ศีลสมาธิปัญญาเพื่อการละ ?
๑. การรักษาศีล ก็เพื่อการละกิเลสอย่างหยาบ คือกิเลสที่ทำให้สัตว์สร้างกรรมขึ้นมาทางกายและวาจา ซึ่งได้แก่ อุปธิ ๔ คือ
๑.๑. ขันธูปธิ คือกิเลสเป็นเหตุสร้างกรรม จากยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ (ว่าเป็นเรา เป็นของเรา) แล้วจึงทำบาปกรรมมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น โดยความไม่ละอาย
๑.๒. ตัณหูปธิ คือกิเลสเป็นเหตุสร้างกรรม จากความทะยานอยาก แล้วจึงทำบาปกรรมมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น โดยไม่เกรงกลัวต่อผลของบาป
๑.๓. อภิสังขารูปธิ คือกิเลสเป็นเหตุสร้างกรรม จากการปรุงแต่งทางความคิด แล้วจึงทำบาปกรรมมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น โดยความเห็นผิดเช่นต้องฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญเป็นต้น โดยคิดว่า “หากตนไม่ทำ จะประสบกับความทุกข์หรือไม่ได้รับความสุขที่ตนปรารถนา”
๑.๔. กามคุณูปธิ คือกิเลสเป็นเหตุสร้างกรรม จากความหวงแหนในกามคุณ เพราะหวงแหนจึงทำบาปกรรมมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น
๒. การบำเพ็ญสมาธิ ก็เพื่อการละกิเลสอย่างกลาง ที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งทางความคิด (ที่ยังเก็บไว้ในใจ) กิเลสอย่างกลางนี้คือกิเลสประเภทนิวรณ์ ๕ คือ
๒.๑. กามฉันทะ คือความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่
๒.๒. พยาบาท คือความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกลงทัณฑ์ทรมานอยู่
๒.๓. ถีนมิทธะ คือความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
๒.๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ คือความคิดซัดส่าย ตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใดๆ
๒.๕.วิจิกิจฉา คือความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้าๆ กลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
๓. การเจริญปัญญา ก็เพื่อการละกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เหมือนตะกอนนอนอยู่ที่ก้นภาชนะ ตะกอนจะฟุ้งขึ้นมาทำน้ำให้ขุ่นเพราะมีคนกวนภาชนะฉันใด อนุสัยกิเลสก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ จะฟุ้งขึ้นมาทำจิตให้ขุ่นมัวเช่นเดียวกันฉันนั้น อนุสัย ๗ เป็นกิเลสที่มีความละเอียดที่สุด สามารถกำจัดได้ด้วยปัญญาเท่านั้น คือ
๓.๑. ทิฏฐิ คือการหลงในความเห็น (สักกายทิฏฐิและสีลัพพัตตปรามาส)
๓.๒. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย
๓.๓. ปฏิฆะ คือความไม่ยินดีพอใจ
๓.๔. ราคะ คือความยินดีพอใจในกาม
๓.๕. ภวราคะ คือความยึดติดในภพ ทั้งรูปภพและอรูปภพ
๓.๖. มานะ คือความสำคัญว่าดีกว่า เสมอกัน เลวกว่า ในสิ่งทั้งปวง
๓.๗. อวิชชา คือความไม่รู้จริง
เพราะฉะนั้น ศีลสมาธิปัญญาเป็นคุณประหานกิเลสและกรรมให้หมดจดจากขันธสันดานนั่นเอง.
สาระธรรมจากอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ (ว่าโดยปหาน)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) , 7/11/64
ภาพ : "ประตูแห่งกาลเวลา" จ.พระนครศรีอยุธยา
ช่วงน้ำหลากปีนี้ ภาพแห่งความทรงจำ ที่ ประตูแห่งกาลเวลา วัดพระงาม ต.คลองสระบัว เป็นซุ้มประตูโบราณที่ถูกโอบล้อมด้วยต้นโพธิ์ เงาสะท้อนในน้ำสวยงามแปลกตา คล้ายรอยต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ประตูแห่งกาลเวลาถูกน้ำท่วมสูงเกือบถึงอก พระสงฆ์ต้องพายเรือบิณฑบาต ทำให้ซุ้มประตูเก่าแก่ที่ถูกรากโพธิ์ปกคลุมดูงามแปลกตา เป็นภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยนัก หากไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม
0 comments: