วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

หัวใจของทุกศาสนาคือความไม่เห็นแก่ตัว

หัวใจของทุกศาสนาคือความไม่เห็นแก่ตัว

สำหรับข้อที่ว่า จะพยายามให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนานั้น มีความจำเป็นมาก ถ้าทุกคนในโลกต่างเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนๆ แล้ว โลกมันไม่เป็นอย่างนี้ มันจะเบ็นโลกพระศรีอาริย์ขึ้นมา พรึบพร้อมในคราวเดียวกันหมดทั้งโลก และทุกศาสนา

หัวใจของศาสนาทุกศาสนาอยู่ที่ไม่เห็นแก่ตัว

ปราศจากความเห็นแก่ตัว ทำอะไรก็เพื่อประโยชน์โดยบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเหตุให้เบียดเบียนกันไม่ได้ แล้วก็ช่วยเหลือกัน ทุกอย่างก็จะเพรียบพร้อมไม่ขาดแคลน ในทางที่มนุษย์จะอยู่กันเป็นผาสุก ฉะนั้น ขอให้เข้าถึงหัวใจของพระศาสนา สำหรับ พุทธบริษัทก็คือพุทธศาสนา

หัวใจของทุกศาสนาตรงกันหมด

ก็คือความไม่เห็นแก่ตัว ภาษาธรรมะ ก็ต้องพูดว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อพูดว่าความไม่ยึดมั่น

ถือมั่น ก็คือ "ไม่ยึดมันว่าเราว่าของเรา" หรือที่หยาบคายที่สุดก็ว่า "ไม่ยึดมั่นว่า ตัวกู ว่าของกู" เมื่อไม่ยึดมั่นว่ากู ว่าของกูแล้ว ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว มันจะเกิดความเห็นแก่ตัวไม่ได้ หัวใจของศาสนาอยู่ที่ตรงนี้

พระพุทธเข้าก็สอนเรื่องให้เห็นแก่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาคริสเตียน อิสลามก็สอนความไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผู้อื่น คัมภีร์ของอิสลามจะมีเรื่องในทำนองบังคับไปตั้งแต่แรก ที่จะไม่ให้เห็นแก่ตัวและให้เห็นแก่ผู้อื่น พุทธศาสนาเราก็มีคำสอนที่ไม่ให้เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ผู้อื่น อยู่อย่างเรียกว่าครบถ้วน

บริบูรณ์ด้วยเหมือนกัน ที่ไม่ให้เห็นแก่ตัวยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ ไม่เห็นแก่ตัวอย่างสูงสุดจนไม่มีอนุสัย ที่สำคัญว่าเรา ว่าของเรา คือ ละอหังการ มมังการ มานานุสัยเสียได้ แล้วก็เป็นพระอรหันต์

ประโยชน์ของความไม่เห็นแก่ตัวหรือไม่มีตัวนั้น เป็นได้ถึงพระอรหันต์ เดี่ยวนี้ยังไม่พูดถึงระดับนั้น พูดถึงระดับว่าอยู่กันในโลกนี้ ก็อย่าเห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ก็จะเป็นหัวใจของธรรมะ

อะไรคืออะไร (น.๓๘๔),  พุทธทาสภิกขุ

Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: