วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง

กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง

"ธิรตฺถุ  กณฺฑินํ  สลฺลํ,     ปุริสํ คาฬฺหเวธินํ;

ธิรตฺถุ  ตํ  ชนปทํ,     ยตฺถิตฺถี  ปริณายิกา;

เต  จาปิ  ธิกฺกิตา [1]  สตฺตา,    เย  อิตฺถีนํ  วสํคตาติ ฯ

เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ยิงปล่อยไปเต็มกำลัง, เราติเตียน ชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ,  อนึ่ง สัตว์เหล่าใด ตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย, สัตว์เหล่านั้นบัณฑิตติเตียนแล้ว."

1) [ธิกฺกตา (?)]

กัณฑินชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภการประเล้าประโลมของภรรยาเก่า จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  ธิรตฺถุ  กณฺฑินํ  สลฺลํ  ดังนี้. 

การประเล้าประโลมนั้น จักมีแจ้งในอินทรียชาดก อัฏฐกนิบาต. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้กะภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อนเธออาศัยมาตุคามนี้ ถึงความสิ้นชีวิต ร้องเรียกอยู่ที่พื้นถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว“ ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงประกาศเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดให้ปรากฏแล้ว. 

ก็เบื้องหน้าแต่นี้ไป เราจักไม่กล่าวถึงการที่ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนและความที่เหตุถูกระหว่างภพปกปิด จักกล่าวเฉพาะคำมีประมาณเท่านี้ว่า อตีตํ อาหริ แปลว่า ทรงนำอดีตนิทานมาว่า ดังนี้เท่านั้น.  แม้เมื่อกล่าวคำมีประมาณเท่านี้ ก็พึงประกอบเหตุการณ์นี้ทั้งหมด คือ การทูลอาราธนาการเปรียบเทียบเหมือนนำพระจันทร์ออกจากกลุ่มเมฆและความที่เหตุถูกระหว่างภพปกปิดไว้ โดยนัยดังกล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละแล้วพึงทราบไว้. 

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ามคธครองราชสมบัติอยู่ในพระนครราชคฤห์แคว้นมคธ ในสมัยข้าวกล้าของชนชาวมคธ พวกเนื้อทั้งหลายมีอันตรายมากเนื้อเหล่านั้นจึงเข้าไปยังเนินเขา. เนื้อภูเขาที่อยู่ในป่าตัวหนึ่ง ทำความสนิทสนมกับลูกเนื้อตัวเมียชาวบ้านตัวหนึ่ง ในเวลาที่พวกเนื้อเหล่านั้นลงจากเชิงเขากลับมายังชายแดนบ้านอีกได้ลงมากับเนื้อเหล่านั้นนั่นแหละ. เพราะมีจิตปฏิพัทธ์ในลูกเนื้อตัวเมียนั้น.

ลำดับนั้น ลูกเนื้อตัวเมียนั้นจึงกล่าวกะเนื้อภูเขานั้นว่า „ข้าแต่เจ้า ! ท่านแลเป็นเนื้อภูเขาที่เขลา ก็ธรรมดาชายแดนของบ้าน น่าระแวง มีภัยเฉพาะหน้า, ท่านอย่าลงมากับพวกเราเลย“. เนื้อภูเขานั้น ไม่กลับเพราะมีจิตปฏิพัทธ์ต่อลูกเนื้อตัวเมียนั้นได้มากับลูกเนื้อตัวเมียนั้นนั่นแหละ. 

ชนชาวมคธรู้ว่า „บัดนี้ เป็นเวลาที่พวกเนื้อลงจากเนินเขา“ จึงยืนในซุ้มอันมิดชิดใกล้หนทาง ในหนทางที่เนื้อทั้งสองแม้นั้นเดินมา มีพรานคนหนึ่งยืนอยู่ในซุ้มอันมิดชิด.   ลูกเนื้อตัวเมียได้กลิ่นมนุษย์ จึงคิดว่า „จักมีพรานคนหนึ่งยืนอยู่ จึงทำเนื้อเขลาตัวนั้น ให้อยู่ข้างหน้า ส่วนตนเองอยู่ข้างหลัง. 

นายพรานได้ท่าเนื้อตัวนั้นให้ล้มลงตรงนั้นนั่นเอง ด้วยการยิงด้วยลูกศรครั้งเดียวเท่านั้น. ลูกเนื้อตัวเมียรู้ว่า เนื้อนั้นถูกยิง จึงโดดหนีไปโดยการไปด้วยกำลังเร็วปานลม.  นายพรานออกจากซุ้มชำแหละเนื้อก่อไฟ ปิ้งเนื้ออร่อยบนถ่านไฟอันปราศจากเปลว เคี้ยวกินแล้วดื่มน้ำ หาบเนื้อที่เหลือไปด้วยไม้คานมีหยาดเลือดไหลได้ไปยังเรือน ให้พวกเด็ก ๆยินดีแล้ว. 

ในกาลนั้น  พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นเทวดาอยู่ในป่าชัฏแห่งนั้น พระโพธิสัตว์นั้น เห็นเหตุการณ์นั้น จึงคิดว่า „เนื้อโง่ตัวนี้ตาย เพราะอาศัยมารดาเพราะอาศัยบิดาก็หาไม่ โดยที่แท้ตายเพราะอาศัยกาม, จริงอยู่ เพราะกามเป็นนิมิตเหตุ สัตว์ทั้งหลายจึงถึงทุกข์นานัปการมีการตัดมือเป็นต้นในสุคติและการจองจำ ๕ ประการเป็นต้นในทุคติชื่อว่าการทำทุกข์คือความตายให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ก็ถูกติเตียนในโลกนี้, แม้ชนบทใดมีสตรีเป็นผู้นำ จัดแจงปกครอง ก็ถูกติเตียน, เหล่าสัตว์ผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาตุคาม ก็ถูกติเตียนเหมือนกัน“,    แล้วแสดงเรื่องสำหรับติเตียน ๓ ประการ ด้วยคาถา ๑ คาถาเมื่อเทวดาทั้งหลายในป่าไห้สาธุการแล้วบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นเมื่อจะยังไพรสณฑ์นั้น ให้บันลือขึ้นด้วยเสียงอันไพเราะ จึงแสดงธรรมด้วยคาถานี้ว่า :- 

„เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ผู้ยิ่งไปเต็มกำลัง, เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ,  อนึ่ง สัตว์เหล่าใดตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย, สัตว์เหล่านั้นบัณฑิตก็ติเตียนแล้วเหมือนกัน“. 

ศัพท์ว่า  ธิรตฺถุ  ในคาถานั้น เป็นศัพท์นิบาต ใช้ในความหมายว่า ติเตียน.  ในที่นี้ ศัพท์ว่า ธิรัตถุ นี้นั้น พึงเห็นว่า ใช้ในการติเตียน ด้วยอำนาจความสะดุ้งและความหวาดเสียวจริงอยู่ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ทั้งสะดุ้งและหวาดเสียว จึงกล่าวอย่างนั้น คนที่ชื่อว่ากัณฑี เพราะมีลูกศร. ซึ่งคนผู้มีลูกศรนั้น. ก็ลูกศรนั้นเขาเรียกว่า สัลละ เพราะอรรถว่า เสียบเข้าไปเพราะฉะนั้น ในคำว่า กณฺฑินํ สลฺลํ จึงมีความหมายว่า ผู้มีลูกศรอีกอย่างหนึ่งชื่อว่าผู้มีสัลละเพราะมีลูกศร. ผู้มีลูกศรนั้น. ชื่อว่าคาฬหเวธี ผู้ยิงไปเต็มแรง เพราะเมื่อจะให้การประหารอย่างแรงจึงยิงอย่างเต็มที่ โดย กระทำให้มีปากแผลใหญ่ ผู้ยิงไปอย่างเต็มที่นั้น ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า เราติเตียนคนผู้ประกอบด้วยอาวุธมีประการต่าง ๆ ชื่อว่าสัสละ ลูกศร เพราะวิ่งไปตรง ๆโดยมีสันฐานดังโบโกมุทเป็นผล ผู้ยิงไปอย่างเต็มแรง.   บทว่า  ปริณายิกา ได้แก่ เป็นใหญ่ คือ เป็นผู้จัดแจง.   บทว่า  ธิกฺกิตา  แปลว่า ติเตียนแล้ว. คำที่เหลือในคาถานี้ง่ายทั้งนั้น. 

ก็เบื้องหน้าแต่นี้ไปข้าพเจ้าจักไม่กล่าวคำแม้มีประมาณเท่านี้ จักพรรณนาคำที่ไม่ง่ายนั้น ๆเท่านั้น.

พระโพธิสัตว์ครั้นแสดงเรื่องสำหรับติเตียน ๓ ประการ ด้วยคาถาเดียวอย่างนี้แล้ว ทำป่าให้บันลือขึ้นแล้วแสดงธรรมด้วยการเยื้องกรายดังพระพุทธเจ้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย. ในเวลาจบสัจจะภิกษุผู้กระสันจะสึก ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพระศาสดาตรัสเรื่อง ๒ เรื่อง สืบต่ออนุสนธิกันแล้วทรงประชุมชาดก ก็เบื้องหน้าแต่นี้ไปข้าพเจ้าจะไม่กล่าวคำว่า ตรัสเรื่องสองเรื่องนี้ จะกล่าวเฉพาะคำมีประมาณเท่านี้ว่า ทรงสืบต่ออนุสนธิ. ก็คำนี้แม้จะไม่กล่าวไว้ ก็พึงประกอบถือเอาโดยนัยดังกล่าวไว้ในหนหลังนั่นแล. เนื้อภูเขาในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุกระสันจะสึกในบัดนี้ ลูกเนื้อตัวเมียในครั้งนั้นได้เป็นภรรยาเก่าในบัดนี้ ส่วนเทวดาผู้เห็นโทษในกามทั้งหลายในครั้งนั้นได้เป็นเราแล.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: