พระศาสนาห้าพันปี (๒)
สภาพที่บรรยายไว้ในพระบาลีและอรรถกถาที่ยกมาในตอนก่อนมาเกี่ยวอะไรกับสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน?
ขอให้ลองสมมุติดู
ฆรทฺวารํ ปน เตสํ ปุตฺตภริยากสิวณิชฺชาทิกมฺมานิ จ ปากติกาเนว ภวิสฺสนฺติ ฯ ทว่าภิกษุเหล่านั้นมีบ้านเรือน มีบุตรภรรยา มีการประกอบอาชีพ เช่นทำไร่ทำนาค้าขายเหมือนชาวบ้านปกติทั่วไป
สมมุติว่า สภาพที่ท่านบรรยายไว้นี้เกิดขึ้นในปัจจุบันวันนี้-เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๖๔ นี่เลย ไม่ต้องรอไปอีก ๒,๕๐๐ ปี
เราท่านที่มีชีวิตอยู่ใน พ.ศ.นี้ จะยอมรับกันหรือไม่ว่า บุคคลที่ท่านบรรยายไว้นี้ก็ยังเป็น “ภิกษุ” ในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์?
เราท่านที่มีชีวิตอยู่ใน พ.ศ.นี้ แม้จะไม่ได้ศึกษาหลักพระธรรมวินัยในชีวิตประจำวันถึงขั้นรู้เข้าใจปรุโปร่ง แต่ก็ยังมีความรู้หลักพระธรรมวินัยพื้นฐานที่ว่า ภิกษุเสพเมถุนต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันทีที่กระทำสำเร็จ ไม่ต้องรอให้มีการฟ้องร้องกล่าวโทษและมีคำตัดสินว่าผิดจริงจึงจะขาดจากความเป็นภิกษุ
แต่ในคำบรรยายในคัมภีร์ ไม่ได้บอกแค่ว่าเสพเมถุน แต่บอกว่ามีบุตรภรรยาโดยเปิดเผย (ปากติกาเนว-เหมือนชาวบ้านปกติทั่วไป)
ทว่าภิกษุเหล่านั้นมีบ้านเรือน มีบุตรภรรยา มีการประกอบอาชีพ เช่นทำไร่ทำนาค้าขายเหมือนชาวบ้านปกติทั่วไป
ใครใน พ.ศ.๒๕๖๔ นี้ ถ้ายอมรับว่า-แบบนั้นก็ถือว่าท่านยังเป็นภิกษุอยู่ ก็บ้าแล้ว - ใช่หรือไม่
แต่-ลองคิดดู ทำไมผู้คนในอีก ๒,๕๐๐ ปีข้างหน้าเขาจึงยอมรับกันทั่วไปว่า-แบบนั้นก็ถือว่าท่านยังเป็นภิกษุอยู่ ไม่มีใครว่าบ้าเลย
ผู้คนในอีก ๒,๕๐๐ ปีข้างหน้าคิดยังไง ทำไม?
มองอดีต แล้วมองปัจจุบัน แล้วมองไปในอนาคต ก็จะเข้าใจและได้คำตอบ มีอะไรๆ หลายอย่างที่พระในอดีตท่านไม่ทำกัน-ไม่ต้องอดีตยาวไกลนัก ประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น
พระเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วไปทำอะไรบางอย่างเข้า ชาวบ้านเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วจะตำหนิทันที
แต่-อะไรๆ หลายอย่างที่พระในอดีตท่านไม่ทำนั้น พระใน พ.ศ.นี้ท่านทำ และชาวบ้านใน พ.ศ.นี้ก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย ไม่ได้ตำหนิอะไร
ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง
พระไทยภาคกลางเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว รับของที่ผู้หญิงถวายจะต้องมีผ้ารอง ไม่รับจากมือโดยตรงเด็ดขาด รูปไหนรับจากมือโดยตรงผิดมหันต์ แทบจะโดนไล่สึกนั่นทีเดียว
โยมผู้หญิงเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว จะถวายของให้พระ ต้องรอให้พระเอาผ้ารองจึงจะถวาย จะไม่ถวายถึงมือตรงๆ เด็ดขาด เพราะรู้เข้าใจหลัก
แต่พระไทยภาคกลาง พ.ศ.นี้ รับของจากมือสตรีตรงๆ มีให้เห็นแล้วประปราย สตรีไทย พ.ศ.นี้ ส่งของให้ถึงมือพระโดยตรงก็มีให้เห็นแล้วประปราย
แล้วก็มีคำแก้ต่างให้ว่าไม่ใช่เรื่องผิด เพราะหลักการประเคนบอกว่า “รับด้วยกายก็ได้ รับด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้” แปลว่า สามารถรับจากมือสตรีได้โดยตรง
ลืมเฉลียวใจไปว่า บูรพาจารย์ของเราท่านก็รู้หลักนี้-รู้มาก่อนเราเกิดด้วยซ้ำ แล้วทำไมท่านจึงกำหนดให้ภิกษุในคณะสงฆ์ไทยรับประเคนจากสตรีต้องใช้ของเนื่องด้วยกายรับ ไม่ให้รับด้วยกายโดยตรง ท่านมีเหตุผลอะไร คนแก้ต่างไม่ได้คิดข้อนี้
เชื่อได้ว่า อีก ๕๐ ปีข้างหน้า พระไทยภาคกลางจะรับของจากมือสตรีโดยตรงกันทั่วไปและไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสียหายแต่ประการใด
อีกเรื่องหนึ่ง
พระไทยเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ถ้ามีโรคประจำตัวจำเป็นจะต้องรักษา ท่านใช้วิธี “สึกไปรักษาตัว” ทั้งนี้เพราะในกระบวนการรักษานั้นอาจจำเป็นต้องทำผิดพระวินัยในบางเรื่อง ท่านเห็นแก่พระวินัย ไม่อาลัยแก่อายุพรรษาที่บวชมา จึงถือคติ “สึกไปรักษาตัว” พระที่ถือคตินี้มีให้เห็น เป็นที่รู้กันทั่วไป
แต่พระไทย พ.ศ.นี้ มีโรคอะไร ท่านรักษาทั้งเป็นพระ ละเมิดพระวินัยก็มีข้ออ้างว่าเป็นระเบียบของโรงพยาบาล หรือ “หมอสั่ง” ฟังขึ้นหมด ชาวบ้านใน พ.ศ.นี้ ก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย ซ้ำมีข้ออ้าง วินัยที่ละเมิดในกระบวนการรักษาเป็นแค่อาบัติเล็กน้อย รักษาชีวิตเป็นเรื่องสำคัญกว่า
เรื่องอื่นๆ อีก ลองนึกดูก็จะเห็นได้อีก-พระสมัยก่อนไม่ทำ แต่พระสมัยนี้ทำ และเริ่มจะทำกันทั่วไป ชาวบ้านก็ยอมรับว่าทำได้ ไม่ได้เสียหายอะไร
จะเห็นได้ว่า แค่ครึ่งศตวรรษ วิธีคิด วิธีให้เหตุผลเปลี่ยนไปมากถึงเพียงนี้
แล้วมองไปในอนาคต อีก ๕๐ ปีข้างหน้า อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า อีก ๕๐๐ ปีข้างหน้า ... กว่าจะถึง ๒,๕๐๐ ปีข้างหน้า
วิธีคิด วิธีให้เหตุผลของคนเราจะเปลี่ยนไปขนาดไหน
เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรแปลกใจว่า ถึงตอนนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีบ้านเรือน มีบุตรภรรยา ทำไร่ทำนาค้าขายเหมือนชาวบ้านปกติทั่วไป ทำไมสังคมในสมัยหน้าโน้นจึงยอมรับว่า-แบบนั้นก็ถือว่าท่านยังเป็นภิกษุอยู่
ผมว่า-ถ้าวันที่พระศาสนาอันตรธานเป็นก้าวที่ ๕,๐๐๐ เราท่านที่กำลังเป็นตัวแสดงอยู่ใน พ.ศ.นี้ ก็เป็นก้าวที่ ๕๐ หรือก้าวที่ ๕๐๐
ก้าวที่ ๕,๐๐๐ ก็ไปจากก้าวที่ ๕๐ หรือก้าวที่ ๕๐๐ ที่เรากำลังก้าวกันอยู่นี่แหละ
อย่างไรเสียพระศาสนาก็เสื่อมแน่ และในที่สุดก็อันตรธานแน่นอน แต่ก็ใช่ว่าเราจะต้องช่วยกันเร่งให้อันตรธานวันนี้พรุ่งนี้มิใช่หรือ?
เวลาเราศึกษาอดีต เห็นปฏิปทาของบรรพบุรุษในอดีต-ตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพานเรื่อยมา เราจะระลึกถึงด้วยความเลื่อมใสศรัทธาชื่นชมในความมุ่งมั่นที่จะรักษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเข้มแข็ง
เวลาคนในอนาคตศึกษาอดีต-คือปัจจุบันวันนี้ของพวกเรา เราจะให้เขาเห็นปฏิปทาแบบไหน? และเราจะหวังให้เขาเลื่อมใสศรัทธาชื่นชมปฏิปทาของพวกเราได้มากน้อยแค่ไหน?
อย่าลืมถามตัวเองไว้เรื่อยๆ และฝากให้ช่วยกันถาม-จากรุ่นสู่รุ่น จนกว่าพระศาสนาจะครบห้าพันปี
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย , ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ , ๑๖:๑๑
พระศาสนาห้าพันปี (๑) , พระศาสนาห้าพันปี (๒)
0 comments: