วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ประโยชน์อะไร?

ประโยชน์อะไร?

หิรญฺเญน  มิคานํว,     สุสีเลน  อสีลิโน;
อธมฺมิกสฺส  ธมฺเมน,     พาลานมฺปิ  สุเตน  กึ.

ประโยชน์อะไรด้วยเงินแก่ฝูงเนื้อ   ประโยชน์อะไรด้วยศีลที่งามแก่คนไร้ศีล   ประโยชน์อะไรด้วยธรรมะแก่คนไร้ธรรมะ  ประโยชน์อะไรด้วยความรู้แก่พวกคนพาล.

(ธรรมนีติ สุตกถา ๖๐, มหารหนีติ ๔๖)

ศัพท์น่ารู้ :

หิรญฺเญน (ด้วยเงิน, หิรัญญ์) หิรญฺญ+นา

มิคานํว (แก่เนื้อ ท. นั่นเทียว) มิคานํ+เอว ศัพท์เป็นนิบาต แปลว่า นั่นเทียว, เท่านั้น. มิคานํ (แก่เนื้อ ท.) มิค+นํ

สุสีเลน (ด้วยศีลอันดี, ศีลอันงาม) สุสีล+นา

อสีลิโน (แก่คนไม่มีศีล) น+สีลี > อสีลี+ส = อสีลิโน

อธมฺมิกสฺส (แก่คนไม่มีธรรม) น+ธมฺมิก > อธมฺมิก+ส

ธมฺเมน (ด้วยธรรมะ) ธมฺม+นา

พาลานมฺปิ (แม้แก่คนพาล ท.) พาลานํ+อปิ

สุเตน (ด้วยความรู้, ด้วยการศึกษา) สุต+นา

กึ (อะไร) กึ+สิ สัพพนาม = กึ ปโยชนํ อ. ประโยชน์อะไร?

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ฝูงเนื้อจะต้องการอะไรด้วยเงิน  คนไม่มีศีลจะต้องการอะไรด้วยศีลอันดี  คนไร้ธรรมจะต้องการอะไรด้วยธรรม  ฝ่ายคนพาลดั่งฤาจะต้องการความรู้.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...

ฝูงเนื้อจะต้องการเงินทำไม  คนมีทุศีลจะต้องการมีศีลบริสุทธิ์ทำไม   คนอธรรมจะต้องการธรรมะทำไม  ดังนั้นคนโง่หรือจะต้องการความรู้.

Credit: Palipage: Guide to Language - Pali 

4. สุตกถา - แถลงความรู้👇

63. น้ำลึกไหลนิ่ง ,   62. กบในกะลา - The Frog Under the Coconut Shell ,   61. ผู้เจริญเหมือนโคถึก ,    60.  ประโยชน์อะไร? ,  59. ใกล้เกลือกินด่าง ,  58. ควรเลือกครูก่อนเรียน

อ่านบทความเกี่ยวข้องเพิ่มเติม👇

1. อาจริยกถา แถลงอาจารย์ ,  2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ  ,  ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา ,  4. สุตกถา - แถลงความรู้,  5. กถากถา - แถลงถ้อยคำ ,  6. ธนกถา - แถลงทรัพย์ , 7. เทสกถา - แถลงประเทศ

"หลวงพ่อปลดหนี้"  อ.ชัยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา

ที่ วัดพระธาตุวาโย อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปางชนะมารหรือปางมารวิชัย เชื่อกันว่า มีพุทธคุณด้านปลดหนี้สิน ค้าขายรุ่งเรือง และบันดาลโชคลาภ จึงมีผู้เดินทางมาขอพรอย่างเนืองแน่นในแต่ละวัน





ใกล้เกลือกินด่าง

ใกล้เกลือกินด่าง

วสุํ  คณฺหนฺติ  ทูรฎฺฐา,     ปพฺพเต  รตโนจิเต;
น  มิลกฺขา  สมีปฎฺฐา,      เอวํ  พาลา  พหุสฺสุเต.

ณ ภูเขาอันดารดาษไปด้วยแก้ว  อริยกชนอยู่ไกลย่อมถือเอาแก้วไป  แต่มิลักขชนถึงอยู่ใกล้ย่อมถือเอาไม่ได้   เปรียบเหมือนคนพาลย่อมไม่รับเอา   ความรู้ในปราชญ์ผู้คงแก่เรียน ฉะนั้น.

(ธรรมนีติ สุตกถา ๕๙, มหารหนีติ ๔๕)

ศัพท์น่ารู้ :

วสุํ (ทรัพย์, สมบัติ, แก้ว) วสุ+อํ

คณฺหนฺติ (ย่อมถือ, จับ, รับเอา, คว้าเอา, เลือกเอา) √คห+ณฺหา+อนฺติ คหาทิ. กัตตุ. ลง ณฺหา ปัจจัย § คหาทิโต ปฺป-ณฺหา. (รู ๕๑๗) ลบ ห อักษรของธาตุ ในเพราะ ณฺหา ปัจจัย § หโลโป ณฺหามฺหิ. (รู ๕๑๘)

ทูรฎฺฐา (ผู้ยืนอยู่ในที่ไกล, ผู้ดำรงอยู่ ณ ที่ไกล, คนอยู่ไกล)

ปพฺพเต (บนผู้เขา, ทีบรรพต) ปพฺพต+สฺมึ

รตโนจิเต (ที่เต็มไปด้วยรัตนะต่าง ๆ) รตน+โอจิต > รตโนจิต+สฺมึ, คำนี้พบคำอธิบายในชาตกัฏฐกถา เล่มที่ ๘ ข้อ ๓๑๒ (ชาตกัฏฐกถา ๘/๓๑๒) ท่านให้ความหมายคำนี้ไว้ว่า รตโนจิตนฺติ นานารตเนหิ โอจิตํ ปริปณุณํ ฯ (เต็มแล้วคือบริบูรณ์แล้ว ด้วยนานารัตนะทั้งหลาย ชื่อว่า รตโนจิตะ)

น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ

มิลกฺขา (ชาวมิลักขะ) มิลกฺข+โย, (ชาวมิลักขะ ตรงข้ามกับชาวอริยกะ หาดูจากพระบาฬีวินัยปิฏกเล่ม ๑ เถิด)

สมีปฎฺฐา (ผู้ยืนอยู่ในที่ใกล้, ผู้ดำรงอยู่ ณ ที่ใกล้, คนอยู่ใกล้) สมีป+ฐ (ติฏฺฐติ) > สมีปฏฺฐ+โย

เอวํ (ฉันนั้น, อย่างนั้น) นิบาตบอกการเปรียบเทียบ

พาลา (คนพาล, คนโง่ ท.) พาล+โย

พหุสฺสุเต (พหูสูตร, ผู้คงแก่เรียน) พหุสฺสุต+สฺมึ

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

เมื่อแลกแก้วกันบนภูเขา  คนอริยกะอยู่ไกลยังเลือกเอาแก้วไป  แต่ชาติมิลักขะแม้อยู่ใกล้ก็ไม่ต้องการสัญชาติพาล  ในนักปราชญ์ผู้มีความรู้มาก ก็อุปมาฉั้นนั้น.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...

เมื่อเลือกแก้วในภูเขา คนอริยกะถึงอยู่ไกล  ก็เลือกเอาแก้วไปได้   แต่คนมิลักขะแม้อยู่ใกล้ก็ไม่ได้แก้ว  สัญชาติพาลอยู่ใกล้ท่านผู้มีความรู้ดีก็เปรียบดังนั้น.

Credit: Palipage: Guide to Language - Pali 

4. สุตกถา - แถลงความรู้👇

63. น้ำลึกไหลนิ่ง ,   62. กบในกะลา - The Frog Under the Coconut Shell ,   61. ผู้เจริญเหมือนโคถึก ,    60.  ประโยชน์อะไร? ,  59. ใกล้เกลือกินด่าง ,  58. ควรเลือกครูก่อนเรียน

อ่านบทความเกี่ยวข้องเพิ่มเติม👇

1. อาจริยกถา แถลงอาจารย์  ,  2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ  ,  ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา ,  4. สุตกถา - แถลงความรู้,  5. กถากถา - แถลงถ้อยคำ ,  6. ธนกถา - แถลงทรัพย์ , 7. เทสกถา - แถลงประเทศ

"หลวงพ่อทองดำ" วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก

"หลวงพ่อทองดำ" พระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ณ วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณในยุคสุโขทัย ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวเมืองพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างมานาน 1,000 ปีเศษ ในวิหารหลวงพ่อทองดำ วัดราชบูรณะ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก





ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือกปรินิพพานที่กุสินารา

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือกปรินิพพานที่กุสินารา

[ณ ป่าสาลวัน ใกล้กรุงกุสินารา หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวชื่นชมพระอานนท์ให้ภิกษุทั้งหลายฟังแล้ว พระอานนท์ได้พูดกับพระพุทธเจ้าว่า]

อ:  ท่านอย่าปรินิพพานในกิ่งเมืองเล็กๆนี้เลย เมืองใหญ่ๆก็มีอย่างจัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี หรือพาราณสี ขอท่านปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีมากมายที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็มีอยู่ในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้นจะสักการะบูชาพระสรีระของท่าน

พ:  อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ เธออย่าพูดว่ากุสินาราเป็นกิ่งเมืองเล็กๆเลย

แต่ปางก่อน มีพระจักรพรรดินามว่ามหาสุทัสสนะ เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม เป็นผู้พิชิตถึงมหาสมุทรทั้งสี่ด้าน มีอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ (จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว)

เมืองกุสินารานี้ เคยมีนามว่ากุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ยาว 12 โยชน์ (1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร) ตั้งแต่ตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 7 โยชน์ตั้งแต่เหนือจรดใต้ เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีคนอยู่หนาแน่น อาหารการกินหาง่าย เหมือนดั่งอาลกมันทา ราชธานีของเทพเจ้าทั้งหลาย

กุสาวดีราชธานี ไม่เคยเงียบจากเสียงทั้ง 10 ตลอดกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง ม้า รถ กลอง ตะโพน (กลองสองหน้าขึงด้วยหนัง) พิณ เพลงร้อง กังสดาล (ระฆังวงเดือนทำด้วยโลหะ) ประโคม (แตรสังข์บรรเลง) และเสียงร้องป่าวเชิญชวนว่าท่านทั้งหลายจงดื่มกินลิ้มรสเป็นเสียงที่สิบ

[ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าได้บรรยายถึงรายละเอียดของเมืองกุสาวดี แก้ว 7 ประการ ความเป็นอยู่ของพระมหาสุทัสสนะและพระนางสุภัททาเทวีซึ่งเป็นพระมเหสี โดยตอนท้ายพระพุทธเจ้าได้เล่ามาถึงตอนที่พระนางสุภัททาเทวีขอพระมหาสุทัสสนะว่าอย่าได้สวรรคตเลย ขอให้อยู่ต่อไปนานๆในเมืองที่มั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมนี้เถิด]

พ:  อานนท์ พระมหาสุทัสสนะได้ตอบพระนางสุภัททาเทวีว่า ‘เทวี เมื่อก่อนเธอพูดน่าฟัง แต่มาตอนนี้เธอพูดไม่น่าฟังเลย...เทวี เธอควรจะพูดว่าการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจจะต้องเกิดขึ้น ขออย่าให้พระองค์เป็นห่วงเรื่องสวรรคต การตายของผู้มีห่วงนั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่เรื่องดี ขอให้พระองค์ละความพอใจในนคร ในบัลลังก์ ในสิ่งต่างๆที่ครอบครอง อย่าได้ห่วงหาอาลัยในการมีชีวิตอยู่เลย

อานนท์ เมื่อพระนางสุภัททาเทวีได้ยินดังนี้ก็ร้องไห้ และเมื่อซับน้ำตาแล้วก็ได้พูดกับพระมหาสุทัสสนะตามนั้น ไม่นานหลังจากนั้น พระมหาสุทัสสนะก็สวรรคตเข้าถึงสุคติพรหมโลก

อานนท์ เธอคงจะคิดว่าพระมหาสุทัสสนะนี่เป็นคนอื่น แต่ไม่ใช่เลย สมัยนั้น เราคือพระมหาสุทัสสนะ สิ่งต่างๆมากมายมหาศาลนั้นเป็นของเรา แต่ในบรรดาปราสาทหลายหลังที่มี เราอยู่แค่ปราสาทเดียวเท่านั้น ในบรรดาเรือนหลายหลัง เราก็อยู่แค่หลังเดียว ในบรรดาบัลลังก์ทอง เงิน งา พลอยที่มีมากมาย เราก็นั่งอยู่แค่บัลลังก์เดียว ช้างก็ขี่อยู่เชือกเดียว ม้าก็ขี่อยู่ตัวเดียว รถก็ใช้อยู่คันเดียว หญิงที่ดูแลเราก็มีอยู่คนเดียว ผ้าก็ใช้อยู่คู่เดียว อาหารก็กินอยู่จานเดียว

อานนท์ เธอจงดูสิ สังขารมากมายเมื่อก่อนเหล่านั้นล่วงลับดับไป แปรเปลี่ยนไปหมดแล้ว

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่ายึดติดยินดีอย่างนี้แล

เธอจึงควรที่จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ละหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น

อานนท์ นี่แล เรารู้ที่ที่จะทอดทิ้งร่างกาย เราจะทิ้งร่างกายในเมืองนี้

______

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 13 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ภาค 2 เล่ม 1 มหาสุทัสสนสูตรว่าด้วยพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ), 2559, น.467-493

พระพุทธเจ้าปลงสังขาร ,  ปัจฉิมโอวาท  ธรรมที่พระพุทธเจ้าย้ำก่อนปรินิพพาน , เมื่อได้ยินอะไรมาให้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระสูตรและพระวินัย , อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า,  คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้ , ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ , ธรรมสังเวช , คำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว , ช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า , การแบ่งพระสารีริกธาตุ (อัฐิของพระพุทธเจ้า)








วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"สาธุ โข ปณฺฑิโต นาม  น เตฺวว อติปณฺฑิโต - ชื่อว่าเป็นคนดีน่ะดีแน่ๆ แต่เป็นคนดีเกินไป ก็ไม่ดีนะ!"

"สาธุ  โข  ปณฺฑิโต  นาม   น  เตฺวว  อติปณฺฑิโต  -  ชื่อว่าเป็นคนดีน่ะดีแน่ๆ แต่เป็นคนดีเกินไป ก็ไม่ดีนะ!"

อรรถกถา กูฏวาณิชชาดก  -  ว่าด้วย คนผู้เป็นบัณฑิต

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพ่อค้าโกงผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  สาธุ  โข  ปณฺฑิโต  นาม  ดังนี้ :-

ความย่อว่า คนสองคนในเมืองสาวัตถีร่วมทุนกันทำการค้า คุมขบวนเกวียนสินค้าไปสู่ชนบท ได้ของแล้วพากันกลับ ในพ่อค้าทั้งสองนั้น พ่อค้าโกงคิดว่า พ่อค้าผู้เป็นสหายเราคนนี้ ตรากตรำด้วยการกินไม่ดี นอนลำบากมาหลายวันแล้ว คราวนี้เขาจักกินโภชนะดีๆ ด้วยรสเลิศต่างๆ ในเรือนของเขาจนพอใจ จักตายด้วยโรคอาหารไม่ย่อย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักแบ่งของนี้ออกเป็น ๓ ส่วน ให้เด็กๆ ของเขาส่วนหนึ่ง อีก ๒ ส่วน เราจักเอาเสียเอง เขาผลัดวันอยู่ว่า จักแบ่งในวันนี้ จักแบ่งในวันพรุ่งนี้ ดังนี้แล้ว ไม่อยากจะแบ่งภัณฑะเลย.

ฝ่ายพ่อค้าผู้เป็นบัณฑิตก็คาดคั้นเขาผู้ไม่ปรารถนาจะแบ่ง ให้แบ่งจนได้ แล้วไปสู่พระวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา ได้รับปฏิสันถารที่ทรงกระทำ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งถามว่า ดูท่านชักช้านัก มาถึงพระนครนี้แล้ว กว่าจะมาสู่ที่เฝ้าก็นาน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่นายพาณิชนั้นเป็นพาณิชโกง แม้ในกาลก่อน ก็เคยเป็นพาณิชโกงมาแล้วเหมือนกัน แต่ในครั้งนี้มุ่งจะลวงท่าน แม้ในครั้งก่อนก็ไม่อาจจะหลอกลวงบัณฑิตได้ อันอุบาสกกราบทูลอาราธนา แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพ่อค้า ในพระนครพาราณสี ในวันขนานนาม หมู่ญาติตั้งชื่อให้ท่านว่า บัณฑิต ท่านเจริญวัยแล้ว เข้าหุ้นกับพ่อค้าอื่นทำการค้า พ่อค้านั้นชื่อว่า อติบัณฑิต ทั้งคู่ชวนกันบรรทุกภัณฑะด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มไปสู่ชนบท ทำการค้าได้ของมามากมาย พากันกลับมายังพระนครพาราณสี

ครั้นถึงเวลาที่จะแบ่งข้าวของกัน อติบัณฑิตก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าควรได้สองส่วน

พระโพธิสัตว์ถามว่า เพราะเหตุไรเล่า?  เขาตอบว่า ท่านชื่อบัณฑิต ข้าพเจ้าชื่ออติบัณฑิต บัณฑิตควรได้ส่วนเดียว อติบัณฑิตควรได้สองส่วน

พระโพธิสัตว์ถามว่า ทุนที่ซื้อของก็ดี พาหนะมีโคเป็นต้นก็ดี แม้ของทั้งสองก็เท่าๆ กันมิใช่หรือ เหตุใดเล่า ท่านจึงควรจะได้สองส่วน?

เขาตอบว่า เพราะข้าพเจ้าเป็นอติบัณฑิต ทั้งสองคนโต้เถียงกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน ลำดับนั้น อติบัณฑิตคิดได้ว่า ยังมีอุบายอยู่อีกอันหนึ่ง จึงให้บิดาของตนเข้าไปซ่อนอยู่ในโพรงไม้ต้นหนึ่ง สั่งไว้ว่า เวลาเราทั้งสองมาถึงละก็ คุณพ่อต้องพูดว่า อติบัณฑิตควรจะได้สองส่วนนะครับ แล้วไปหาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า สหายรัก รุกขเทวดานั้นย่อมรู้การที่เราควรจะได้สองส่วน หรือไม่ควร มาเถิดท่าน เราจักถามรุกขเทวดานั้นดู แล้วพากันไปที่ต้นไม้นั้นแหละ กล่าวว่า ข้าแต่รุกขเทวดา ผู้เป็นเจ้าไพร เชิญตัดสินคดีของเราด้วยเถิด

ครั้งนั้น บิดาของเขาก็เปลี่ยนเสียงให้เพี้ยนไป พูดว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงบอกเรื่องราว

อติบัณฑิตก็พูดว่า ข้าแต่เจ้าไพร ท่านผู้นี้ชื่อบัณฑิต ข้าพเจ้าชื่ออติบัณฑิต เราทั้งสองเข้าหุ้นกันทำการค้าขาย ในเรื่องนั้นเขาควรได้รับอย่างไร?

(มีเสียงดังขึ้นว่า) บัณฑิตได้ส่วนหนึ่ง อติบัณฑิตได้ ๒ ส่วน

พระโพธิสัตว์ฟังคดีที่เทวดาวินิจฉัยแล้วอย่างนี้ คิดว่า เดี๋ยวเถอะ จะได้รู้กันว่า เป็นเทวดา หรือไม่ใช่เทวดา แล้วไปหอบฟางมาใส่โพรงไม้จุดไฟทันที บิดาของอติบัณฑิต เวลาที่เปลวไฟถูกตนก็ร้อน เพราะสรีระเกือบจะไหม้ จึงทะลึ่งขึ้นข้างบน คว้ากิ่งไม้โหนไว้ แล้วโดดลงดิน พลางกล่าวคาถาว่า

สาธุ โข ปณฺฑิโต นาม,     น เตฺวว อติปณฺฑิโต;  

อติปณฺฑิเตน ปุตฺเตน,       ปนมฺหิ อุปกุฏฺฐิโต.

คนที่ชื่อบัณฑิตดีแน่ ส่วนคนที่ชื่อว่าอติบัณฑิตไม่ดีเลย 

เพราะว่า เจ้าอติบัณฑิตลูกเราเกือบเผาเราเสียแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  สาธุ  โข  ปณฺฑิโต  นาม  ความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณเครื่องความเป็นบัณฑิต รู้เหตุและสิ่งที่ไม่ใช่เหตุ จัดเป็นคนดีงามในโลกนี้.

บทว่า  อติปณฺฑิโต  ความว่า คนโกงๆ เป็นอติบัณฑิต ด้วยเหตุสักว่าชื่อ ไม่ประเสริฐเลย.  บทว่า  มนมฺหิ(๑) อุปกุฏฺฐิโต  ความว่า เราถูกไฟไหม้ไปหน่อยหนึ่ง รอดพ้นจากการไหม้ตั้งครึ่งตัวมาได้ อย่างหวุดหวิดทีเดียว.

______

๑. บาลีเป็น  มนมฺหิ  แต่อฏฺฐกถาเป็น  ปนมฺหิ ฯ

แม้คนทั้งสองนั้น ต่างก็แบ่งกันคนละครึ่ง ถือเอาส่วนเท่าๆ กันทีเดียว แล้วต่างก็ไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธกว่า แม้ในครั้งก่อน พาณิชนั้นก็เป็นนายพาณิชโกงเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า

พ่อค้าโกงในครั้งนั้น ได้มาเป็นพ่อค้าโกงในปัจจุบันนี้แหละ  ส่วนพ่อค้าผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

ทึ่มา :  https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=98

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 












"พระมหาไพรวัลย์ส่งสัญญาณสึกแน่ โพสท์ภาพเดินในชุดขาว  ทิ้งจีวรเกลื่อนกระจายไว้ข้างหลัง..."

"พระมหาไพรวัลย์ส่งสัญญาณสึกแน่ โพสท์ภาพเดินในชุดขาว  ทิ้งจีวรเกลื่อนกระจายไว้ข้างหลัง..."

พระมหาไพรวัลย์ส่งสัญญาณสึกแน่ โพสท์ภาพเดินในชุดขาว  ทิ้งจีวรเกลื่อนกระจายไว้ข้างหลัง ขณะพระมหาสมปองเผยสึก 4-5 ธันวาคม  ส่วนวัดสร้อยทองกองทัพนักข่าวเนืองแน่น ทั้งที่ประกาศแล้วว่าไม่ต้องมา ไม่ได้อยู่วัด. @FB: Sirote Klampaiboon (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)

_____

พระมหาไพรวัลย์สัญญาณสึกแรง พระมหาสมปองสื่อสารชัดนักวิชาการพุทธศาสนาเผยห้ามไม่ไหว คณะสงฆ์เสียศาสนทายาท 

นอกจากพระมหาไพรวัลย์ที่โพสท์รูปวันขึ้นเวทีของบริษัทดังพร้อมข้อความเหมือนบอกลา พระมหาไพรวัลย์ยังโพสท์รูปคู่พระมหาสมปองพร้อมข้อความทำนองเดียวกันครับ

ล่าสุด "พระมหาสมปอง" โพสท์รูปคู่ขณะทั้งสองจูงมือกัน พร้อมกับระบุว่า 

"ไม่ว่าชีวิตจะขึ้นหรือลง

…เราก็ยังคง”รักกัน”นะน้องนะ

ขอบคุณมาก…จากใจ"

นอกจากนั้น "อุทิส ศิริวรรณ" นักวิชาการพุทธศาสนาซึ่งพระมหาไพรวัลย์นับถือ ก็โพสท์ข้อความว่า

"ถ้าจะมีตราบาปตลอดชีวิต  สิ่งที่ผมจะละอายใจเสียใจไปจนชั่วชีวิตคือ  ผมไม่สามารถระงับยับยั้งท่านมหาไพรวัลย์  มิให้เตรียมตัวเดินออกมาจากวัด หลังอยู่มา ๑๘ ปี"

รวมทั้งมีการโพสท์ถึงอีกเรื่องไว้แบบนี้ครับ

"ได้ตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน  แต่เสียศิษย์กตัญญูไปคน  น่าเสียดาย ผิดหวัง ไม่คุ้มค่า  การที่หลวงพ่อกลับปล่อยพระลูกชาย  ตายจากสมณเพศต่อหน้าต่อตา"

สำหรับคำพูดทำนองบอกลาของ "พระมหาไพรวัลย์"  เป็นแบบนี้ครับ

"ขอบคุณพระศาสนาที่มอบทุกอย่างให้กับเด็กบ้านนอกคนหนึ่งคนนี้ ตลอดเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ขอบคุณข้าวน้ำจากศรัทธาของญาติโยมทุกคน"

และพูดถึงพระมหาสมปองไว้ว่า

"กราบขอบพระคุณที่ไม่เคยรังเกียจพระน้องชายรูปนี้ กราบขอบพระคุณสำหรับทุกสิ่งที่พระอาจารย์มอบให้ ไม่ว่าจะในฐานะอะไรก็ตาม   

จะเคารพรักและศรัทธาพระอาจารย์ตลอดไปครับ"

อย่างไรก็ดี ถ้าถามผม ผมไม่อยากให้พระมหาไพรวัลย์สึกครับ เพราะการทำงานที่สำคัญกับพุทธศาสนายังไม่จบ มีโอกาสทำต่อได้อีกเยอะ และอีกหน่อยคนที่โจมตีก็ทยอยตายไป หรือไม่ก็เป็นได้แค่คนดูการทำงานของพระมหาไพรวัลย์ไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งตอนนี้เอง

Credit: @FB Sirote Klampaiboon (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)





วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ควรเลือกครูก่อนเรียน

๔. สุตกถา - แถลงความรู้

ควรเลือกครูก่อนเรียน

นิปุเณ  สุตเมเสยฺย,    วิจินิตฺวา  สุตตฺถิโก;
ภตฺตํ  หุกฺขลิยํ  ปกฺกํ,    ภาชเนปิ  ตถา  ภเว.

ผู้ปรารถนาความรู้ ใคร่ครวญแล้ว  พึงแสวงหาความรู้ในครูผู้ละเอียดอ่อน  อาหารที่สุกแล้วในหม้อ ฉันใด  แม้อยู่ในภาชนะก็พึงเป็น ฉันนั้น.

(ธรรมนีติ สุตกถา ๕๘, มหารหนีติ ๔๐, กวิทัปปณนีติ ๗๙)

ศัพท์น่ารู้ :

นิปุเณ (ความละเอียด, ละเอียดอ่อน) นิปุณ+สฺมึ

สุตเมเสยฺย ตัดบทเป็น สุตํ+เอเสยฺย (แสวงหาความรู้), สุตํ (ความรู้, สูตร) สุต+อํ; เอเสยฺย (แสวงหา, เสาะหา) √เอส+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.

วิจินิตฺวา (วินิจฉัยแล้ว, ใคร่ครวญ, ไตร่ตรอง)

สุตตฺถิโก (ผู้ต้องการด้วยสูตร, ผู้ปรารถนาความรู้) สุต+อตฺถิก (อตฺถ+อิก) > สุตตฺถิก+สิ

ภตฺตํ (ภัตต์, อาหาร) ภตฺต+สิ

หุกฺขลิยํ, อุกฺขลิยํ (ในหม้อข้าว, หม้อหุงข้าว, หม้อหุงต้ม) อุกฺขลิ+สฺมึ, หุกฺขลิยํ = ห อาคม

ปกฺกํ (สุกแล้ว, หุง, ต้ม, แกงแล้ว) ปกฺก+สิ

ภาชเนปิ (แม้ในภาชนะ) ภาชเน+อปิ

ตถา (เหมือนกัน, เหมือนอย่างนั้น) นิบาตบท

ภเว (พึงเป็น, พึงมี) √ภู+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.

หมายเหตุ:  ในคาถานี้ได้แก้ไข ๒ แห่งด้วยกัน เพื่อให้ตรงกับอีกสองคัมภีร์ที่พบ ซึ่งถือว่ามีข้อความถูกต้องและดีกว่า คือ :

๑) ในบาทคาถาแรก เดิมเป็น  นิปุเณ  สุหเมเสยฺย  แก้ใหม่เป็น  นิปุเณ  สุตเมเสยฺย.  จาก  สุหํ  เป็น  สุตํ

๒) ในบาทคาถาที่ ๓ เดิมเป็น  สตฺตํ  หุกฺขลิยํ  ปกฺกํ  แก้ใหม่เป็น  ภตฺตํ  หุกฺขลิยํ  ปกฺกํ.  จาก  สตฺตํ  เป็น  ภตฺตํ

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ผู้ต้องการความรู้ ใคร่ครวญแล้ว  พึงแสดงความรู้ในครูผู้ถี่ถ้วน   ธรรมดาข้าวอันสุกในหม้อ แม้ (ตักใส่) ในภาชนะก็คงเป็นอย่างนั้น.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...

ผู้ต้องการความรู้ใคร่คววญแล้ว  พึงแสวงหาความรู้ในครู่ผู้ถี่ถ้วน  ธรรมดาข้าวสุกในหม้อ  แม้ตักใส่ภาชนะก็คงเป็นอย่างนั้น.

Credit: Palipage: Guide to Language - Pali

4. สุตกถา - แถลงความรู้👇

63. น้ำลึกไหลนิ่ง ,   62. กบในกะลา - The Frog Under the Coconut Shell ,   61. ผู้เจริญเหมือนโคถึก ,    60.  ประโยชน์อะไร? ,  59. ใกล้เกลือกินด่าง ,  58. ควรเลือกครูก่อนเรียน

อ่านบทความเกี่ยวข้องเพิ่มเติม👇

1. อาจริยกถา แถลงอาจารย์  ,  2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ  ,  ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา ,  4. สุตกถา - แถลงความรู้,  5. กถากถา - แถลงถ้อยคำ ,  6. ธนกถา - แถลงทรัพย์ , 7. เทสกถา - แถลงประเทศ

วัดหลวงพี่แซม จังหวัดชลบุรี

วัดหลวงพี่แซม ตั้งอยู่ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี  เป็นวัดสวยที่ซ่อนตัวอยู่ใน ความงดงามเลื่องชื่อยกให้ "ถ้ำลอดมหาจักรพรรดิ์" ที่ถูกเนรมิตด้วยฝีมือมนุษย์ โดยภายในถ้ำจะมีองค์อนันตนาคราช ๗ เศียรอยู่กลางบ่อน้ำ บรรยากาศเหมือนอยู่ในเมืองบาดาลที่มีมนต์ขลังศักดิ์สิทธิ์  บริเวณรอบๆ แวดล้อมไปด้วยแสงสีของไฟและลูกแก้วที่พุทธศาสนิกชนนำมาถวายสักการะบูชา มีความสวยงดงามและตระการตามาก....






ความทุกข์ทรมานกดทับทั้งหลาย  ที่กำลังหุ้มรุมอยู่ที่จิตทุกเวลานั้น  มันเนื่องมาจากความยึดถือนั่นเอง

ความทุกข์ทรมานกดทับทั้งหลาย  ที่กำลังหุ้มรุมอยู่ที่จิตทุกเวลานั้น  มันเนื่องมาจากความยึดถือนั่นเอง

ความมุ่งหมายของพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มีใจสูงถึงขั้นเหนือโลก หรือหลุดพ้นจากเครื่องพัวพันทั้งปวง ซึ่งเป็นเหตุให้พุทธศาสนามีระดับสูงกว่าศาสนาอื่น อันมีความสูงเพียงขั้นศีลธรรม

ฉะนั้น ความปรารถนาในการพรากจิตออกมาเสียจากเครื่องห่อหุ้มทั้งปวง จึงเป็นความปรารถนาที่บริสุทธิ์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนา

คนทั่วไปอาจขลาดกลัวใน การที่จะละความสนใจจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และบุญกุศล และสิ่งสวยงามอื่นๆ มาสนใจแน่วแน่แต่ในเรื่องาวะความหมดจดจากความยึดถือโดยประการทั้งปวงของจิต

แต่ถ้าเขาจะได้พิจารณาดูให้ถูกตรงจุดที่สำคัญ คือที่ตัวจิตเองอย่างถูกต้องถ่องแท้ จนกระทั่งพบว่า ความทุกข์ทรมานกดทับทั้งหลาย ที่กำลังหุ้มรุมอยู่ที่จิตทุกเวลานั้น มันเนื่องมาจากความยึดถือนั่นเองแล้ว ก็จะเกิดความแน่ใจหรือความกล้าหาญ ในการที่จะเพ่งหาแต่ความออกไปได้ของจิตอย่างเดียว คือเพ่งหาช่องที่จะเล็ดลอดออกไปเสียจากความกลุ้มรุมของสิ่งห่อหุ้มอย่างเดียว

ทั้งนี้ โดยความเชื่อความเห็นของตัวเอง ไม่ต้องเชื่อตามพระคัมภีร์ที่สอนว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ จึงจะเกิดความกล้าที่ถูกต้องแท้จริง และเป็นความปรารถนาที่บริสุทธิ์จริงๆ เมื่อสิ่งต่างๆ ลงรูปกันกับความจริง เช่นนี้ ความปล่อยวางก็มี หรือค่อยๆ มีขึ้นเองอย่างไม่ชักช้าเฉื่อยชา

สำหรับจิตซึ่งเป็นตัวประธาน ยืนโรงสำหรับถูกพัวพัน หรือหลุดพ้นออกไปได้นั้นเล่า เราไม่ขอเอามาเป็นตัวเรา เพราะความรู้สึกแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นของเราเอง อย่างมากที่จะเป็นได้ ก็เป็นเพียงให้เป็นสิ่งที่รู้สึกทุกข์เพราะถูกผูกพัน หรือรู้สึกสุขเพราะได้รับความปล่อยวางเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวคนของเรา

ชุมนุมปาฐกถาชุด พุทธธรรม (น.๓๒๙) ,  ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space

วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นวัดสำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน วัดมีลักษณะที่สำคัญคือโบสถ์และวิหารถูกสร้างเป็นอาคารเดียวกัน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2139