ถึงแม้เราจะรู้สึกว่า "ยังไม่ดีพอ ยังไม่รู้แจ้งสภาวะที่แท้จริง กายวาจาใจยังประพฤติปฏิบัติได้ไม่สมควรแก่ธรรมมากนัก" แต่ถึงกระนั้น...
๑. อย่าเสื่อมฉันทะ คือความพอใจรักใคร่ในการทำความดี
๒. อย่าเสื่อมวิริยะ คือความเพียรพยายามในการทำความดีนั้นให้ยิ่งๆขึ้นไป
๓. อย่าเสื่อมสติ คือความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
๔. อย่าคะนอง คือร่าเริง, คึกคนอง, ลำพองในการทำความชั่วโดยไม่กลัวบาป
๕. อย่าพลั้ง คือทำผิดหรือพลาดไปโดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ทันคิด
๖. อย่าพลาด คือทำผิดหรือคลาดไปจากที่หมาย,ไม่ตรงที่หมาย, ผิดเพราะไม่รู้เป็นต้น
๗. อย่าผลุนผลัน คือหุนหัน, ทันทีทันใดโดยไม่รั้งรอ
๘. อย่าย่อท้อ คือท้อถอย, หมดกำลังใจ, ไม่คิดสู้ต่อ
๙. อย่าให้มีอกุศลจิต คือจิตที่เป็นอกุศลเพราะมีความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นมูลเกิดขึ้น
เพราะธรรมเหล่านี้นี่แหละเป็นธรรมมีในใจของพระโพธิสัตว์คือผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น หากยังรู้สึกว่า "เรายังไม่ดีพอ" ก็จงอย่าได้ประมาททำความดีต่อไปเถิด.
รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินก็ดี ที่ตั้งอยู่ในเวหาสก็ดี ที่อยู่ในแผ่นดินก็ดี ย่อมทรุดโทรม เป็นของไม่เที่ยงทั้งหมด
บุคคลผู้สำนึกตนย่อมถึงความตกลงอย่างนี้ว่า "อัตภาพของตนและของผู้อื่นทั้งหมดเป็นของทรุดโทรมและไม่เที่ยง" ย่อมประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงมรรคผลนิพพาน เมื่อชนทั้งหลายเป็นผู้ติดแล้วในอุปธิ คือ
๑. ติดในรูปอันตนเห็นแล้ว
๒. ติดในเสียงอันตนได้ฟังแล้ว
๓. ติดในกลิ่นและรสอันตนได้กระทบแล้ว
และ ๔. ติดในโผฏฐัพพารมณ์อันตนรู้แล้ว
แต่ท่านจงบรรเทาความพอใจในกามคุณ ๕ เหล่านั้น จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลใดไม่ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่า "เป็นมุนี"
(สาระธรรมจากอรติสูตร)
0 comments: