ขอขมากรรม
คำว่า “ขอขมากรรม” เป็นคำที่คนสมัยนี้นิยมพูดกันมาก หมายความว่า ขอให้กรรมยกโทษให้ คือตั้งความรู้สึกเสมือนว่า “กรรม” คือความดีความชั่วที่ตนทำลงไปแล้วนั้นเป็น “บุคคล” มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก และพูดคุยกันรู้เรื่อง
ใครที่เชื่อหรือรู้สึกว่าตนได้ทำกรรมไม่ดีไว้ และไม่ปรารถนาจะให้ผลของกรรมไม่ดีนั้นเกิดขึ้นแก่ตน ก็ตั้งความรู้สึกว่ากรรมนั้นมีชีวิตและสามารถขอร้องให้ยกโทษได้
กับอีกนัยหนึ่ง เข้าใจไปว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์คอยควบคุมดูแลให้กรรมที่บุคคลทำลงไปแล้วคอยส่งผลให้แก่ผู้ทำ ผู้ทำกรรมจึงขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้นขอให้ช่วยดูแลบังคับควบคุมอย่าให้ผลกรรมที่ไม่ดีนั้นเกิดขึ้นแก่ตน หรือหากจะเกิดก็ขอให้เกิดแต่น้อยๆ พอทนได้ อย่าให้รุนแรงนัก
เมื่อเชื่ออย่างนี้ ก็พากันทำพิธีตามที่เจ้าพิธีกำหนดขึ้น แล้วเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า “ขอขมากรรม”
ถ้าศึกษาเรื่อง “กรรม” ตามแนวคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็จะรู้หลักความจริงว่า กรรมไม่ใช่ “บุคคล” และไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาคอยควบคุมการให้ผลของกรรม แต่ผลของกรรมย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวกรรมนั้นเอง
ในบรรดากรรมที่ท่านสอนไว้ มีกรรมอย่างหนึ่งเรียกว่า “อโหสิกรรม” หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก (lapsed or defunct kamma)
บางทีการขอขมากรรมอาจจะเกิดจากการเข้าใจผิด (หรือมีผู้ชักชวนให้เข้าใจผิด) ไปว่า กรรมที่ทำลงไปนั้นผู้ทำสามารถจัดการให้กลายเป็น “อโหสิกรรม” ได้
พึงศึกษาให้เข้าใจชัดว่า การที่กรรมจะกลายเป็น “อโหสิกรรม” คือเลิกให้ผลนั้นก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง
และในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อไหนที่บอกว่า ถ้าทำพิธี “ขอขมากรรม” กรรมนั้นก็จะเป็นอโหสิกรรม คือเลิกให้ผลตามที่ผู้ทำพิธีต้องการได้
พึงแก้ไขความเชื่อของตนให้ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่แก้ไขความจริงให้ตรงกับความเชื่อ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย , ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔, ๑๕:๕๔
0 comments: