วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา

กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๕ (ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย) มีพระสูตรหนึ่งที่นิยมเรียกกันว่า “กาลามสูตร”  ในกาลามาสูตรมีข้อความประโยคหนึ่งเป็นภาษาบาลีว่า “มา  ปิฏกสมฺปทาเนน” (มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ)  แปลเป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา”  และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by the authority of texts.  คนที่ฟังไม่ได้ศัพท์มักเอากาลามสูตรข้อนี้ไปพูดว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา”

กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา แต่สอนว่า-อย่าเชื่อโดยการอ้างตำรา หรือโดยการมอบความไว้วางใจให้แก่ตำรา 

“เชื่อตำรา” กับ “เชื่อโดยการอ้างตำรา” มีความหมายต่างกัน 

“เชื่อตำรา” ก็อย่างเช่น-เชื่อว่าตำราของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เชื่อถือได้ (ถ้าเป็นตำราของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นอาจเชื่อถือไม่ได้) ตำราของอาจารย์คนนี้เชื่อถือได้ (ถ้าเป็นตำราของอาจารย์คนอื่นอาจเชื่อถือไม่ได้) - นี่คือ “เชื่อตำรา” 

หรือ - ถ้าเป็นพระบาลีพระไตรปิฎกละก็เชื่อได้ แต่ถ้าเป็นอรรถกถาเชื่อไม่ได้ แบบนี้ก็ “เชื่อตำรา” อีกแบบหนึ่ง

ส่วน “เชื่อโดยการอ้างตำรา” หมายถึง ถ้าเรื่องนั้นๆ เป็นแต่เพียงมีคนพูดให้ฟังหรือบอกกันต่อๆ มา หรือแค่หนังสือพิมพ์ลงข่าวหรือวิทยุออกข่าว ก็จะไม่เชื่อหรอก แต่นี่มีเขียนไว้ในตำรา (จะเป็นตำราของสำนักไหนหรือใครเขียนก็ช่างเถิด) จึงต้องเชื่อ - นี่คือ “เชื่อโดยการอ้างตำรา” คือเชื่อโดยการมอบความไว้วางใจให้แก่ตำรา หรือเชื่อ “เพราะมันมีเขียนไว้ในตำรา”

กาลามาสูตรสอนไม่ให้เชื่อโดยการอ้างตำราแบบนี้ ทั้งนี้เพราะเรื่องที่เขียนไว้เป็นตำราไม่อาจรับประกันได้เสมอไปว่าถูกต้อง ตำราที่เขียนไว้ผิดๆ ก็มี 

อนึ่ง พึงสังเกตว่า กาลามสูตรข้อนี้ท่านใช้คำว่า “ปิฎก” ซึ่งหมายถึงตำราหรือคัมภีร์ทั่วไป ไม่ใช่ “ไตรปิฎก” เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเอาไปพูดเจาะจงว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก” 

การพูดเช่นนี้ผิดพลาดถึง ๒ ชั้น 

(๑) “สอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก” ก็ผิดแล้ว 

ท่านว่า “ปิฎก”  เอาไปพูดเป็น “ไตรปิฎก” 

(๒) ท่านว่า “สอนไม่ให้เชื่อโดยอ้างปิฎก” 

เอาไปพูดเป็น “สอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก”  ผิดความหมายและผิดความมุ่งหมาย กลายเป็นคนละเรื่องไป

ถ้าพูดว่า “สอนไม่ให้เชื่อโดยอ้างพระไตรปิฎก” ย่อมฟังได้ เพราะพระไตรปิฎกอยู่ในฐานะเป็น “ตำรา” ชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน หมายความว่า อย่าอ้างว่า “เพราะเรื่องนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก จึงต้องเชื่อ” 

ถ้าจะเชื่อ ต้องเชื่อเพราะได้พิจารณาด้วยสติปัญญาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง 

ไม่ใช่เชื่อด้วยเหตุผลข้อเดียวเท่านั้น คือเชื่อเพราะเป็นเรื่องที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก 

ถ้าเป็นเรื่องที่ได้พิจารณาด้วยสติปัญญาแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้ไม่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ก็เชื่อได้  และโดยหลักการเดียวกัน ถ้าเป็นเรื่องที่ได้พิจารณาด้วยสติปัญญาแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ก็ไม่ต้องเชื่อ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

๑๖:๓๓

วิเคราะห์กาลามสูตร - Kalama sutta Analysis





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: