วันลอยกระทง - เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างไร - และความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทง
วันลอยกระทง เป็นเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์ไทตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคาซึ่งเป็นเทวดาในคติฮินดู แต่เทศกาลนี้มีร่องรอยหลักฐานย้อนไปถึงจีนและอินเดียโบราณ ในประเทศพม่า ใช้ชื่อว่า "เทศกาลตาซองได" (Tazaungdaing) ในประเทศจีน ใช้ว่า "เทศกาลโคมลอย" (Lantern festival, 猜灯谜)
ประวัติ
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา (แม่น้ำนัมมทา เป็นแม่น้ำที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดียแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้)
ตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้ กล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวยจึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : วิกิพีเดีย
เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างไร
ประเพณีลอยกระทง ในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมับสุโขทัย ซึ่งทำเพื่อขอขมาพระแม่คงคา ที่ใช้น้ำในกิจการงานต่างๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เพื่อให้ลอยบาป ละอกุศล ละกิเลสด้วยปัญญา ด้วยการฟังศึกษาพระธรรม ไม่ได้มีประเพณีขอขมา ตามที่กล่าวมา ประเพณีที่พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและกำลังขาดหายไป คือ ประเพณีการฟังธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่สมมติว่าเป็นวันลอยกระทง เป็นวันคล้ายวันที่พระสารีบุตรปรินิพพาน จึงควรระลึกถึงพระคุณของท่านและ พระคุณของพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริง และ น้อมประพฤติปฏิบัติตามและประพฤติประเพณีอันดีงามเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งในปัจจับันและโลกหน้า อันเป็นการสะสมที่ประเสริฐ คือ ปัญญาและกุศลธรรม คือ ประเพณีการฟังธรรม
วันลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ซึ่งในวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญในอดีตที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาดังนี้
พระสารีบุตรปรินิพพาน
พระสารีบุตร พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญท่านไว้เป็นอันมาก ดังเช่นที่พระองค์ตรัสไว้ว่า สารีบุตรอยู่ที่ทิศหรือสถานที่ใด ทิศหรือสถานที่นั้นก็เหมือนมีพระพุทธเจ้า เพราะพระสารีบุตรมีปัญญามาก และพระสารีบุตรยังมีพระคุณที่ทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย ในพระธรรมที่มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นคำที่พระสารีบุตรกล่าวไว้
พระอานนท์กล่าวไว้ว่า :-
ธรรมเหล่าใด ที่ขึ้นปากขึ้นใจข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเรียนธรรมเหล่านั้นจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียนจากภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านพระสารีบุตรพิจารณาคุณธรรมและปัญญาของท่านเอง ก็หาที่สิ้นสุดไม่ได้ เม็ดทรายในแม่น้ำคงคายังนับได้แต่ปัญญาของพระสารีบุตรนั้นนับไม่ได้ วันเพ็ญเดือน ๑๒ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) เป็นวันปรินิพพานของพระสารีบุตรเถระพระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา พระอัครสาวกทั้งสอง (ท่านพระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะ) ย่อมปรินิพพานก่อนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ต่อจากนั้นอีก ๖ เดือนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน (และ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะ ๑๕ วัน) ดังนั้น เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ แทนที่จะนึกถึง คิดถึงอย่างอื่น ก็ควรที่จะได้น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย พร้อมทั้งน้อมระลึกถึงพระคุณของท่านพระสารีบุตร ที่ท่านได้กระทำไว้ต่อพุทธบริษัท
ที่มา : https://www.dhammahome.com/webboard/topic/10352
ความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทง
🌹 เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ
🌻 การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์
🌼 เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย
🌸 เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ
🌺 ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพญามารได้
🌷 การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
🌾 การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
🌱 การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
🍑 การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุดตเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
ที่มา : https://archive.clib.psu.ac.th/online-exhibition/loykrathong%202/page2.html
0 comments: