วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“อย่ามัวโทษตนหรือคนอื่นเลย เพราะสุขหรือทุกข์เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย”

“อย่ามัวโทษตนหรือคนอื่นเลย เพราะสุขหรือทุกข์เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย”

พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานนี้ว่า  “เธอทั้งหลายได้รับสุขและทุกข์ ในบ้าน (หรือ) ในป่าแล้ว  ก็ไม่ควรใส่ใจสุขและทุกข์นั้นว่า “มีสาเหตุมาจากตนหรือคนอื่น”  ผัสสะทั้งหลายจะสัมผัสได้ก็เพราะอาศัยอุปธิ  เมื่อไม่มีอุปธิ ผัสสะทั้งหลายจะสัมผัสได้อย่างไร” ดังนี้

อธิบายความ

คำว่า “ได้รับสุขและทุกข์” หมายความว่า  ได้เสวยสุขและทุกข์ในที่ใดที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือป่า หรือเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุแห่งสุขและทุกข์เหล่านั้นแล้ว  พวกท่านอย่าตั้งสุขและทุกข์นั้นทั้งจากตนทั้งจากผู้อื่นเลย (ไม่ให้คิด) ว่า “เราได้รับสุข ได้รับทุกข์ (หรือ) สุขของเรา ทุกข์ของเรา (หรือว่า) สุขทุกข์นี้คนอื่นให้เกิดแก่เรา”

ถามว่า เพราะเหตุไร ?

ตอบว่า เพราะในขันธบัญจก (ในขันธ์ ๕) นี้ ไม่มีสิ่งอะไรๆ ที่ควรจะเห็นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา, ว่าเป็นคนอื่น หรือว่าเป็นของคนอื่น  โดยเฉพาะสังขาร (ร่างกาย) อย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้นตามปัจจัยแล้วก็แตกดับไปทุกๆ ขณะ.   อนึ่ง มิใช่เฉพาะสุขและทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น โดยที่แท้ โลกธรรมทั้ง ๘ คือลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ ทั้งหมดก็เกิดขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประกาศสุญญตะอันมีเงื่อน  ๔  คือ    ๑. ไม่เห็นตัวตนว่ามีอยู่ในที่ไหนๆ      ๒. ไม่เห็นตัวตนของตนที่จะพึงนำเข้าไปในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ   ๓. ไม่เห็นตัวตนของตนในที่ไหนๆ  ๔. ไม่เห็นตัวตนของผู้อื่นที่มีอยู่ในที่ไหนๆ  (ไม่มีเราหรือเขา ไม่มีของเราหรือของเขา อันควรยึดมั่นถือมั่น เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย)

บัดนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุแห่งสุขและทุกข์ไม่ได้ตั้งขึ้นจากตนและจากคนอื่นนั้น (แต่เกิดจากกรรม) จึงตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่า ผัสสะอันเป็นเครื่องอำนวยสุขและอำนวยทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยอุปธิ (อุปธิ ได้แก่ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เมื่อขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ ความสุขหรือความทุกข์ หรือว่าโลกธรรมทั้ง ๘ ก็เกิดขึ้นได้เสมอนั่นเอง

ในที่นี้ แม้อุเบกขาเวทนา (ความวางเฉย) ก็ทรงแสดงแล้วด้วยคำว่า “สุข” เหมือนกัน เพราะมีสภาวะสงบ.  เพราะฉะนั้น พึงขวนขวายเพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลสและขันธ์ ๕ อันเป็นกองทุกข์ทั้งปวงเถิด.

สาระธรรมจากอรรถกถาสักการสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

10/8/64


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: