มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม
"กาเฬ วา ยทิ วา ชุณฺเห, ยทา วายติ มาลุโต;
วาตชานิ หิ สีตานิ, อุโภตฺถมปราชิตาติ ฯ
ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความหนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ ท่านทั้งสองชื่อว่าไม่แพ้กัน".
มาลุตชาดกอรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวันทรงปรารภบรรพชิตผู้บวช เมื่อแก่ ๒ รูป จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กาเฬ วายทิ วา ชุณฺเห ดังนี้.
ได้ยินว่า บรรพชิตทั้งสองรูปนั้น อยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบทรูปหนึ่งชื่อ กาฬเถระ รูปหนึ่งชื่อ ชุณหเถระ.
อยู่มาวันหนึ่ง พระชุณหะถามพระกาฬะว่า „ท่านกาฬะผู้เจริญ ธรรมดาว่า ความหนาวมีในเวลาไร ?“ พระกาฬะนั้นกล่าวว่า „ความหนาวมีในเวลาข้างแรม".
อยู่มาวันหนึ่ง พระกาฬะถามพระชุณหะว่า „ท่านชุณหะผู้เจริญ ธรรมดาว่า ความหนาวย่อมมีในเวลาไร ?“. พระชุณหะนั้นกล่าวว่า „มีในเวลาข้างขึ้น“.
พระแม้ทั้งสองรูปนั้นเมื่อไม่อาจตัดความสงสัยของตนได้ จึงพากันไปยังสำนักของพระบรมศาสดาถวายบังคมแล้วทูลถามว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมดาว่า ความหนาวย่อมมีในกาลไร พระเจ้าข้า ?“.
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งสองนั้นแล้วตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ตอบปัญหานี้แก่เธอทั้งสองแล้ว แต่เธอทั้งหลายกำหนดไม่ได้ เพราะอยู่ในสังเขปแห่งภพ“, แล้วทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ณ เชิงเขาแห่งหนึ่ง มีสัตว์ผู้เป็นสหายกันสองตัว คือราชสีห์ตัวหนึ่ง เสือโคร่งตัวหนึ่ง อยู่ในถ้าเดียวกันนั่นเอง.
ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็บวชเป็นฤๅษี อยู่ที่เชิงเขานั้นเหมือนกัน ภายหลังวันหนึ่ง ความวิวาทเกิดขึ้นแก่สหายเหล่านั้นเพราะอาศัยความหนาว เสือโคร่งกล่าวว่า „ความหนาวย่อมมีเฉพาะในเวลาข้างแรม“. ราชสีห์กล่าวว่า" มีเฉพาะในเวลาข้างขึ้น“.
สหายแม้ทั้งสองนั้น เมื่อไม่อาจัดความสงสัยของตน จึงถามพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
„ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความหนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ ลม ในปัญหาข้อนี้ท่านทั้งสองชื่อว่าไม่แพ้กัน“.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเฬ วา ยทิ วา ชุณฺเห ได้แก่ ในปักษ์ข้างแรม หรือในปักษ์ข้างขึ้น. บทว่า ยทา วายติ มาลุโต ความว่า สมัยใด ลมอันต่างด้วยลมทิศตะวันออกเป็นต้น ย่อมพัดมา สมัยนั้นความหนาวย่อมมี. เพราะเหตุไร ? เพราะความหนาวเกิดแต่ลม อธิบายว่า เพราะเหตุที่ เมื่อลมมีอยู่นั่นแหละ ความหนาวจึงมี, ในข้อนี้ปักษ์ข้างแรมหรือปักษ์ข้างขึ้น ไม่เป็นประมาณ. บทว่า อุโภตฺถมปราชิตา ความว่า ท่านแม้ทั้งสองไม่แพ้กันในปัญหาข้อนี้.
พระโพธิสัตว์ให้สหายเหล่านั้นยินยอมกันด้วยประการอย่างนี้.
ฝ่ายพระศาสดาจึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ตอบปัญหานี้แก่เธอทั้งหลายแล้ว“
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะพระเถระแม้ทั้งสองเหล่านั้นก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล.
แม้พระศาสดา ก็ทรงสืบอนุสนธิแล้วประชุมชาดกว่า เสือโคร่งในครั้งนั้นได้เป็นพระกาฬะ ราชสีห์ในครั้งนั้นได้เป็นพระชุณหะ ส่วนดาบสผู้แก้ปัญหาในครั้งนั้นได้เป็นเราแล.
Credit: Palipage : Guide to Language - Pali
22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21. กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20. นฬปานชาตกํ - เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด , 19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18. มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14. วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11. ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ , 06. เทวธมฺมชาตกํ - ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร, 04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
0 comments: