วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ระยะทางของพระพุทธศาสนา

ระยะทางของพระพุทธศาสนา

ยิ่งนานมาก็ยิ่งผันแปรไป

ผู้เข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะในฐานะเป็นคฤหัสถ์หรือในฐานะเป็นบรรพชิต เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็มักจะแสดงความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันเกี่ยวด้วยหลักพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนาออกมาให้สังคมได้รู้ได้เห็น

ถ้าความเห็นนั้นถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัย ก็ไม่เป็นปัญหา 

แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ ความเห็นที่ไม่ถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัย

กรณีการแสดงความเห็น หรือประกาศความเห็นของตนออกไปให้สังคมรับรู้ แล้วปรากฏว่าความเห็นนั้นไม่ถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัย จะทำอย่างไรกัน ประเด็นนี้แหละที่น่าศึกษา

ตามที่ได้ศึกษาสังเกตมา ผมเห็นว่าผู้ที่แสดงความเห็นออกไป แล้วความเห็นนั้นไม่ถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัย จะมีลักษณะ อาการ หรือท่าทีที่พอจะแบ่งเป็นระยะๆ ได้ดังต่อไปนี้

ระยะที่ ๑ 

หมายถึงในยุคสมัยแรกๆ ต้นๆ ที่มีผู้ที่แสดงความเห็นไม่ถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัยออกมา ในยุคแรกๆ นั้นเมื่อมีใครทักท้วงขึ้น อ้างหลักฐานว่าความเห็นเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ผู้แสดงความเห็นจะยอมรับฟัง และในที่สุดจะยอมรับโดยดีว่าความเห็นของตนผิดไป และขอถอนความเห็นเช่นนั้น

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย ทำอะไรลงไปแล้วมีผู้ทักท้วงว่าผิด ก็จะสะดุ้งกลัว และจะไม่ทำอีกเพราะรู้แล้วว่าทำแบบนั้นผิด

ระยะที่ ๒ 

ครั้นล่วงกาลผ่านเวลาต่อมา เมื่อมีความเห็นที่ไม่ถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัยปรากฏออกมาอีก แล้วมีผู้ทักท้วงขึ้น อ้างหลักฐานว่าความเห็นเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ผู้แสดงความเห็นจะไม่ยอมรับฟังและไม่ยอมรับทันทีว่าความเห็นของตนผิด แต่จะพยายามตรวจสอบหลักฐานต่างๆ การตรวจสอบหลักฐานนั้นไม่ใช่เพราะต้องการจะได้ความรู้ หากแต่เพราะต้องการจะหาข้ออ้างเอามายืนยันว่าความเห็นของตนไม่ผิด แต่เมื่อไม่พบหรือไม่มีหลักฐานที่จะเอามายืนยันได้ ในที่สุดก็จะยอมรับว่า ความเห็นของตนผิดไป และขอถอนความเห็นเช่นนั้น

ข้อเปรียบเทียบก็คือ -

ระยะที่ ๑ ยอมรับทันทีเพราะมีหลักฐานว่าผิด 

ระยะที่ ๒ ไม่ยอมรับทันที พยายามจะเถียงแย้ง แต่เมื่อจำนนด้วยหลักฐานจึงยอมรับ

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย ทำอะไรลงไปแล้วมีผู้ทักท้วงว่าผิด จะยังไม่ยอมรับทันที แต่จะพยายามหาช่องโต้แย้งว่าไม่ผิด เมื่อไม่มีช่อง จึงยอมรับว่าผิดจริง และพยายามระวังที่จะไม่ทำ (แต่ถ้าจำเป็นก็ทำอีก)

ระยะที่ ๓ 

เหตุการณ์เริ่มต้นเหมือนกัน แต่ในระยะนี้แม้จะยอมจำนนด้วยหลักฐานว่าความเห็นของตนนั้นผิดพลาดจริง แต่ก็จะไม่ยอมแก้ไข คือยังคงยึดความเห็นผิดอยู่เช่นนั้น รู้ว่าผิด เถียงไม่ขึ้น แต่ไม่ยอมปล่อย ใช้วิธีดื้อนิ่ง

เทียบกับระยะที่ ๑ และที่ ๒ เมื่อจำนนด้วยหลักฐานว่าความเห็นนั้นผิด ก็จะยอมรับและถอนความเห็น แต่ระยะที่ ๓ นี้จะไม่ยอมพูดออกมาเด็ดขาดว่าความเห็นของตนผิด-แม้ว่าจะผิดจริง และลึกๆ แล้วตัวเองก็รู้ว่าผิด แต่จะให้รับ ไม่รับ อาจเป็นเพราะ-ถ้ารับก็จะไปกระทบกับความน่าเชื่อถือหรือ “อัตตา” ของตนที่ได้ประกาศให้สังคมรับรู้ไปแล้วตั้งแต่ต้น

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย แม้จะรู้ว่าผิด และตัวเองก็ยอมรับว่าทำเช่นนั้นผิดจริง แต่ก็ยังขืนทำอยู่ ไม่มีความตั้งใจที่จะสำรวมระวัง ละเมิดจนชิน จนเคย สิกขาบทมีก็มีไป รับรู้ว่ามี แต่ไม่คิดจะปฏิบัติตาม

ระยะที่ ๔ 

เริ่มต้นเหมือนกัน คือประกาศ-แสดงความเห็นผิดประพฤติผิดออกมา มีผู้แย้ง มีหลักฐานว่าผิดจริง ยอมรับว่าผิดตามหลักฐาน แต่มาถึงขั้นนี้เริ่มจะแย้งย้อนกลับไปว่าบทบัญญัตินั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรง จะมามัวคิดเล็กคิดน้อยทำไมกัน โลกเขาไปถึงไหนๆ แล้ว สังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว ดูแต่ที่นั่นที่โน่นเขายังทำอย่างนั้นอย่างโน้นได้ ก็คือจะบอกว่า-หลักฐานหรือหลักพระธรรมวินัยก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือปฏิบัติตามเสมอไป

มาถึงขั้นนี้ เริ่มจะนิยมอ้างพุทธานุญาตที่ว่า -

อากงฺขมาโน  อานนฺท  สงฺโฆ  มมจฺจเยน  ขุทฺทานุขุทฺทกานิ  สิกฺขาปทานิ  สมูหนตุ.

ดูก่อนอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเรา สงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างจงถอนเถิด

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค,  พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๑

แต่ก็จะทำเพียง “อ้างสิทธิ์” ตามพุทธานุญาตนี้เท่านั้น หากแต่จะไม่ศึกษาให้ตลอดต่อไปอีกว่า คณะสงฆ์เถรวาทมีมติอย่างไรต่อพุทธานุญาตนี้ (ศึกษามติสงฆ์เถรวาทได้ที่ปัญจสติกขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐-๖๒๑)

ในทางพระวินัย แนวคิดที่เด่นในระยะนี้ก็คือ - “อาบัติก็แค่ทุกฏ” 

คือเห็นว่าการละเมิดในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แล้วก็พากันประพฤติเสมือนว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่มีข้อห้าม ทั้งๆ ที่ข้อห้ามก็มีอยู่แท้ๆ

ข้อนี้จะตรงกันข้ามกับพระสงฆ์ในอดีต โดยเฉพาะในสมัยพุทธกาล ที่ท่านถือหลักว่า “อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี” อาบัติเล็กน้อยขนาดไหนก็เห็นเป็นเรื่องน่ากลัว และจะสำรวมระวัง ไม่ละเมิด

ระยะที่ ๕ 

เริ่มต้นเหมือนกัน และพัฒนาแนวคิดต่อมาก็เหมือนระยะที่ ๔ แต่มาถึงระยะที่ ๕ นี้ จะก้าวหน้าต่อไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ เกิดแนวคิดโต้แย้งหลักพระธรรมวินัย เช่น -

หลักพระธรรมคำสอนเรื่องนั้นไม่เหมาะสม ไม่น่าจะถูกต้อง

หลักพระวินัยข้อนี้น่าจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ปฏิบัติตามไม่ได้ สมัยนี้ถ้าปฏิบัติตามพระวินัยข้อนั้นๆ ก็จะไม่สามารถเป็นพระอยู่ได้ จึงไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามอีกต่อไป

วี่แววที่เริ่มจะปรากฏแล้วในเวลานี้ก็อย่างเช่นแนวคิดที่ว่า -อย่าให้พระไปนิพพานกันหมดเลย อยู่ช่วยสังคมกันบ้างเถิด -อาตมาเป็นพระปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ เพราะฉะนั้นอย่ามาบังคับกันมากนัก

ผู้คนก็เริ่มจะมองว่า -  

สอนให้ไปนิพพาน ผิด   สอนให้ช่วยสังคม ดีกว่า 

(ถึงตอนนี้ นิพพานคืออะไรกันแน่ ก็ไม่คิดจะศึกษาให้เข้าใจถูกต้องกันอีกแล้ว)

จากระยะที่ ๕ นี้ ก็จะเริ่มขยายตัวไปเรื่อยๆ กล่าวคือ หลักพระธรรมข้อนั้น หลักพระวินัยข้อนี้ จะถูกโต้แย้ง ถูกต่อต้าน ถูกยกเลิกไปทีละเรื่องทีละอย่าง คำสอนและแนวคิดของคนสมัยใหม่จะเข้ามาแทนที่ สภาพแบบ “กลองอานกะ” ในอาณิสูตรก็จะเกิดขึ้น (อาณิสูตร สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๖๗๒-๖๗๓)

รูปร่าง เปลือกนอก ยังยอมรับกันว่าเป็น “พระพุทธศาสนา”

แต่เนื้อในที่ประพฤติกันอยู่ เป็นคำสอนและแนวคิดของแต่ละคน

ที่บรรยายมานี้ ถ้าเอาโครงสร้างอริยสัจสี่มาจับ ก็เป็นแค่ “ทุกข์” คือการบรรยายสภาพของปัญหา   แล้วจะทำอย่างไรกันดี-อันจะเป็นขั้นตอนต่อไปของอริยสัจ คือ สมุทัย-นิโรธ-มรรค เป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันต่อไป 

ทุกคนมีสิทธิ์คิดได้เอง ไม่ต้องรอให้ใครคิดแทน   คิดเพื่อช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยไว้

อย่าคิดเพียงแค่-เพื่อให้สิ่งที่เราเรียกกันในบัดนี้ว่า “พระพุทธศาสนา” อยู่ได้เท่านั้น ส่วนเนื้อในจะเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ!!

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ,   ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ,  ๑๗:๓๕

พระศาสนาห้าพันปี (๑) ,  พระศาสนาห้าพันปี (๒)







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: