วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์

มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์

"เอวํ  เจ  สตฺตา  ชาเนยฺยุํ,     ทุกฺขายํ  ชาติสมฺภโว;
น  ปาโณ  ปาณินํ  หญฺเญ,    ปาณฆาตี  หิ  โสจตีติ ฯ

ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์, สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก"

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวันทรงปรารภมตกภัตจึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า   เอวญฺเจ  สตฺตา  ชาเนยฺยุํ  ดังนี้.

ความพิสดารว่า ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลาย ฆ่าแพะเเป็นต้น เป็นอันมาก ให้มตกภัตอุทิศญาติทั่งหลายที่ตายไปแล้ว. 

ภิกษุทั้งหลายเห็นมนุษย์เหล่านั้นการทำอย่างนั้น จึงทูลถามพระศาสดาว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้มนุษย์ทั้งหลายทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมากให้ถึงความสิ้นชีวิตแล้วให้ชื่อว่ามตกภัต ความเจริญในการให้มตกภัตนี้มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า ?“. 

พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายชื่อว่าความเจริญอะไร ๆในปาณาติบาต แม้ที่เขากระทำด้วยคิดว่า พวกเราจักให้มตกภัต ดังนี้ ย่อมไม่มีแม้ในกาลก่อน, บัณฑิตทั้งหลายนั่งในอากาศแสดงธรรมกล่าวโทษในการทำปาณาติบาตนี้ ให้ชนชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นละกรรมนั่น, แต่บัดนี้ กรรมนั่นกลับปรากฏขึ้นอีก เพราะสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้อยู่ในสังเขปแห่งภพ“, แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี, มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ผู้สำเร็จไตรเพทคนหนึ่ง คิดว่า „จักให้มตกภัต“ จึงให้จับแพะมาตัวหนึ่ง กล่าวกะอันเตวาสิกทั้งหลายว่า „พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงนำแพะตัวนี้ไปยังแม่น้ำ เอาระเบียบดอกไม้สวมคอ เจิมประดับประดาแล้วนำมา“, 

อันเตวาสิกทั้งหลายรับคำแล้ว พาแพะนั้นไปยังแม่น้ำ ให้อาบน้ำ ประดับแล้วพักไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ. 

แพะนั้นเห็นกรรมเก่าของตนเกิดความโสมนัสว่า „เราจักพ้นจากทุกข์ชื่อเห็นปานนี้ในวันนี้" จึงหัวเราะลั่น ประดุจต่อยหม้อดิน, กลับคิดว่า พราหมณ์นี้ฆ่าเราแล้วจักได้ความทุกข์ที่เราได้แล้ว เกิดความกรุณาพราหมณ์ จึงร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง. 

ลำดับนั้น มาณพเหล่านั้นจึงถามแพะนั้นว่า „ดูก่อนแพะผู้สหายท่านหัวเราะและร้องไห้เสียงดังลั่น เพราะเหตุไรหนอท่านจึงหัวเราะและเพราะเหตุไรท่านจึงร้องไห้ ?"   แพะกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายพึงถามเหตุนี้กะเรา ในสำนักแห่งอาจารย์ของท่าน“. 

มาณพเหล่านั้นจึงพาแพะนั้นไปแล้วบอกเหตุนี้แก่อาจารย์, อาจารย์ได้ฟังคำของมาณพเหล่านั้นแล้วถามแพะว่า „ดูก่อนแพะ เพราะเหตุไร ทานจึงหัวเราะ เพราะเหตุไรท่านจึงร้องไห้ ?“ 

แพะหวนระลึกถึงกรรมที่ตนกระทำด้วยญาณเครื่องระลึกชาติได้กล่าวแก่พราหมณ์ว่า „ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อก่อน เราเป็นพราหมณ์ผู้สาธยายมนต์เช่นท่านนั่นแหละ, คิดว่า จักให้มตกภัต จึงได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งแล้วให้มตกภัต, เพราะเราฆ่าแพะตัวหนึ่ง เรานั้นจึงถึงการถูกตัดศีรษะใน ๔๙๙ อัตภาพนี้เป็นอัตภาพที่ ๕๐๐ ของเราซึ่งตั้งอยู่ในที่สุด, เรานั้นเกิดความโสมนัสว่า "วันนี้ เราจักพ้นจากทุกข์เห็นปานนี้ ด้วยเห็นจึงหัวเราะ, แต่เราเมื่อร้องไห้ได้ร้องไห้เพราะความกรุณาท่านด้วยคิดว่า เบื้องต้น เราฆ่าแพะตัวหนึ่ง ถึงความทุกข์คือการถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติ จักพ้นจากทุกข์นั้น ในวันนี้, ส่วนพราหมณ์ฆ่าเราแล้วจักได้ทุกข์คือการถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติ เหมือนเรา“. 

พราหมณ์กล่าวว่า „ดูก่อนแพะท่านอย่ากลัวเลย เราจักไม่ฆ่าท่าน“. 

แพะกล่าวว่า „พราหมณ์ท่านพูดอะไรเมื่อท่านจะฆ่าก็ดี ไม่ฆ่าก็ดี วันนี้เราไม่อาจพ้นจากความตายไปได้“. 

พราหมณ์กล่าวว่า „ดูก่อนแพะท่านอย่ากลัว เราจักถือการอารักขาท่านเที่ยวไปกับท่านเท่านั้น“. 

แพะกล่าวว่า „พราหมณ์ อารักขาของท่านมีประมาณน้อย ส่วนบาปที่เรากระทำมีกำลังมาก“. 

พราหมณ์ให้ปล่อยแพะแล้วกล่าวว่า „เราจักไม่ให้แม้ใครๆ ฆ่าแพะตัวนี้“ จึงพาพวกอันเตวาสิกเที่ยวไปกับแพะนั่นแหละ แพะพอเขาปล่อยเท่านั้น ก็ชะเง้อคอเริ่มจะกินใบไม้ ซึ่งอาศัยหลังแผ่นหินแห่งหนึ่งที่เกิดอยู่. 

ทันใดนั้นเอง ฟ้าก็ผ่าลงที่หลังแผ่นหินนั้น สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งแตกตก ลงที่คอแพะซึ่งชะเง้ออยู่ ตัดศีรษะขาดไป มหาชนประชุมกัน  ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในที่นั้น พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อมหาชนเห็นอยู่นั่นแล นั่งขัดสมาธิในอากาศด้วยเทวานุภาพกล่าวว่า „สัตว์เหล่านั้นรู้ผลของบาปอยู่อย่างนี้ชื่อแม้ไฉนไม่ควรกระทำปาณาติบาต“, เมื่อจะแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า :- 

„ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่า ผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  เอวญฺเจ  สตฺตา  ขาเนยฺยํ  ความว่า สัตว์เหล่านี้พึงรู้อย่างนี้. พึงรู้อย่างไร ? พึงรู้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์อธิบายว่า ถ้าว่า พึงรู้ว่า ความเกิดในภพนั้น ๆและความสมภพกล่าวคือความเจริญของผู้ที่เกิดโดยลำดับนี้ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งหลายมีชรา พยาธิ มรณะ ความประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักและการถูกตัดมือตัดเท้าเป็นต้น. 

บทว่า  น  ปาโณ  ปาณินํ  หญฺเญ  ความว่า สัตว์ไร ๆรู้อยู่ว่า ชาติสมภพชื่อว่าเป็นทุกข์เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ว่า ผู้ทำสัตว์อื่นให้เจริญ ย่อมได้ความเจริญในชาติสมภพเมื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น ย่อมได้รับการเบียดเบียนดังนี้ จึงไม่ควรฆ่าสัตว์อื่น 

อธิบายว่า สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์เพราะเหตุไร ? เพราะผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก อธิบายว่า เพราะบุคคลผู้มีปกติฆ่าสัตว์ด้วยการเข้าไปตัดชีวิตินทรีย์ของสัตว์อื่น ด้วยประโยคอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาประโยคทั้ง ๖ มีสาหัตถิกประโยคเป็นต้น เสวยมหันตทุกข์อยู่ในอบายทั้ง ๔ นี้ คือในมหานรก ๘ ขุม ในอุสสทนรก ๑๖ ขุม ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานมีประการต่าง ๆ ในเปรตวิสัยและในอสูรกายชื่อว่าย่อมเศร้าโศกด้วยความเศร้าโศกอันมีความเผาไหม้ในภายในเป็นลักษณะ ตลอดกาลนาน, 

อีกอย่างหนึ่ง สัตว์รู้ว่า แพะนี้เศร้าโศกแล้ว เพราะมรณภัย ฉันใด ผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนานี้แม้ฉันนั้น ดังนี้แล้วไม่ควรฆ่าสัตว์ อธิบายว่า ใคร ๆ ไม่ควรกระทำกรรมคือปาณาติบาต ก็บุคคลผู้หลงเพราะโมหะ เมื่ออวิชชากระทำให้เป็นคนบอดแล้วไม่เห็นโทษนี้ย่อมกระทำปาณาติบาต. 

พระโพธิสัตว์แสดงธรรมโดยเอาภัยในนรกมาขู่ด้วยประการอย่างนี้. 

มนุษย์ทั้งหลายพึงธรรมเทศนานั้นแล้ว กลัวภัยในนรก พากันงดเว้นจากปาณาติบาต ฝ่ายพระโพธิสัตว์ครั้นแสดงธรรมแล้ว ยังมหาชนให้ตั้งอยู่ในเบญจศีลแล้วไปตามยถากรรม ฝ่ายมหาชนตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้น ทำเทพนครให้เต็มแล้ว.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบต่ออนุสนธิทรงประชุมชาดกว่า ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้นเราได้เป็นรุกขเทวดาแล.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 





Previous Post
Next Post

0 comments: