วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

อุ อา กะ สะ - หัวใจเศรษฐี

อุ  อา  กะ  สะ  -  หัวใจเศรษฐี

อ่านตรงตัวตามที่เขียน คือ  อุ  อา  กะ  สะ

“อุ  อา  กะ  สะ” เป็นลักษณะของคำที่เรียกกันว่า “หัวใจ” คือคำที่ย่อหรือตัดมาจากคำเต็ม

“อุ  อา  กะ  สะ”  เป็นคำย่อ 4 คำ ย่อมาจากคำเต็มดังนี้ -

“อุ”  ย่อมาจากคำว่า “อุฏฺฐานสมฺปทา”  (อุฏฐานะสัมปะทา) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อมด้วยการลุกขึ้น” หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “ขยันหา”

“อา”  ย่อมาจากคำว่า “อารกฺขสมฺปทา”  (อารักขะสัมปะทา) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อมด้วยการอารักขา” หมายถึง รู้จักระวังรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “รักษาดี”

“กะ”  ย่อมาจากคำว่า “กลฺยาณมิตฺตตา”  (กัล๎ยาณะมิตตะตา) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้มีคนดีเป็นเพื่อน” หมายถึง คบหากับคนดี ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “มีกัลยาณมิตร”

“สะ”  ย่อมาจากคำว่า “สมชีวิตา”  (สะมะชีวิตา) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม” หมายถึง ความรู้จักจับจ่ายใช้สอยอย่างพอเหมาะพอควร ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “เลี้ยงชีวิตเหมาะสม”

“อุ” = ขยันหา

“อา” = รักษาดี

“กะ” = มีกัลยาณมิตร

“สะ” = เลี้ยงชีวิตเหมาะสม 

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [144] แสดงหลักธรรมชุดนี้ไว้ดังนี้ -

ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น — Diṭṭhadhammikattha-saṁvattanika-dhamma: virtues conducive to benefits in the present; virtues leading to temporal welfare)

1. อุฏฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี — Uṭṭhānasampadā: to be endowed with energy and industry; achievement of diligence)

2. อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย — Ārakkhasampadā: to be endowed with watchfulness; achievement of protection)

3. กัลยาณมิตตตา (คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนา สำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา — Kalyāṇamittatā: good company; association with good people)

4. สมชีวิตา (มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ — Samajīvitā: balanced livelihood; living economically)

ธรรมหมวดนี้เรียกกันสั้นๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ จึงมีประโยชน์ซ้ำซ้อนกันสองคำ)

คนเก่าท่านตัดเฉพาะคำแรกของชื่อหัวข้อธรรมทั้ง 4 มาพูดรวมกันว่า “อุ อา กะ สะ” ทั้งนี้เพื่อจำง่าย และเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” มีคำแนะนำกำกับไว้ด้วยว่า ตื่นเช้าเสกน้ำล้างหน้าว่า “อุ อา กะ สะ” ก่อนออกจากบ้านไปทำงานให้ภาวนาว่า “อุ อา กะ สะ” จะทำมาค้าขึ้นถึงขั้นเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี

แถม :

“สะ”  ตัวสุดท้าย พึงสำเหนียกให้แม่น คำเต็มคือ “สมชีวิตา” ระวังอย่าจำสับสนกับ “สมานตฺตตา” (สะมานัตตะตา) ที่แปลว่า “การวางตนเหมาะสม” ซึ่งอยู่ในหมวดธรรมอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า “สังคหวัตถุ” ประกอบด้วย ทาน, ปิยวาจา, อัตถจริยา และ สมานัตตตา ผู้สนใจพึงศึกษาความหมายของหลักธรรมชุดนี้ต่อไปเทอญ

ดูก่อนภราดา!

ถ้าอยากรวยชาติเดียวได้เป็นนายทุน:

จงใช้บุญเป็นอุบายแสวงทรัพย์

ถ้าอยากรวยตลอดแสนกัป:

จงใช้ทรัพย์เป็นเครื่องมือแสวงบุญ

บาลีวันละคำ (3,450)

ทองย้อย แสงสินชัย





Previous Post
Next Post

0 comments: