วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๕๐)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๕๐)  ปัญหาที่ ๗, ยักขปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ธรรมดา ว่า ยักษ์มีอยู่ในโลกหรือ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ใช่แล้ว ธรรมดาว่า ยักษ์ ย่อมมีอยู่ในโลก

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็พวกยักษ์นั้นย่อมจุติ จากกำเนิดนั้นหรือ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใช่ พวกยักษ์เหล่านั้นย่อมจุติจากกำเนิดนั้น

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร ซากของยักษ์ที่ตายแล้วเหล่านั้น จึงไม่ปรากฏ แม้กลิ่นศพก็ไม่ฟุ้งไป ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ซากของยักษ์ที่ตายแล้วก็ปรากฏอยู่ แม้กลิ่นศพของยักษ์เหล่านั้นก็ฟุ้งไป ขอถวายพระพร ซากของพวกยักษ์ที่ตายแล้ว ย่อมปรากฏเป็นซากแมลงบ้าง ย่อมปรากฏเป็นซากหนอนบ้าง ย่อมปรากฏซากเป็นมดบ้าง ย่อมปรากฏเป็นซากตั๊กแตนบ้าง ย่อมปรากฏเป็นซากงูบ้าง ย่อมปรากฏเป็นซากแมลงป่องบ้าง ย่อมปรากฏเป็นซากตะขาบบ้าง ย่อมปรากฏเป็นซากนกบ้าง ย่อมปรากฏเป็นซากเนื้อบ้าง

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ยกเว้นผู้มีปัญญาเช่นอย่างท่านแล้ว ใครอื่นเล่า ถูกถามแล้วจะอ่านเฉลยปัญหานี้ได้.  จบยักขปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาเกี่ยวกับยักษ์ ชื่อว่า ยักขปัญหา.   พระเจ้ามิลินท์ตรัสคำว่า “ยักษ์” ทรงหมายเอาพวกภุมเทวดา ซึ่งนับเนื่องในเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นบริวารของท้าวจตุโลกบาล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาที่ ๘, อนวเสสสิกขาปทปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บรรดาอาจารย์ของพวกแพทย์ทั้งหลายแต่ปางก่อนมีอยู่ เช่นว่า ท่านนารทะ ท่านธัมมันตรี ท่านอังคีรสะ ท่านนกปิละ ท่านกัณฑรัคคิ ท่านสามะ ท่านอุตะระ ท่านปุพพกัจจายนะ, อาจารย์เหล่านี้แม้ทุกท่าน รู้จักความเกิดขึ้นแห่งโรค เหตุแห่งโรค สภาวะแห่งโรค วิธีบำบัด กิจที่ควรทำ และโรคที่รักษาสำเร็จหรือไม่สำเร็จได้ทุกอย่างในคราวเดียวกัน เช่นว่า โรคเท่านี้ จะเกิดขึ้นในร่างกายนี้ เป็นต้น เหมือนอย่างผูกเส้นด้ายทำให้จับกันเป็นพวงๆ ในคราวเดียวกัน ฉะนั้น อาจารย์เหล่านี้ทุกท่านหาเป็นสัพพัญญูไม่ แต่เพราะเหตุไร พระตถาคตผู้ทรงเป็นพระสัพพัญญู รู้กิจที่ควรทําในอนาคต กำหนดได้ว่า “จะมีสิกขาบทที่เราต้องบัญญัติเท่านั้น ในวัตถุเท่านี้” (ในเรื่องนี้ – ณัฏฐ) ดังนี้แล้วก็ยังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทให้หมดสิ้นเสียเลยเล่า ต่อเมื่อวัตถุ (เรื่องราว) เกิดขึ้นแล้ว ความผิดแพร่ไปมากแล้ว คนทั้งหลายติเตียนแล้ว จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายในการครั้งนั้นๆ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระตถาคตทรงทราบความข้อนี้ว่า ในสมัยนี้จะมีสิกขาบทที่เราต้องบัญญัติในคนทั้งหลายเหล่านี้ อยู่ ๑๕๐ กว่าข้อ ดังนี้ แต่ทว่า พระตถาคตทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ถ้าหากเราจะบัญญัติสิกขาบททั้ง ๑๕๐ กว่าข้อ คราวเดียวกันไซร้ มหาชนก็จะถึงความพรั่นพรึงใจว่า

“สิกขาบทที่ต้องรักษาในพระศาสนานี้ มีมากมาย เจ้าประคุณเอ๋ย อันการที่จะบวชในพระศาสนาของพระสมณโคตมะ เป็นกิจที่ทำได้ยากเสียจริงหนอ ดังนี้แล้ว แม้อยากบวชก็ไม่กล้าบวช ทั้งจะไม่เชื่อคำของเราด้วย เมื่อไม่เชื่อถือ พวกคนเหล่านั้นก็จะเป็นผู้ไปอบาย เพราะฉะนั้น เมื่อมีวัตถุเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำคนเหล่านั้นให้เข้าใจด้วยธรรมเทศนาแล้วจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อมีโทษปรากฏแล้วเท่านั้นดังนี้”

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคตยิ่งใหญ่เพียงใด ข้อนี้จัดว่าเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จัดว่าเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้านาคเสน ข้อนี้ เป็นอย่างที่ท่านกล่าวมานี้ ก็เป็นอันว่าพระตถาคตทรงไขความข้อนี้ไว้ดีแล้วว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายได้สดับว่า สิกขาบทที่พึงศึกษาในพระศาสนานี้มีมากมาย ดังนี้แล้ว ก็จะพึงถึงความพรั่นพรึง แม้สักคนหนึ่งก็ไม่กล้าบวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบอนวเสสสิกขาปทปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาเกี่ยวกับสิกขาบทที่ไม่มีส่วนเหลือ ชื่อว่า อนวเสสสิกขาปทปัญหา.   คำว่า รู้จักความเกิดขึ้นแห่งโรค เป็นต้น ความว่า รู้จักความเกิดขึ้นแห่งโรค ว่าเวลานี้มีโรคชื่อนี้เกิดขึ้นแล้ว รู้จักเหตุแห่งโรค ว่าโรคนี้เกิดเพราะอากาศที่เย็น เพราะอากาศที่ร้อน เพราะอาหาร เพราะการทำตนเอง เพราะถูกผู้อื่นทำเป็นต้น รู้จักสภาวะแห่งโรค คือรู้จักอาการของโรค รู้จักสมมติฐานของโรค ว่าโรคนี้มีดีเป็นสมุฏฐาน โลกนี้มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน เป็นต้น รู้จักวิธีบำบัด ว่าโรคนี้ต้องบำบัดรักษาด้วยยาชื่อนี้ เป็นต้น รู้จักกิจที่ควรทำ คือรู้จักกิจที่หมอควรทำต่อคนไข้ หรือที่คนไข้ควรทำเอง เพื่อให้หายโรคหายเร็ว มีการทำความสะอาดแผล การไม่เสพของแสลง เป็นต้น

คำว่า โรคที่รักษาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ คือโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ โรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้.   คำว่า ทุกอย่างในคราวเดียวกัน คือ ย่อมรู้จักความเกิดขึ้นแห่งโรคเป็นต้น ได้ทุกอย่างในคราวที่วินิจฉัยคนไข้ในคราวเดียวกัน.   คำว่า ในวัตถุเท่านี้ คือ ในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ครั้งนั้นๆ ที่ทรงปรารภเป็นเหตุบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆ ทุกเรื่องรวมจำนวนเท่านี้.  คำว่า คนทั้งหลายติเตียนแล้ว คือคนทั้งหลายติเตียนว่า “ไฉนพระสัมมนาศักยบุตรผู้นี้จึงได้ทำอย่างนี้ ผู้เป็นสมณะไม่น่าทำอย่างนี้” ดังนี้เป็นต้น.   คำว่า เมื่อไม่เชื่อ พวกคนเหล่านั้นก็จะเป็นผู้ไปอบาย คือเมื่อไม่เชื่อก็ไม่ประพฤติตามที่ทรงบัญญัติไว้ เมื่อไม่ประพฤติตามก็เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ก็ย่อมไปอบายภูมิ ๔ หลังจากตายได้.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ ๙, สูริตยปนปัญหา (แสงร้อนแห่งพระอาทิตย์)

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระอาทิตย์นี้ส่งแสงแรงกล้าอยู่ตลอดกาลทั้งปวงหรือ หรือว่า บางครั้งก็ส่งแสงอ่อนบ้าง ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระอาทิตย์นี้ส่งแสงแรงกล้าตลอดกาลทั้งปวง ในการไหนๆ ก็ไม่ส่งแสงอ่อน

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระอาทิตย์ส่งแสงแรงกล้าอยู่ตลอดกาลทั้งปวงไซร้ เพราะเหตุไรในการบางคราวก็ส่งแสงแรงกล้า ในการบางคราวก็ส่งแสงอ่อนอยู่อย่างนี้เล่า ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระอาทิตย์นี้ มีโรคอยู่ ๔ อย่างเหล่านี้ พระอาทิตย์ถูกโรคอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งบรรดาโรคเหล่านี้ บีบคั้นแล้วก็ย่อมส่งแสงอ่อนไป โรค ๔ อย่างอะไรบ้าง ?

ขอถวายพระพร ก้อนเมฆหนาๆ ก็เป็นโรคของพระอาทิตย์อย่างหนึ่ง พระอาทิตย์ถูกโรคคือก้อนเมฆหนาๆ นั้นบีบคั้น คือปิดบังแล้ว ก็ย่อมส่งแสงอ่อนไป.   ขอถวายพระพร หมอกก็เป็นโรคของพระอาทิตย์อย่างหนึ่ง พระอาทิตย์ถูกโรคคือหมอกนั้นบีบคั้นแล้วก็ย่อมส่งแสงอ่อนไป.   ขอถวายพระพร เมฆฝนก็เป็นโรคของพระอาทิตย์อย่างหนึ่ง พระอาทิตย์ถูกโรคคือเมฆฝนนั้นบีบคั้นแล้ว ก็ย่อมส่งแสงอ่อนไป

ขอถวายพระพร เทพราหูก็เป็นโรคของพระอาทิตย์อย่างหนึ่ง พระอาทิตย์ถูกโรคคือเทพราหูนั้นบีบคั้นแล้วก็ย่อมส่งแสงอ่อนไป.   ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระอาทิตย์มีโรคอยู่ ๔ อย่างเหล่านี้แล ซึ่งพระอาทิตย์ถูกโรคอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งบรรดาโรคเหล่านี้ บีบคั้นแล้วก็ส่งแสงอ่อนไป

พระเจ้ามิลินท์, น่าอัศจรรย์จริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ พระอาทิตย์แม้ว่าถึงพร้อมด้วยเดช ก็จะยังมีโรคเกิดขึ้นได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงสัตว์อื่นทั้งหลายเล่า พระคุณเจ้า ยกเว้นบุคคลผู้มีความรู้เช่นท่านที่แล้ว บุคคลอื่นหามีอันจำแนกปัญหานี้ได้ไม่.   จบสูริตยปนปัญหาที่ ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาเกี่ยวกับแสงร้อนแห่งพระอาทิตย์ (แสงแดด) ชื่อว่า สูริตยปนปัญหา.  คำว่า พระอาทิตย์นี้มีโรคอยู่ ๔ อย่าง คือ พระอาทิตย์มีสิ่งเบียดเบียนบีบคั้นอยู่ ๔ อย่าง ซึ่งเป็นเหตุทำให้ส่งแสงอ่อนไป ความว่า ความจริงพระอาทิตย์ส่งแสงแรงกล้าตลอดกาลทั้งปวง จะได้ส่งแสงอ่อนไปในการบางคราวบ้างก็หาไม่ แต่เพราะมีโรค ๔ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งบีบคั้นโดยการปิดบังเป็นต้นแล้ว ก็ปรากฏราวกับว่า ส่งแสงอ่อนไป.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาที่ ๑๐, กฐินตปนปัญหา (แสงแดดแผดเผา) 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร ในฤดูหนาวพระอาทิตย์จึงส่งแสงแรงกล้า แต่ในฤดูร้อนไม่ได้ส่งแสงแรงกล้าอย่างนั้น

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในฤดูร้อนธุลีขี้ฝุ่นมิได้ถูกลมขจัด (จนหมดสิ้นไป) ละอองถูกลมตีให้ฟุ้งขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า ทั้งในอากาศก็มีแต่ก้อนเมฆหนาๆ ลมแรงพัดไปแรง สิ่งที่มีอย่างต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด รวมกันเข้าก็ปิดบังรัศมีพระอาทิตย์ไว้ เพราะเหตุนั้น ในฤดูร้อน พระอาทิตย์จึงส่งแสงอ่อน

ขอถวายพระพร ส่วนว่า ในฤดูหนาว แผ่นดินเบื้องล่างเย็น เบื้องบนก็มีเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ธุลีขี้ฝุ่นนิ่งสงบอยู่ ทั้งละอองก็เคลื่อนไปช้าๆ บนท้องฟ้า ทั้งอากาศก็ปราศจากเมฆฝน ทั้งลมก็พัดไปอ่อนๆ รัศมีพระอาทิตย์ย่อมเป็นธรรมชาติที่หมดจด เพราะสิ่งเหล่านี้มีความสงบระงับ เมื่อพระอาทิตย์นั้น พ้นจากสิ่งขัดข้องทั้งหลาย แสงแดดยอมแผดกล้ายิ่งนัก ขอถวายพระพร ที่กล่าวมานี้เป็นเหตุผลในเรื่องนี้ ที่ทำให้พระอาทิตย์ส่งแสงแรงกล้าในฤดูหนาว ในฤดูร้อนมิได้ส่งแสงแรงกล้าอย่างนั้น

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พระอาทิตย์พ้นจากเสนียดจัญไรทั้งปวงได้ ก็ย่อมส่งแสงแรงกล้า ประจวบกันเข้ากับเมฆฝนเป็นต้น ก็ไม่ส่งแสงแรงกล้า.  จบกฐินตปนปัญหาที่ ๑๐

ถ้าไม่อธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาเกี่ยวกับแสงแดดแผดกล้า ชื่อว่า กฐินตปนปัญหา คำพูดที่เหลือชัดอยู่แล้ว.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐.  จบนิปปปัญจวรรคที่ ๒.  ในวรรคนี้มี ๑๐ ปัญหา.  จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๕๐)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20)(ตอนที่ 19)(ตอนที่ 18)(ตอนที่ 17)(ตอนที่ 16) (ตอนที่ 15)(ตอนที่ 14) (ตอนที่ 13)(ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11)(ตอนที่ 10) (ตอนที่ 9)(ตอนที่ 8)(ตอนที่ 7)(ตอนที่ 6)(ตอนที่ 5) (ตอนที่ 4)(ตอนที่ 3) (ตอนที่ 2) (ตอนที่ 1) ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: