ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้
[ณ ป่าสาลวัน ใกล้กรุงกุสินารา สุภัททปริพาชก (นักบวชนอกศาสนาพุทธ) ซึ่งอาศัยอยู่ในกุสินารา ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานในคืนวันนี้ และเกิดความคิดว่า ‘ยังมีธรรมที่เราสงสัยซึ่งพระพุทธเจ้าน่าจะทำให้เราหายสงสัยได้ สุภัททะฯจึงเข้าไปหาพระอานนท์ว่า]
ส: ท่านอานนท์ ขอให้ข้าได้พบกับพระสมณโคดมด้วยเถิด
อ: อย่าเลยท่านสุภัททะ อย่ารบกวนท่านเลย ท่านเหนื่อยแล้ว
[สุภัททะฯยังคงขออีกสองครั้ง ซึ่งพระอานนท์ก็ปฏิเสธทั้งสองครั้ง ขณะนั้นพระพุทธเจ้าได้ยินคำสนทนาของทั้งสอง จึงกล่าวกับพระอานนท์ว่า]
พ: อย่าเลยอานนท์ อย่าห้ามสุภัททะเลย ให้เขาพบเถิด สุภัททะจะถามปัญหากับเราเพราะอยากรู้ ไม่ใช่อยากกวน คำตอบของเราจะทำให้เขาเข้าใจได้โดยเร็ว
ส: ท่านพระโคดม สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าคณะซึ่งคนยกย่องกันว่าดีมีชื่อเสียงอย่างปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ อชิตเกสกัมพละ ปกุธกัจจายนะ สัญชยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร สมณพราหมณ์เหล่านี้ตรัสรู้กันทั้งหมดไหม หรือไม่มีใครตรัสรู้เลย หรือมีแค่บางคนเท่านั้น?
พ: อย่าเลยสุภัททะ คำถามนี้เอาไว้ก่อน เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังให้ดี
อริยมรรค 8 ข้อ* ไม่มีในหลักคำสอนใด ก็จะไม่มีสมณะ (ผู้สงบจากบาปกิเลส) ที่ 1-4 (พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์) ในหลักคำสอนนั้น ถ้าหลักคำสอนใดมีอริยมรรค 8 ข้อ หลักคำสอนนั้นก็จะมีสมณะดังกล่าว
สุภัททะ เราบวชเมื่ออายุ 29 ปี แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชมานับได้กว่า 50 ปี ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ ซึ่งถ้าเหล่าภิกษุปฏิบัติตามคำสอนอย่างถูกต้อง โลกก็จะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์เลย
ส: คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ข้าพระองค์ขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอให้ข้าฯได้บวชในสำนักของท่านด้วยเถิด
พ: สุภัททะ คนที่เคยถือลัทธินอกพุทธศาสนา (อัญญเดียรถีย์) แล้วต้องการจะบวช จะต้องอยู่ในสำนักเงียบๆ (อยู่ปริวาส) 4 เดือนก่อน จากนั้นถ้าภิกษุเห็นชอบจึงจะบวชให้เป็นพระภิกษุได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่เป็นกรณีไป
ส: ตัวข้าฯสามารถอยู่ได้แม้จะ 4 ปีก็ตาม
พ: อานนท์ ถ้าอย่างนั้นเธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด
[เมื่อพระอานนท์รับคำแล้ว สุภัททะได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า]
ส: ท่านอานนท์ผู้อาวุโส เป็นลาภของท่านที่พระพุทธเจ้าได้มอบหมายท่านเป็นผู้บวชให้ผู้มาขอบวชต่อหน้าพระพุทธเจ้า
[หลังจากบวชแล้ว พระสุภัททะได้หลีกออกไปอยู่แต่รูปเดียว ตั้งใจแน่วแน่ปฏิบัติด้วยความเพียร ไม่นานนักก็บรรลุธรรม เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันขณะ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว ได้เป็นพระอรหันต์ สาวกรูปสุดท้ายที่ทันเห็นพระพุทธเจ้า (สักขีสาวก)]
_______
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 13 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ภาค 2 เล่ม 1 มหาปรินิพพานสูตรที่ 3 เรื่องสุภัททปริพาชก-ติตถิยปริวาส-สุภัททะสำเร็จอรหัต), 2559, น.308-312
* ทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลสและบรรลุธรรมอันวิเศษ (อริยมรรค) นี้มี 8 ข้อ ได้แก่
1. การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ คือ มองเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง รู้ว่าทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร การไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร และจะดับทุกข์ได้อย่างไร รวมถึงเห็นว่าสิ่งต่างๆไม่จีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงตลอด เกิดดับไม่มีตัวตน)
2. การมีความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ คือ ไม่คิดโลภติดกับกิเลสตัณหา ไม่คิดโกรธพยาบาท)
3. การพูดจาในทางที่ถูกที่ควร (สัมมาวาจา คือ ไม่พูดเท็จ ส่อเสียด หยาบคาย หรือเพ้อเจ้อ)
4. การประพฤติตัวในทางที่ถูกที่ควร (สัมมากัมมันตะ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม)
5. การมีอาชีพที่ถูกที่ควร (สัมมาอาชีวะ คือ ไม่โกง ไม่หลอกลวง ไม่บังคับขู่เข็ญใคร)
6. ความมุ่งมั่นพยายามที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง (สัมมาวายามะ คือ ไม่ทำบาป/ หยุดทำบาปที่เคยทำ/ ทำบุญ/ และรักษาบุญที่ทำให้ต่อเนื่อง)
7. การมีสติระลึกรู้ตัวอยู่เนืองๆ (สัมมาสติ คือ มีสติระลึกรู้ทันกาย ความรู้สึก จิตใจ และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น)
8. การมีจิตตั้งมั่นในทางที่ถูกต้อง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไปมา (สัมมาสมาธิ)
โอวาทปาติโมกข์ , แว่นธรรม-แว่นมองอนาคตตัวเอง, ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว , วิหารทาน เป็นทานอันเลิศ ที่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญ , แผ่เมตตาแก่ช้างนาฬาคิรี , ให้มีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ตัวอยู่ทุกขณะ , จงมีธรรมและตนเองเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย , พระพุทธเจ้าปลงสังขาร , ปัจฉิมโอวาท , ธรรมที่พระพุทธเจ้าย้ำก่อนปรินิพพาน , เมื่อได้ยินอะไรมาให้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระสูตรและพระวินัย , อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า, คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้
0 comments: