จุดหมายของชีวิต ๓ ระดับ
“คนเราเกิดมาก็มุ่งหาสิ่งที่เรียกว่า “ประโยชน์” ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “อัตถะ” ซึ่งแปลอีกอย่างหนึ่งว่า จุดมุ่งหมาย เราควรจะมีจุดหมายของชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแบ่งไว้เป็น ๓ ระดับ หรือแบบย่อเป็น ๒ ระดับ เรียกว่า อัตถะ แปลว่า จุดหมาย หรือ ประโยชน์ .. จุดหมายของชีวิต ๓ ระดับนั้น คือ
๑. ประโยชน์เฉพาะหน้า เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ทิฏฐธรรม แปลว่า สิ่งที่ตามองเห็น หรือ ทันเห็น จึงแปลกันว่า ประโยชน์ ปัจจุบัน หรือ ประโยชน์ทันตา ได้แก่ประโยชน์ระดับที่ตามองเห็น ได้แก่ การมีทรัพย์สินเงินทอง ความเป็นที่ยอมรับในสังคม มีมิตร สหายบริวาร ชีวิตครอบครัวที่ดี การมีร่างกายแข็งแรงไร้โรค เป็นต้น
๒. ประโยชน์เลยตาเห็น คือ ประโยชน์ในขั้นที่ลึกลงไป แปลกันว่า ประโยชน์เบื้องหน้า ภาษาบาลีเรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ” เบื้องหน้า ก็คือ ลึกซึ้งเลยไป ตาไม่เห็น ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายขั้นตาไม่เห็น คือเรื่อง “นามธรรม” เกี่ยวกับคุณธรรมความดี ที่เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจ ให้มีความสุข ความซึ้งอย่างประณีตที่ตามองไม่เห็น เช่น ความสุขใจ อิ่มใจ ภูมิใจ มั่นใจ ความรู้สึกในคุณค่าและความหมายของชีวิต ที่เกิดจากศรัทธา การดํารงอยู่ในความประพฤติที่ดีงาม ความมีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ได้เสียสละบําเพ็ญประโยชน์ ตลอดจนการสละละกิเลสในจิตใจออกไปได้ ให้ใจโล่ง ใจโปร่งผ่องใส และ มีปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามเป็นจริง ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ขั้นที่ลึกซึ้งเข้าไป เลยจากที่ตามองเห็น
ในขั้นแรก ประโยชน์ที่ตามองเห็น โดยมากเป็นประโยชน์ที่เราเอาเข้ามาให้ตัวเอง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งเป็นหลักประกัน ชีวิตในโลก แต่พอถึงประโยชน์ขั้นที่สองนี้ ทรัพย์สินเงินทองหรือประโยชน์ที่ตามองเห็นที่เข้ามาเมื่อกี้นั้นกลับออกไป คือออกไปทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นหรือวงสังคม และเป็นเรื่องของการทําสิ่งที่ดีงาม บําเพ็ญความดี ที่ทําให้เกิดความสุขทางจิตใจ.
ในขั้นแรกได้ความสุขทางด้านร่างกาย แต่ในขั้นนี้ได้ความสุขทางจิตใจ ในขั้นแรกมีความสุขจากการได้จากการเอา แต่ในขั้น นี้มีความสุขจากการให้ จากการที่ใจมีคุณธรรม เป็นการพัฒนาชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จึงเรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ”
๓. ประโยชน์สูงสุด คือ การมีปัญญารู้เท่าทันโลกและชีวิต จนกระทั่งจิตใจเป็นอิสระ ไร้ทุกข์ เรียกว่า “ปรมัตถะ” คนที่บรรลุ สัมปรายิกัตถะ นั้น อยู่ในขั้นของความดี แต่พึงทราบว่า คนดีก็ยังมีความทุกข์ คนชั่วก็มีทุกข์แบบคนชั่ว คนดีก็มี ทุกข์แบบคนดี คนดีทําความดีก็อยากให้เขาชมบ้าง บางคนทําดีแล้วเห็นว่าไม่ได้ผลที่ต้องการ ก็บอกว่าแหม..ทําดีแล้วไม่ได้ดีสักที อย่างนี้แสดงว่ายังมีความหวังผลอยู่ พอไม่สมหวังก็เศร้า เพราะฉะนั้น ถึงแม้เป็นคนทําความดีก็ยังมีทุกข์อยู่
แต่ยิ่งกว่านั้นไปอีก ก็คือ ทุกชีวิต ทุกคน ไม่ว่าคนดีหรือคนชั่ว ก็ล้วนอยู่ในโลก และอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือความจริงของ ธรรมดาที่ว่า สิ่งทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง มีความผันผวนปรวนแปรไป ไม่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อประสบความเปลี่ยนแปลงผันผวนปรวนแปรไปอย่างนี้ มีการได้สิ่งที่ปรารถนา แต่ต่อมาก็พลัดพรากจากของรัก เป็นต้น คือพบสิ่งที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ก็ประสบสุขและทุกข์ เรียกว่า ฟู-ฟุบ ยุบ-พอง ไปตามสถานการณ์ คนดีจึงยังมีปัญหา แต่พอถึงประโยชน์สูงสุดคือ “ปรมัตถ์” แล้ว จะมีปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีจิตใจบริสุทธิ์หลุดพ้นเป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ถึงจะประสบโลกธรรม ไม่ว่าฝ่ายร้ายฝ่ายดี คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขหรือทุกข์ ก็รู้ทันตามเป็นจริง จิตใจไม่หวั่นไหว เรื่องชั่วนั้นพ้นไปนานแล้ว แล้วยังไม่ทุกข์เพราะความดีด้วย เลยพ้นไปอีกขั้นหนึ่ง. ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถเอาประโยชน์และใช้ประโยชน์ ทั้งสิ่งที่น่าชอบใจ และ สิ่งไม่น่าชอบใจนั้นด้วย กับทั้งเป็นหลักให้แก่ผู้อื่น ท่ามกลางกระแสที่ปั่นป่วนผันแปรในโลก นี้เรียกว่า มาถึงประโยชน์ขั้นสูงสุด หลุดพ้นอยู่นอกเหนือสิ่งผูกรัด กิเลสและความทุกข์ทาบไม่ถึง ปลอดโปร่ง โล่ง เบา ผ่องใส เบิกบาน ได้ตลอดเวลา. ทั้งสามขั้นนี้เรียกว่า “อัตถะ” หรือจุดหมายของชีวิต ๓ ระดับ ที่ เราควรจะเข้าถึง”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ที่มา : คำสอนในพิธีอุปสมบท ณ อุโบสถวัดพระพิเรนทร์ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ คัดลอกมาจากแถบบันทึกเสียง จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ชื่อว่า “สอนนาค-สอนฑิต ชีวิตพระชีวิตชาวพุทธ” หน้า ๖๘-๗๑ , ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
0 comments: