วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ว่าด้วยภิกษุควรละเว้น (สิ่งที่ควรละเว้น) เพื่ออยู่ในโลกโดยชอบ

ว่าด้วยภิกษุควรละเว้น (สิ่งที่ควรละเว้น) เพื่ออยู่ในโลกโดยชอบ

ในสัมมาปริพพาชนียสูตรมีคำถามว่า “ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลาย ออกจากเรือน (มาบวช) แล้ว พึงละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบได้อย่างไร”

หนึ่งในคำตอบที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบมีดังนี้คือ

“ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้วไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหนๆ หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ” ดังนี้เป็นต้น

อธิบาย

ในพระคาถานั้น “สิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก” มี ๒ อย่าง คือ  ๑. สัตว์  ๒. สังขาร 

คำว่า “สังขาร” คือตัวตน, ร่างกาย, สิ่งที่ประกอบสิ่งของที่ใช้และปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, ในสัตว์และสังขารนั้นภิกษุไม่ควรยึดถือด้วยอุปาทาน ๔ คือ

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าพอใจ   ๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง และเรื่องที่เป็นโลกวัชชะ   

๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี   ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะว่ามีตัวตน คือความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า “มีตัวตน” ที่จะได้ ที่จะเป็น

ในพระคาถานี้พระพุทธองค์ทรงสอน 

(๑) ให้ละราคะและโทสะด้วยการละความยึดมั่นในกามคุณ ๕ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ 

(๒) ให้ละการยึดถือในความเห็น ลัทธิ เรื่องการเมือง และเรื่องที่เป็นโลกวัชชะเป็นต้น เพราะเป็นเหตุแห่งความทะเลาะวิวาท เพราะเราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

(๓) ให้ละอกุศลที่เหลือและวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งอกุศล ด้วยการรักษาศีลเจริญภาวนาเพื่อความหลุดพ้นจากวัฏทุกข์ ดังนี้

สาระธรรมจากสัมมาปริพพาชนียสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

29/8/64




post written by:

Related Posts

0 comments: