ปุปฺผรตฺตชาตกํ - เป็นทุกข์เพราะภรรยาไม่ได้ผ้าย้อมดอกคำ
"นยิทํ ทุกฺขํ อทุํ ทุกฺขํ, ยํ มํ ตุทติ วายโส; ยํ สามา ปุปฺผรตฺเตน, กตฺติกํ นานุโภสฺสตีติ ฯ ความทุกข์เพราะถูกเสียบหลาวนี้ก็ดี ความทุกข์ที่ถูกกาจิกเราก็ดี ก็ไม่เป็นความทุกข์ของเรา ความทุกข์ที่ว่าภรรยาของเราจะไม่ได้นุ่งห่มผ้าย้อมดอกคำเที่ยวเล่นมหรสพในเดือน ๑๒ นี้ เป็นทุกข์ของเรา."
อรรถกถาปุปผรัตตชาดกที่ ๗
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้กระสันรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นยํทํ ทุกฺขํ อทุํ ทุกฺขํ ดังนี้.
ความโดยย่อว่า ภิกษุนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุ เขาว่า เธอกระสันจริงหรือ ?“ กราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า „กระสันเพราะเหตุไร ?“ กราบทูลว่า „เพราะภรรยาเก่าพระเจ้าข้า“ แล้วกราบทูลต่อไปว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หญิงนั้นมีรสมืออร่อย ข้าพระองค์ไม่อาจจะพรากจากกันได้ พระเจ้าข้า“
ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า „ดูก่อนภิกษุหญิงนี้เป็นผู้ทำความพินาศให้แก่เธอ แม้ในปางก่อน เพราะหญิงนั้นเป็นเหตุ เธอก็ต้องถูกเสียบบนหลาว คร่ำครวญถึงแต่นางเท่านั้น ครั้นตายแล้วไปบังเกิดในนรก, บัดนี้ เพราะเหตุไร เธอยังปรารถนานางอีกเล่า ?“ ดังนี้แล้ว ทรงนำเรื่องราวในอดีต มาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอากาสัฏฐเทวดา
ครั้งนั้น ในพระนครพาราณสี มีมหรสพกลางคืนวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ ผู้คนพากันตกแต่งบ้านเมืองสวยงาม ราวกับเทพนคร คนทั้งปวงมุ่งแต่จะเล่นมหรสพ แต่มีคนเข็ญใจผู้หนึ่งมีผ้าเนื้อแน่นอยู่คู่เดียวเท่านั้น เขาเอามาซักให้สะอาด ฟาดลงเลยขาดเป็นริ้วเป็นรอยนับร้อยนับพัน
ครั้งนั้น ภรรยาพูดกะเขาว่า „นาย ฉันอยากจะนุ่งผ้าย้อมดอกคำสักผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่งกอดคอท่านเที่ยวตลอดงานประจำราตรี เดือนกัตติกะ“ เขากล่าวว่า „นางผู้เจริญ เราเข็ญใจจะมีผ้าย้อมดอกคำได้ที่ไหน? เธอจงนุ่งผ้าขาวเที่ยวเล่นเถิด“ นางกล่าวว่า „เมื่อไม่ได้ผ้าย้อมดอกคำฉันจักไม่เล่นกีฬาในงานมหรสพละ เธอพาหญิงอื่นเล่นกีฬาเถิด“
เขากล่าวว่า „นางผู้เจริญ ใยจึงคาดคั้นฉันนักเล่า เราจักได้ผ้าย้อมดอกคำมาจากไหน ?“ นางกล่าวว่า „เมื่อความปรารถนาของลูกผู้ชายมีอยู่ มีหรือจะชื่อว่าไม่สำเร็จ ดอกคำในไร่ดอกคำของพระราชามีมากมิใช่หรือ ?“ เขากล่าวว่า นางผู้เจริญ ที่นั่นมีการป้องกันแข็งแรง เช่นเดียวกับโบกขรณีที่รากษสคุ้มครอง เราไม่อาจเข้าไปใกล้ได้ดอกเธออย่าชอบใจมันเลย จงยินดีตามที่ได้มาเท่านั้นเถิด
นางกล่าวว่า „นาย เมื่อความมืดในยามรัตติกาลมีอยู่ ขึ้นชื่อว่าสถานที่ที่ลูกผู้ชายจะไปไม่ได้ ไม่มีเลย“ เทวดาผู้เที่ยวไปในอากาศผู้หนึ่ง เห็นภัยในอนาคตของเขา ช่วยห้ามเขาไว้. เมื่อนางพูดเซ้าซี้อยู่บ่อย ๆ อย่างนี้ เขาก็เชื่อถือถ้อยคำของนางด้วยอำนาจกิเลส ปลอบนางว่า „นิ่งเสียเถิด นางผู้เจริญอย่าคิดมากไปเลย“ ถึงเวลากลางคืน ก็เสี่ยงชีวิตออกจากพระนครไปสู่ไร่ดอกดำของหลวง ปีนรั้วเข้าไปในไร่
พวกคนเฝ้าไร่ได้ยินเสียงรั้ว ต่างร้องว่า „ขโมย ขโมย“ แล้วล้อมจับได้ ช่วยกันด่ารุมกันซ้อม มัดไว้ ครั้นสว่างแล้ว ก็พาไปมอบพระราชา พระราชารับสั่งว่า „ไปเถิด พวกเจ้าจงเอามันไปเพียบเสียที่หลาว“ คนเหล่านั้นมัดเขาไพล่หลัง พาออกจากเมือง โดยมีคนตีกลองประกาศโทษประหารตามไปด้วยแล้วเอาไปเพียบที่หลาว เขาเสวยเวทนาแสนสาหัส ฝูงกาพากันไปเกาะที่ศีรษะ จิกนัยน์ตาด้วยจะงอยปากอันคมเหมือนปลายคีม. เขาไม่ได้ใส่ใจทุกข์แม้จะสาหัสเพียงนั้นคิดถึงแต่หญิงนั้นถ่ายเดียว รำพึงว่า „เราพลาดโอกาส จากงานประจำราตรีในเดือนกัตติกะ กับนางผู้นุ่งผ้าย้อมด้วยดอกคำใช้แขนทั้งคู่โอบกอดรอบคอ คลอเคลียกัน“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
„ที่เราถูกหลาวเสียบนี้ ก็ไม่เป็นทุกข์ ที่ถูกกาจิกเล่า ก็ไม่ทุกข์ เราทุกข์อยู่แต่ว่า นาง ผิวทองจักไม่ได้นุ่งห่มผ้าย้อมดอกคำ เที่ยวงาน ประจำราตรีแห่งเดือนกัตติกะ.“
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นยิทํ ทุกฺขํ อทุํ ทุกฺขํ ยํ มํ ตุทติ วายโส มีอธิบายว่า ทุกข์ทางกาย ทางใจ อันมีการถูกเสียบที่หลาวเป็นปัจจัยนี้ก็ดี ทุกข์ที่ถูกกาจิกด้วยจะงอยปากแหลมคมประหนึ่งทำด้วยโลหะก็ดี แม้ทั้งหมดนี้ ก็หาใช่ความทุกข์ของเราไม่ โน่นสิเป็นทุกข์ นั่นต่างหากเป็นทุกข์ของเรา.
ทุกข์ชนิดไหนเล่า ? คือทุกข์ที่แม่นางผิวทองจักไม่ได้นุ่งห่มผ้าย้อมดอกคำเที่ยวงานราตรีแห่งเดือนกัตติกะ อธิบายว่า ข้อที่ แม่ประยงค์ทองผู้เป็นภรรยาของเราคนนั้น จักไม่ได้นุ่งผ้าย้อมดอกคำผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง ปกปิดร่างด้วยคู่แห่งผ้าย้อมดอกไม้เนื้อละเอียด ชุดหนึ่งแล้ว กอดคอเราเที่ยวงานประจำคืน เดือนกัตติกะนี้ต่างหากเป็นทุกข์ของเรา ทุกข์นี้เท่านั้น ที่เบียดเบียนเรานัก.
เขาเอาแต่พร่ำเพ้อ บ่นถึงมาตุคามนั้น อยู่อย่างนี้เท่านั้นจนตายไปเกิดในนรก.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า คู่สามีภรรยาในครั้งนั้นได้มาเป็นคู่สามีภรรยาในครั้งนี้ส่วนอากาสัฏฐเทวดา ผู้ยืนประกาศทำเหตุนั้น ให้ประจักษ์ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถาปุปผรัตตชาดกที่ ๗
ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali
0 comments: