“สัจจะ” คำสอนในพุทธศาสนา มี ๒ ระดับ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ การศึกษาธรรมะอาจสับสน
“ ผู้สดับคําสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่าน ได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น บางแห่งว่า ไม่ควรคบคนพาล ควรคบบัณฑิต คนพาลมีลักษณะอย่างนี้ๆ บัณฑิตมีลักษณะอย่างนี้ๆ ควรยินดีแต่ของของตน ไม่ควรอยากได้ของของผู้อื่น ตนเป็นที่พึ่งของตน คนควรช่วยเหลือกัน ดังนี้ เป็นต้น. แต่บางแห่งว่า พึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า กายก็แค่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา พึงรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้ เป็นต้น
เมื่อได้อ่านได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็มองไปว่าคําสอนในทางพระศาสนาขัดแย้งกันเอง หรือไม่ก็งงแล้วไม่เข้าใจ หรือบางคนเข้าใจบ้างแต่ไม่ชัดเจนพอ ทําให้เกิดการปฏิบัติสับสนผิดพลาด ดําเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ในเวลาที่ควรพูดควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจําวันของชาวบ้าน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ เป็นต้น ทําให้เกิดความวุ่นวายและเสียหาย ทั้งแก่ตนและผู้อื่น. คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะ หรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ :-
๑. สมมติสัจจะ ความจริงโดย“สมมติ” (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โวหารสัจจะ ความจริงโดยโวหาร หรือโดยสํานวนพูด) คือ จริงตามมติร่วมกัน ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือยอมรับร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสารพอให้สําเร็จประโยชน์ในชีวิตประจําวัน (conventional truth) เช่น คน สัตว์ คนดี คนชั่ว โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ เป็นต้น ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ภาษาสามัญพูดว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น
๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดย“ปรมัตถ์” คือ จริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้อย่างยิ่ง หรือ ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ หรือพอจะยังพูดให้เข้าใจกันได้ (ultimate truth) เพื่อสําหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ รู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่มันเป็น และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ การหยั่งรู้สัจธรรม ที่จะทําให้ความยึดติดถือมั่นหลงผิดทั้งหลายสลายหมดไป ทําให้วางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน มีความสุขที่แท้จริง
สิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์ เช่น นามธรรม รูปธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ ฯลฯ ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า คําว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น ยังไม่ตรงสภาวะแท้ อาจมีแง่ความหมายที่คลุมเครือหรือเขวได้ น้ำแท้ๆ คือ hydrogen oxide (H2O) เกลือสามัญก็เป็น Sodium chloride (NaCl) จึงถูกแท้ ดังนี้ เป็นต้น (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่า ในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่นของสิ่งสามัญ และไม่ยอมรับว่าคําพูดสามัญสื่อความจริงได้ตรงแท้)
อย่างไรก็ดี ความคิดเกี่ยวกับ “สมมติสัจจะ” และ “ปรมัตถสัจจะ” ที่ท่านระบุออกมาเป็นคําบัญญัติในพระอภิธรรมนั้น ก็ยกเอาความในพระสูตรนั่นเองเป็นที่อ้าง แสดงว่า ความคิดความเข้าใจเรื่องนี้เป็นของมีแต่เดิม แต่ในครั้งเดิมนั้นคงเป็นที่เข้าใจกันดีจนไม่ต้องระบุคําบัญญัติ ๒ คํานี้ ข้อความในพระสูตรที่ท่านยกมาอ้างนั้นเป็นคําของพระภิกษุณีชื่อ “วชิรา” มีเนื้อความดังนี้
“ นี่แน่ะมาร! ท่านจะมีความเห็นยึดถือว่าเป็นสัตว์ได้อย่างไร, ในสภาวะที่เป็นเพียงกองแห่งสังขารล้วนๆ นี้ จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย, เปรียบเหมือนว่า เพราะคุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ศัพท์ว่า “รถ” ย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่า “สัตว์” ก็ย่อมมี ฉันนั้น” ( สํ. ส. ๑๕/๕๕๔/๑๙๘ อ้างใน อภิ. ก. ๓๗/๑๘๕/๘๐ )”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : หนังสือ “พุทธธรรม ฉบับเดิม” หน้า ๔๐-๔๓
0 comments: