงินพันเหรียญอันเป็นส่วนของอาจารย์ (เป็นค่าจ้างอาจารย์) แก่พราหมณ์อาจารย์ แล้วให้เขาตั้งเตียงไว้ที่ข้างหนึ่งในห้องหนึ่งภายในปราสาท กล่าวกับพราหมณ์อาจารย์ว่า “นี่แน่ะ ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงสอนให้เด็กคนนี้ สาธยายมนต์ทั้งหลายเถิด” ดังนี้ พราหมณ์อาจารย์กล่าวกับนาคเสนเด็กน้อยว่า “ถ้าอย่างนั้นนะ พ่อเด็กน้อย ขอพ่อจงเรียนมนต์ทั้งหลายเถิด” ดังนี้ พราหมณ์อาจารย์สาธยายมนต์ไป โดยการยกขึ้นแสดงเพียงคราวเดียวเท่านั้น นาคเสนเด็กน้อยก็มีอันเข้าใจไตรเพทได้ท่องได้คล่องปาก ทรงจำไว้ได้ดี กำหนดไว้ได้ดี ทำไว้ในใจได้ด้วยดี เพียงคราวเดียวเท่านั้น ก็เกิดดวงตาเห็นไตรเพท เป็นผู้รู้บท ชำนาญการอธิบายในคัมภีร์ สณิฆัณฑุและเกฏภะ ในคัมภีร์สากขรัปปเภทะ ในศาสตร์ทั้งหลายอันมีอิติหาสะเป็นที่ ๕ ไม่ขาดตกบกพร่อง ในคัมภีร์ โลกายตะและมหาปุริสสลักขณะ

ต่อมาแล นาคเสนเด็กน้อย นาคเสนเด็กน้อย ได้กล่าวข้อความนั้นกับบิดาว่า “คุณพ่อ ศาสตร์ที่ควรศึกษาในสกุลพราหมณ์นี้ แม้ที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้มีอยู่หรือ หรือว่ามีเพียงเท่านี้แหละ ?” “พ่อนาคเสนศาสตร์ที่ควรศึกษาในสกุลพราหมณ์นี้ ที่ยิ่งยิ่งขึ้นไปกว่านี้หามีไม่ ศาสตร์ที่ควรศึกษาก็มีเพียงเท่านี้แหละ”

ครั้งนั้นแล นาคเสนเด็กน้อย ซักไซร้อาจารย์แล้วก็ลงจากปราสาทไป เป็นผู้ที่วาสนา (การอบรมจิต) ในภพก่อนคอยกระตุ้นจิตใจ เมื่อได้หลีกเร้นไปในที่ลับ ตรวจดูเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งวิชาศิลปะของตนอยู่ ก็มองไม่เห็นสาระแม้เพียงนิด ในเบื้องต้นก็ดี ท่ามกลาง ที่สุดก็ดี จึงเกิดความไม่สบายใจ ไม่พอใจ รำพึงอยู่ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย พาะเวทเหล่านี้เหลวเปล่าหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย พระเวทเหล่านี้เพ้อเจ้อไร้สาระ ปราศจากสาระหนอ” ดังนี้

จบ มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: