ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
หมายถึง การเจริญสติ ที่ต้องให้ระลึกได้ สำนึกตัวพร้อมอยู่ทุกเมื่อ และจะระลึกได้ต้องอาศัยทั้งความสงัดและความสงบ คือ
๑. ความสงัดกาย ได้แก่การอยู่ในที่อันเงียบสงัดก็ดี ดำรงอิริยาบถและเที่ยวไปผู้เดียวก็ดี
๒. ความสงัดใจ ได้แก่การทำจิตให้สงบผ่องใส สงัดจากนิวรณ์ หมายเอาจิตแห่งผู้มีสมาธิและสติ
๓. ความสงบ ได้แก่ความสงบจากกิเลสอันเป็นเหตุสร้างกรรม คืออุปธิกิเลสอย่างหยาบที่ทำให้สร้างกรรมทางกายและทางวาจาทั้งปวง (หมายเอาผู้ฝึกฝนทางปัญญา จนเอาชนะกิเลส อนุสัย และสังโยชน์อันเป็นเหตุสร้างกรรมชั่วทางกายและวาจา)
เพราะว่า เมื่อว่าโดยกิจหรือหน้าที่ ผู้จะเจริญสติสัมโพชฌงค์ต้องอาศัยความสงัดและความสงบ จึงดับกิเลสได้ ด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือด้วยธรรมที่ตรงข้าม เช่นดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกรูปนามออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ เป็นต้น
อนึ่ง เมื่อว่าโดยอารมณ์ ผู้เจริญสติสัมโพชฌงค์ต้องอาศัยการสลัดออก คือดับกิเลสด้วยสลัดออกได้หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป เมื่อดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้วก็ดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น อย่างยั่งยืนตลอดไป สภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน
เพราะฉะนั้น เจริญสติ คือใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง (อารมณ์)
สาระธรรมจากอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต อธิกรณวรรคที่ ๒
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
19/11/64
0 comments: