จิตว่างจากตัวกูและของกู ทำให้พ้นได้ทั้งสุขและทุกข์
จิตที่ว่างจากของหนัก ก็คือไม่แบกไว้ทั้งสุขและทุกข์ คือจิตที่ว่างเสียจากตัวกูและของกูโดยแท้จริง จิตไม่มีความรู้สึกยึดมั่นหมายมั่นว่าตัวกู หรือว่าของกู เป็นจิตที่รู้แจ้ง เป็นจิตที่ฉลาด จนสลัดออกไปเสียทั้งสองอย่าง มันก็เป็นจิตที่ว่าง จิตว่างนี้ไม่ได้แบกไว้ทั้งสุขและทั้งทุกข์ มันจึงเป็นจิตที่ปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง
ทีนี้ ก็มาดูกันต่อไปว่า ทำอย่างไรถึงจะเป็นเช่นนั้นได้ ? จะทำกันอย่างไร ? หรือจะอยู่กันอย่างไร ในการที่จะพ้นเสียได้ทั้งจากทุกข์และจากสุข ?
คำตอบ : มีจิตที่มิได้หมายมั่นอะไรว่าเป็นตัวกู-ของกู พูดแล้วมันก็ฟังดูซ้ำๆ ซากๆ จิตที่ไม่ได้ยึดมั่นหมายมั่นอะไร ว่าเป็นตัวกู-ของกู เรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า มันเป็นจิตล้วนๆ จิตล้วนๆ จิตไม่มีอุปาทาน จิตก่อนแต่จะเกิดกิเลส จิตก่อนแต่ที่จะเกิดอุปาทาน นี่เป็นจิตล้วนๆ ปราศจากความหมายแห่งตัวกู-ของกู นี่แหละจะเป็นจิตที่จะอยู่ได้ โดยพ้นเสียทั้งทุกข์และสุข จิตล้วนๆ มิได้หมายมั่นอะไรว่าเป็นตัวกู - ของกู นี้คือจิตที่ว่างจากความหมายมั่น และว่างจากความทุกข์
จิตว่างเป็นคำที่ฟังยาก คนที่ฟังไม่เข้าใจ ก็เอาความโง่ของตัวเองมาตีความหมาย ก็เอาคำว่าจิตว่างนี้ไปล้อเลียนอยู่ ที่จริงจิตว่างนั้น คือจิตที่มันว่างจากปัญหาทุกๆ อย่าง ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ โดยโวหารธรรมดาก็ว่า มันว่างจากความมีตัวกู ว่างจากความมีของกู จิตชนิดนี้แหละมีเถิด มันจะไม่เป็นทุกข์เพราะแสวงหาความสุข มันจะไม่เป็นทุกข์เพราะหลงใหลในความสุขที่ได้มา ให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนๆ อยู่ด้วยจิตชนิดนี้ และทำอย่างสนุก มันไม่เป็นทุกข์มันก็ต้องสนุกหรือมันควรจะสนุก
เทคนิคของการมีธรรมะ เล่ม ๒ , ปรมัตถธรรมกลับมา (น.๔๗๓), ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ
Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space
0 comments: