สามเณรนิโครธ*1 อรหันต์น้อยผู้กู้วิกฤตศรัทธา และพระอาจารย์ของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่
วิกฤตหลังพุทธปรินิพพาน
หลังพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน พระพุทธศาสนาต้องเผชิญกับวิกฤตหลายครั้ง จากทั้งบุคคลภายในที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และบุคคลภายนอกที่ปลอมแปลงเข้ามาบวชเพื่อหวังทำลาย พระพุทธศาสนา. การทําสังคายนาจึงเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามและเป็นการกลั่นกรองสิ่งแปลกปลอมที่เล็ดลอดแอบแฝงเข้ามาปะปนกับเนื้อแท้แห่งพระธรรมวินัย
แต่ในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 มีเรื่องที่น่าสนใจใคร่ครวญไตร่ตรองเป็นอย่างยิ่ง เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพระพุทธศาสนาที่น่าหวาดวิตกน่าหวาดกลัวพอสมควร. เพราะในฝ่ายอาณาจักรคือพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ห้วงเวลานั้นไม่มีผู้ใดยิ่งใหญ่และเกรียงไกรเทียบเท่าได้เลย ทั้งในการรบและ
ความเด็ดขาด
ถ้าหากฝ่ายเดียรถีย์ชักจูงพระองค์ให้เลื่อมใสศรัทธาได้สำเร็จอะไรจะเกิดขึ้น. ถ้าพระเจ้าอโศกมหาราชถูกชักจูงแล้วคล้อยตามความต้องการของเดียรถีย์การกวาดล้าง การกลั่นแกล้งด้วยหลัก
นิติรัฐก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
หลังจากที่ได้ขึ้นครองราชย์แล้วพระองค์หันไปนับถือลัทธิ ปาสัณฑะของพราหมณ์ตามธรรมเนียมของพระบิดาทรงจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับบำรุงลัทธินี้โดยเฉพาะ
อุบายแสวงหาผู้รู้
วันหนึ่งพระองค์รับสั่งให้จัดงานเลี้ยงนักบวชเหล่านั้นในพระราชวัง พิธีถูกจัดขึ้นอย่างหรูหราปูลาดอาสนะเป็นระเบียบเรียบร้อย. แต่ขณะที่นักบวชเหล่านั้นถูกเชิญเข้ามาบริโภคอาหารก็เกิดความโกลาหลขึ้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์และกิริยาของนักบวชเหล่านั้น ทำให้รู้สึกทอดถอนพระทัยถึงกับทรงรำพึงขึ้นว่า :- กิริยาภายนอกไร้มารยาทถึงเพียงนี้ภายในใจจะมีแก่นสารได้อย่างไร
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้พระทัยของพระองค์เกิดความเปลี่ยนแปลง และเพื่อเป็นการแสวงหาบุคคลที่ควรให้พระองค์จึงรับสั่งให้ทหารไปเชิญผู้ที่ตนเองนับถือ หรือเห็นว่าดีที่สุดเข้าวังเพื่อพระองค์จะได้ถวายทาน. เช้าวันรุ่งขึ้นพระราชวังก็เต็มไปด้วยผู้คนที่ทหารให้ความเคารพนับถือมีทั้งชีปะขาว ปริพาชก อาชีวกและนิครนถ์เป็นต้น มายืนรอที่จะรับทานจากพระองค์
หลังจากฟังคำทูลรายงานจากเหล่าข้าราชบริพารว่า :- ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นพระอรหันต์. พระองค์ก็ทรงรับสั่งให้จัดแจงที่นั่งสูงต่ำตามลำดับซึ่งสมควรแก่ฐานะของนักบวชไว้ภายในพระราชวัง. แต่เมื่อเชิญนักบวชเหล่านั้นให้เข้ามานั่งกลับไม่รู้ที่ที่ตนควรนั่งจึงพากันนั่งตามที่ตนชอบใจ. พระเจ้าอโศกมหาราชทอดพระเนตรเห็นกิริยาเช่นนั้นก็ทรงทราบทันทีว่า :- คนพวกนี้ไม่มีธรรมที่เป็นแก่นสารอยู่ภายในเลย
เณรน้อยผู้กู้ศรัทธา
ในยามเช้าของวันหนึ่ง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงตื่นจากบรรทมและเสด็จจงกรมอยู่ใกล้สีหบัญชร ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พลันทอดพระเนตรเห็นเณรน้อยกำลังเดินบิณฑบาตอยู่หน้าพระลานหลวง ทำให้พระองค์ทรงแปลกพระทัยยิ่งนัก. ในวินาทีนั้นความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาความรักและเอ็นดูเกิดขึ้นอย่างท่วมท้นในพระทัย. จึงรับสั่งให้ทหารรีบไปนิมนต์สามเณรน้อยรูปนั้นมาในพระราชวังทันที
ทดสอบสามเณรน้อย
เมื่อสามเณรรับนิมนต์เข้าไปในวัง ท่านก็ไม่ได้รีบร้อนเข้าไป แต่ยังคงเดินตามปกติ ด้วยกิริยาอาการสงบราบเรียบไม่ตื่นเต้น เหมือนเดินอยู่ในกุฏิท่านเอง แต่ผู้รอคอยกลับใจร้อนยิ่งนัก. เมื่อไม่เห็นทหารที่ส่งไปนิมนต์กลับมาสักที พระเจ้าอโศกทรงร้อนพระทัยในความชักช้าจึงตรัสสั่งให้ทหาร 3 นายรีบไปนิมนต์สามเณรอีกทันที
เมื่อสามเณรเข้ามาถึงท้องพระโรง
ด้วยความที่พระเจ้าอโศกทรงเป็นนักปกครอง การที่จะเชื่ออะไรโดยอาศัยความพอใจเพียงอย่างเดียว ดูจะไร้น้ำหนักไป ควรมีข้อพิสูจน์เป็นสิ่งยืนยันว่าเรื่องที่พระองค์พอพระทัยนั้นมาจากความถูกต้องไม่ใช่แค่ความถูกใจ. พระเจ้าอโศกจึงนิมนต์สามเณรให้เลือกที่นั่งตามเห็นสมควร. สามเณรจึงขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ที่มีฉัตรกั้นและรับภัตตาหารบิณฑบาตมาฉันแค่พออิ่มเท่านั้น
กิริยาอาการของสามเณรทำให้พระเจ้าอโศกเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก
ความเลื่อมใสศรัทธาของพระเจ้าอโศกที่มีต่อสามเณรในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ขยายออกไปทั่วชมพูทวีป
ธรรมะจากเณรน้อย
การสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้าอโศกกับสามเณรเป็นสิ่งที่พอพระทัยอย่างยิ่งโดยสามเณรแสดงธรรมเทศนาเกี่ยวกับความไม่ประมาทเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติถวายแก่พระองค์จนเกิดความเลื่อมใส ปวารณาจะถวายอาหารบิณฑบาต 8 สำรับ สำหรับทุกวันแก่สามเณร
สามเณรทูลว่า :- จะนำอาหารบิณฑบาตทั้งหมดไปถวายแก่พระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ต่อไปอีกทอดหนึ่ง. พระเจ้าอโศกทรงสงสัยจึงตรัสถามว่า :- ใครคือพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์และพระภิกษุสงฆ์
สามเณรเฉลยตามลำดับดังนี้
มหาบพิตร ผู้ใดเห็นโทษน้อยใหญ่แล้วตักเตือนอบรมพร่ำสอนผู้นั้นชื่อว่า พระอุปัชฌาย์. ผู้ที่สั่งสอนให้อันเตวาสิก*2 และสัทธิวิหาริก*3 มีความเข้าใจมั่นคงในไตรสิกขาของพระศาสนา ชื่อว่าพระอาจารย์. การบรรพชาและอุปสมบทของพระอาจารย์ และพระอุปัชฌาย์ของอาตมภาพ และการบรรพชาของอาตมภาพ อาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้นชื่อว่าภิกษุสงฆ์
ต้องเข้าถึงสาระธรรมจึงจะนำศาสนาให้รุ่งเรือง
เป็นที่ทราบกันว่าพระเจ้าอโศกนับถือลัทธิตามประเพณีนิยมของราชสำนัก ยังไม่เลื่อมใสในศาสนาพุทธพระเจ้าอโศกผู้เป็นทั้งกษัตริย์และจอมทัพ ระเบียบวินัยจารีตประเพณีถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่มีเรื่องที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นก็คือ ศาสนา เพราะศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของบุคคล ซึ่งคนทั่วไปเคารพศรัทธา
ความเข้มแข็งของกองทัพรู้ได้จากระเบียบวินัย ความมีสาระของศาสนารู้ได้จากความประพฤติของศาสดาและสาวก
ความจริงพระเจ้าอโศกทรงเบื่อหน่ายกิริยาของนักบวชในลัทธิที่พระองค์นับถือตามประเพณีมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่ทรงเห็นสิ่งที่ดีกว่าเท่านั้น. วันนี้พระองค์ทรงพบสิ่งนั้นจึงทุ่มเทพระทัยถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนา อุปัฏฐาก อุปถัมภ์ กำจัดเสี้ยนหนามและเผยแพร่ ดังที่ปรากฏความยิ่งใหญ่มาแล้วในอดีตกาลนั้น
หากสามเณรหรือภิกษุรูปใดก็ตาม ไม่เข้าถึงธรรมพุทธศาสนาจะยืนยาวถึงวันนี้หรือไม่ วิกฤตศรัทธาที่เกิดกับชาวพุทธในปัจจุบัน เรื่องราวของสามเณรรูปนี้น่าจะเป็นคำตอบได้อย่างชัดเจน
ปกครองคนด้วยธรรมจึงจะนำประเทศชาติเจริญ
เมื่อพระเจ้าอโศกทรงนับถือพระพุทธศาสนาแล้วทรงผนวชอยู่ระยะหนึ่ง ทรงบำเพ็ญตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ทรงเลิกเสวยน้ำจัณฑ์ เลิกเสวยเนื้อสัตว์ เสวยผักผลไม้แทน
พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาแนวคิดในพระพุทธศาสนาจงพบว่า :- หลักธรรมวินัยคือการเอาชนะด้วยธรรม เป็นหลักในการปกครองและบริหารประเทศที่ดีที่สุด เพราะพระองค์เคยรู้สึกเสียพระทัยอย่างยิ่งที่ทรงเห็นผู้คนล้มตายจากการเอาชนะด้วยกำลังทหาร จากการทำสงครามขยายอาณาจักร
การเอาชนะหรือปกครองคนที่ดีที่สุดคือการนั่งอยู่ในใจคนไม่ใช่การนั่งอยู่บนหัวคน การจะครองใจคนอื่นได้ต้องครองใจตนให้ได้ก่อน เมื่อพระองค์ศึกษาจนมีความรอบรู้และแตกฉานในหลักธรรม ทรงชักชวนให้อาณาประชาราษฎร์ปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เมื่อผู้นำประเทศประพฤติธรรมต่อการบริหารบ้านเมืองประชาชนมีแบบอย่างที่ดีไม่นานพระองค์ก็ทรงขยายอาณาเขตประกาศความยิ่งใหญ่โดยเอา กองทัพธรรมนำหน้าเรียกว่า :- ธรรมวินัย ด้วยการสร้างความสุข ความสงบและสันติในทุก ๆ ที่ที่เสด็จไปถึง
พระพุทธศาสนาสอนระบอบธรรมาธิปไตย
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงปฏิวัติการปกครองบ้านเมืองโดยใช้หลักธรรมในการบริหารจัดการจนประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งการปกครองระบอบธรรมาธิปไตยนี้เคยสร้างสรรค์บนดินให้เกิดขึ้นในรัฐวัชชีของเจ้าลิจฉวีมาแล้ว. มาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงสร้างสังคมธรรมาธิปไตยให้เป็นสังคมในอุดมคติที่ใฝ่ฝันหากันขึ้นมาอีกครั้งด้วยหลักดังนี้ 1. การปกครองด้วยระบอบธรรมาธิปไตยโดยใช้หลักธรรมวิชัย 2. ให้งดเว้นจากมิจฉาชีพดำรงชีวิตโดยหลักสัมมาชีพ 3. ให้ประชาชนศึกษาและปฏิบัติธรรมโดยมีพระองค์เป็นแบบอย่าง 4. ปฏิวัติสังคมใหม่ทรงยกเลิกพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีการเบียดเบียนทำลายชีวิตสัตว์ 5. ทรงใช้ระบบรัฐสวัสดิการและส่งเสริมสาธารณูปโภคต่าง ๆ แก่ประชาชน 6. ให้นำเอาหลักมงคลสูตร สิงคาลสูตร เข้ามาใช้ เพื่อให้ตนปฏิบัติต่อกันตามสมควรแก่ฐานะด้วยจิตเมตตา 7. ทรงใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาใกล้ชิดกับประชาชน ทรงเน้นให้เห็นบาปบุญคุณโทษทั้งในภพนี้และภพหน้า
ความสำเร็จของการสร้างสังคมด้วยระบอบธรรมาธิปไตยมีเคล็ดลับง่าย ๆ 1. เพียงแค่ผู้นำเข้าถึงหลักธรรมจริง 2. ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ตัวอย่างจากเจ้าลิจฉวีจนถึงยุคพระเจ้าอโศกมหาราชมีการปฏิบัติตนตามหลักธรรม จนเข้าถึงแก่นแท้ของธรรม ปัญญาจากหลักธรรมทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นวิธีการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างทะลุปรุโปร่งและตรงจุด ไม่ต่างจากมองลูกแก้วใส ๆ บนฝ่ามือ
รัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นหลักปกครองสูงสุดจึงมีเพียง 7 ข้อเท่านั้นก็สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด เมื่อพระองค์และอาณาประชาราษฎร์ประพฤติธรรมจริง บ้านเมืองก็สงบร่มเย็นทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องการจะเข้ามามีสัมพันธไมตรีด้วย ยอมตนเข้ามาเป็นขอบขัณฑสีมาเดียวกันกับพระองค์
กำเนิดนิโครธกุมาร *4
หลายคนคงสงสัยว่าสามเณรรูปนี้มีตัวตนจริงหรือไม่ ความจริงสามเณรรูปนี้เป็นพระญาติของพระเจ้าอโศกกล่าวคือ สุมนราชกุมาร คือพระบิดาของสามเณร เป็นพระเชษฐาคือพี่ชาย ของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งทั้ง 2 พระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้าพินทุสาร
ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ก่อนที่พระเจ้าอโศกจะขึ้นครองราชย์ เมื่อพระเจ้าพินทุสารชราภาพลง พระเจ้าอโศกซึ่งถูกส่งไปเป็นอุปราชต่างเมือง จึงกลับมาทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระบิดาแล้วสั่งจับเครือญาติทั้งหมดประหารชีวิตรวมทั้งพระบิดาของสามเณรนิโครธด้วย ในช่วงเวลานั้นพระนางสุมนาคือพระมารดาของสามเณรทรงพระครรภ์อยู่พอดี พระนางปลอมพระองค์หนีรอดออกมาได้และหลบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านจัณฑาล ขณะกำลังเสด็จผ่านต้นไทรใหญ่พระนางได้ยินเสียงเรียกให้เข้าไปหลบภัยในศาลาหลังหนึ่งพระนางจึงเสด็จเข้าไปตามเสียงที่ได้ยินนั้น แต่เมื่อเข้าไปภายในศาลากับไม่พบผู้ใดจงทราบทันทีว่า เสียงนั้นคือเทวดาที่รักษาต้นไทรใหญ่ พระนางได้ประสูติพระโอรสภายในศาลานั้นและตั้งพระนามพระโอรสว่านิโครธ เพราะประสูติใกล้ต้นไทรใหญ่
การบรรพชาของนิโครธกุมาร
เเม้พระนางสุมนาจะมีวรรณะเป็นกษัตริย์ แต่การได้อยู่ท่ามกลางวรรณะจัณฑาล ที่มีแต่ความรัก ความเอื้ออาทรของหัวหน้าหมู่บ้านและลูกบ้านเช่นนี้ ทำให้พระนางลืมวรรณะกษัตริย์ไปเสียสิ้น วันเวลาแห่งความสุขของพระนางและพระโอรสผ่านไปเร็วมาก ชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นพระโอรสก็มีพระชนมายุได้ 7 พรรษา. ในเช้าวันหนึ่งมีพระไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านจัณฑาลและแสดงธรรมโปรดคนในหมู่บ้าน พระนางสุมนาและพระโอรสได้นั่งฟังธรรมรวมอยู่ด้วย ปกติของเด็กวัยนี้ย่อมชอบวิ่งเล่นซุกซนจะมานั่งฟังธรรมคงเป็นไปได้ยาก แต่เนื่องจากได้รับการอบรมเกี่ยวกับขัตติยามารยาทจากพระมารดา อีกทั้งเป็นบุญบารมีของพระโอรสที่เคยสั่งสมมาจนเต็มบริบูรณ์แล้วจึงนั่งพิจารณาธรรมด้วยอาการสงบนิ่ง
เมื่อการแสดงธรรมจบลง นิโครธกุมาร
มีความเลื่อมใสยิ่งนัก พระมหาวรุณเถระซึ่งมาบิณฑบาตรและแสดงธรรมในวันนั้นก็ทราบว่าบารมีของพระโอรสเต็มแล้วรอเพียงให้มีพระชนม์ได้ 7 พรรษาเท่านั้นจึงจะบรรพชาเป็นสามเณรได้ เมื่อนิโครธกุมารขอบรรพชาพระมารดาก็ทรงอนุญาตตามประสงค์
สามเณรนิโครธบรรลุอรหันต์
เเม้พระโอรสมีพระชนมายุเพียง 7 พรรษาเท่านั้น แต่เมื่อเป็นความปรารถนาที่จะบรรพชา พระมารดาถึงจะทรงห่วงใยดุจดั่งดวงฤทัยของพระนางก็ตามที จำต้องอนุโลมเพื่อความสุขของพระโอรส
ในพิธีปลงผมพระอุปัชฌาย์ได้ให้ ตะจะปัญจะกรรมฐาน*5 ไว้บริกรรมในขณะปลงผม
ตำนานกล่าวไว้ว่า :- พอปลงผมเสร็จเท่านั้น นิโครธกุมารก็บรรลุอรหันต์เพราะอาศัยบารมีที่สั่งสมมาเต็มรอบแล้ว. เช้าตรู่ของวันหนึ่งเป็นวันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ถึงความศรัทธาและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักร. เมื่อสามเณรนิโครธทำอาจาริยวัตร *6 เเละอุปัชฌายวัตร*7เสร็จแล้ว ตัวท่านเองออกไปบิณฑบาตที่บ้านพระมารดา แต่ต้องผ่านวังหลวงไป ขณะที่ท่านเดินผ่านวังหลวง ก็มีทหารมาคลุกเข่าพนมมือเรียนท่านว่าพระเจ้าอโศกให้มานิมนต์เข้าไปในวัง
เรื่องราวต่อจากนั้นก็มีเนื้อหาดังปรากฏแล้วในเนื้อเรื่องสามเณรน้อยผู้กู้ศรัทธา ตามที่เล่ามาแต่ต้น
สามเณรนิโครธ เกิดหลังพุทธปรินิพพานหลายร้อยปี แต่คุณูปการแห่งอรหันตคุณไม่ต่างจากครั้งพุทธกาลที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
การเอาประวัติของท่านมาเล่า นำมาเสนอ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า :- การจะธำรงพระธรรมวินัยไว้ให้ได้นานที่สุด ต้องอาศัยสติปัญญาของผู้เข้าถึงธรรมจริง นอกจากนั้นแล้วคงไม่มีอะไรต่างไปจากการเอากิเลสไปสอนกิเลส หรือ เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน จะมีคุณค่าและประโยชน์อันใด
เรื่องราวของสามเณรนิโครธกับพระเจ้าอโศกไม่ได้จบเพียงเท่านี้ แต่นำเสนอเพียงบางส่วนเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าการจะรักษาทะนุบำรุงพระศาสนาไว้ มีเพียงสิ่งเดียวคือศรัทธา เราจะสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเข้าถึงแก่นแท้แห่งธรรมะเท่านั้น.
✳หมายเหตุ ความรำพึงภายในใจที่พระเจ้าอโศก มหาราช เมื่อแรกเริ่มเห็น สามเณรนิโครธกำลังบิณฑบาต ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า :- คนส่วนใหญ่มีใจฟุ้งซ่าน มักวิ่งพล่านไปไม่ต่างจากฝูงเนื้อ แต่สามเณรน้อยรูปนี้ กิริยามารยาทสงบเรียบร้อยมีความสำรวมงดงามยิ่งนักแสดงว่าภายในใจไม่มีความฟุ้งซ่าน น่าจักมีโลกุตตรธรรมแน่นอน
เชิงอรรถ *1 พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่มที่ 1 หน้า 81-86 *2 อันเตวาสิก คือ ศิษย์ที่อยู่ในปกครองของอาจารย์ *3 สัทธิวิหาริก คือ ภิกษุที่อยู่ในการดูแล ของพระอุปัชฌาย์ *4 นิโครธ อ่านว่า นิ - โครด หมายถึงต้นไทร *5 ตจปัญจกัมมัฏฐาน อ่านว่า ตะ-จะ-ปัน-จะ-กะ-กำ-มะ-ถาน คือ กัมมัฏฐานที่พระพุทธเจ้าหรือพระอุปัชฌาย์ ทรงสอนหรือบอกให้พิจารณาส่วนของร่างกาย 5 อย่างได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล เป็นบทกัมมัฏฐาน ที่ต้องบอกแก่ผู้บวชเป็นสามเณรและภิกษุ ผู้บวชใหม่ *6 อาจาริยวัตร คือ กิจที่ควรปฏิบัติต่ออาจารย์ *7 อุปัชฌายวัตร คือ กิจที่ควรปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์
สัตบุรุษผู้มีศรัทธา ทราบธรรมแล้ว ย่อมบูชาบรรพชิต ผู้ไม่ครองเรือน ผู้ไม่มีบาป ประพฤติพรหมจรรย์
จากพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่มที่ 15 ข้อ 128 หน้า 190
0 comments: