วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว

ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว

[ณ ป่าสาลวัน ใกล้กรุงกุสินารา หลังคำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ 

เข้าปฐมฌาน* (ฌานที่ 1 หูได้ยินเสียงทุกอย่างแต่ไม่รำคาญ รู้ชัดถึงลมหายใจ มีองค์ 5 คือ 1.วิตกคือยกเอาจิตมารู้(เช่น)ลมหายใจเข้าออกเพื่อให้เกิดสมาธิ 2.วิจาร คือประคองจิตให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก 3.ปีติ คือ เกิดความอิ่มใจ 4.สุข คือ เกิดความสบายกายสบายใจ และ 5.เอกัคคตา คือ จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ไม่มีความคิดใดๆมารบกวน) ออกจากปฐมฌานแล้ว

เข้าทุติยฌาน (ฌานที่ 2 ลมหายใจเบาลง มีองค์ 3 คือ ละวิตกและวิจาร เหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตา) ออกจากทุติยฌานแล้ว

เข้าตติยฌาน (ฌานที่ 3 ลมหายใจเบามาก เสียงดังจะได้ยินแค่เบาๆ มีองค์ 2 คือ ละวิตก วิจาร และปีติ เหลือแต่สุขและเอกัคคตา) ออกจากตติยฌานแล้ว

เข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ 4 ลมหายใจละเอียดจนไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ไม่รู้การสัมผัสจากภายนอก ไม่ได้ยินเสียงใด มีจิตนิ่งเฉยๆ มีองค์ 2 คือ ละวิตก วิจาร ปีติ และสุข เหลือแต่อุเบกขาและเอกัคคตา) ออกจากจตุตถฌานแล้ว

เข้าอากาสานัญจายตนะ (กำหนดอากาศที่ว่างอันหาที่สุดไม่ได้มาเป็นอารมณ์) ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว

เข้าวิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณตัวรู้อันหาที่สุดไม่ได้มาเป็นอารมณ์) ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว

เข้าอากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรเลยมาเป็นอารมณ์) ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว

เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ (กำหนดภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่มาเป็นอารมณ์ คือ จะว่ารู้ก็ไม่เชิง จะว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่ นิ่งจนจิตเกือบจะดับหมด แต่ยังเหลือสัญญาละเอียดอยู่) ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว

เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (การดับการจำได้หมายรู้และความรู้สึกไม่มีเหลือ คือ ไม่รู้สึกทั้งกายและใจ ร่างกายหยุดหายใจ)]

[ขณะนั้น พระอานนท์ได้ถามพระอนุรุทธะว่า]

อา:  ท่านอนุรุทธะ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วหรือ?

อนุ:  ท่านอานนท์ พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน ขณะนี้กำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่

[ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าได้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ แล้วเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ แล้วเข้าอากิญจัญญายตนะ

ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ แล้วเข้าวิญญาณัญจายตนะ

ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติ แล้วเข้าอากาสานัญจายตนะ

ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติ แล้วเข้าจตุตถฌาน

ออกจากจตุตถฌาน แล้วเข้าตติยฌาน

ออกจากตติยฌาน แล้วเข้าทุติยฌาน

ออกจากทุติยฌาน แล้วเข้าปฐมฌาน

ออกจากปฐมฌาน แล้วเข้าทุติยฌาน

ออกจากทุติยฌาน แล้วเข้าตติยฌาน

ออกจากตติยฌาน แล้วเข้าจตุตถฌาน

ออกจากจตุตถฌาน แล้วก็ปรินิพพาน

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ พร้อมกลองทิพย์ที่บันลือขึ้น]

[หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า]

...สัตว์ทั้งปวงจะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก ขนาดพระตถาคตผู้เป็นศาสดา เป็นพระพุทธเจ้า มีกำลังมาก หาใครเปรียบไม่ได้ในโลก ยังต้องปรินิพพาน

[ท้าวสักกจอมเทพกล่าวว่า]

...สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีเกิดย่อมมีดับเป็นธรรมดา ความสงบในสังขารนั้นเป็นความสุขแท้

[พระอนุรุทธะกล่าวว่า]

...ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว

พระผู้รู้อันประเสริฐ ผู้ไม่หวั่นไหวสะทกสะท้าน ผู้สงบสันติ ปรินิพพานแล้ว

พระผู้มีใจเบิกบาน อดกลั้นความรู้สึกได้ มีใจหลุดพ้นแล้ว เหมือนดวงประทีปชัชวาลที่ดับไป

[พระอานนท์กล่าวว่า]

...เกิดความรู้สึกกลัวจนตัวแข็งชะงักงัน ขนลุกขนพอง พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปแล้ว

[เหล่าภิกษุที่ยังมีราคะกิเลสอยู่ ต่างพากันยกแขนทั้งสองคร่ำครวญ ล้มลงนอนรำพันว่า]

...พระพุทธเจ้าปรินิพพานเร็วนัก

[เหล่าภิกษุที่ปราศจากราคะกิเลส มีสติสัมปชัญญะอดกลั้นได้ กล่าวว่า]

...สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงในสังขารได้ที่ไหนเล่า

[พระอนุรุทธะเตือนภิกษุทั้งหลายว่า]

...พวกท่านอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย พระพุทธเจ้าได้บอกกับพวกท่านไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า จะต้องมีการพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก จะเป็นไปได้อย่างไรที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดมาและก่อร่างขึ้นแล้ว จะไม่แตกดับไป เพราะนั่นเป็นเรื่องธรรมดา ความปรารถนาที่จะขอให้สิ่งนั้นไม่แตกดับไป เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

[พระอานนท์ถามพระอนุรุทธะว่าพวกเทวดาเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ พระอนุรุทธะตอบว่า]

...เทวดาบางพวกสยายผมยกแขนทั้งสองคร่ำครวญ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาเหมือนเท้าขาด รำพันว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเร็วนัก

แต่เทวดาที่ไม่มีราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็อดกลั้นได้ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงในสังขารได้ที่ไหนเล่า

[พระอนุรุทธะกล่าวกับพระอานนท์ว่า]

...ท่านจงเข้าไปกรุงกุสินาราเพื่อแจ้งเหล่ามัลลกษัตริย์ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ขอให้ดำเนินการตามที่เห็นควรเถิด

_____

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 13 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ภาค 2 เล่ม 1 มหาปรินิพพานสูตรที่ 3 ปรินิพพาน-พรหมกล่าวถึงสังเวคธรรม), 2559, น.315-318

แผ่เมตตาแก่ช้างนาฬาคิรี , ให้มีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ตัวอยู่ทุกขณะ , จงมีธรรมและตนเองเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย , พระพุทธเจ้าปลงสังขาร ,  ปัจฉิมโอวาท  ธรรมที่พระพุทธเจ้าย้ำก่อนปรินิพพาน , เมื่อได้ยินอะไรมาให้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระสูตรและพระวินัย , อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า,  คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้ , ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ , ธรรมสังเวช , คำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า






Previous Post
Next Post

0 comments: