วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖)

ถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

ในตอนก่อนๆ ได้ถอดความไว้แล้วว่า แก้วประการที่ ๑ ของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ จักรแก้ว หมายถึงพลังอำนาจทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังอาวุธ แต่เป็นพลังที่ประกอบด้วยธรรม ใช้ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่พลังที่ใช้ไปเข่นฆ่าล้างผลาญใคร.   ต่อไปก็มาว่าถึงแก้วอื่นๆ

๒ และ ๓ ช้างแก้ว-ม้าแก้ว หมายถึงอะไร?

ช้างม้าคือพาหนะ คือการเดินทาง ช้างแก้ว-ม้าแก้วจึงหมายถึงการคมนาคมและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ต้องบริหารจัดการการคมนาคมและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ผู้คนไปมา สินค้ามาไป รวดเร็ว ทันการณ์ ครอบคลุม ทั่วถึง

๔ แก้วมณี หมายถึงอะไร?

ขอตีความว่า คือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือสมบัติส่วนพระองค์ อันนี้จำเป็นต้องมีเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติพระราชภารกิจ ทรัพย์ส่วนของแผ่นดินก็ส่วนหนึ่ง ใช้สำหรับทำนุบำรุงแผ่นดิน บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร จะเอามาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์หาควรไม่ จึงจำเป็นต้องมีทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อใช้จ่ายเป็นการส่วนพระองค์ไว้ด้วย

แต่เรื่องนี้ ถ้าให้นักประวัติศาสตร์มอง เขาก็คงบอกว่า สมัยเก่าก่อนโน้นของทั้งหมดในแผ่นดินเป็นของพระเจ้าดินโดยสิทธิ์ขาดอยู่แล้ว คำว่า “เจ้าแผ่นดิน” ก็บอกความหมายอยู่ จึงไม่มีสิ่งใดที่จะไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตัวของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินมีสิทธิ์ที่จะใช้ทรัพย์ทั้งแผ่นดินไปในการส่วนพระองค์ได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องแบ่งแยกเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้แปลกออกไป  นั่นก็อาจจะเป็นมุมมองของนักประวัติศาสตร์ แต่ขอให้คิดนิดหนึ่งว่า เราคิดของเราอย่างนี้ได้ แต่เราคงคิดแทนพระเจ้าจักรพรรดิไม่ได้ พระเจ้าจักรพรรดิอาจไม่ได้มองทรัพย์ในแผ่นดินอย่างที่นักประวัติศาสตร์มองก็ได้

๕ นางแก้ว หมายถึงอะไร?

นางแก้วคือน้ำเลี้ยงหัวใจตามวิสัยโลก และมักจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแทบทุกเรื่อง  นางแก้วจะไม่เป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวหรือความพินาศ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่เรียกนางแก้ว

๖ ขุนคลังแก้ว หมายถึงอะไร?

ขุนคลังแก้วหมายถึงผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งก็หมายถึงทรัพย์สินของประชาชนนั่นเอง พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของแผ่นดิน คนนี้สำคัญมาก ปากท้องของผู้คนทั้งแผ่นดินฝากไว้กับขุนคลังแก้ว   เป็นพระเจ้าจักรพรรดิไม่ได้ ถ้าบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจไม่เป็น

๗ ขุนพลแก้ว หมายถึงอะไร?

ชื่อนี้บาลีใช้ว่า “ปริณายกรตน” ท่านแปลกันมาว่า “ขุนพลแก้ว” แต่ดูตามรูปศัพท์แล้ว “ขุนพลแก้ว” ศัพท์บาลีควรจะเป็น “เสนาปติรตน” แต่เมื่อท่านไม่ได้ใช้คำนี้ หากแต่ใช้คำว่า “ปริณายกรตน” ก็ชวนให้เข้าใจว่า น่าจะหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกิจการทั้งปวงของแผ่นดินแทนองค์พระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งน่าจะตรงกับตำแหน่งที่เรียกในสมัยนี้ว่า “นายกรัฐมนตรี”  และเมื่อดูตามคำอธิบายของอรรถกถาที่ว่า “ปริณายกรัตนะ” หมายถึงพระราชโอรสองค์ใหญ่ประสูติแต่พระอัครมเหสี สามารถครองราชสมบัติได้ทั้งหมด (อคฺคมเหสิยา  กุจฺฉิมฺหิ  นิพฺพตฺติตฺวา  สกลรชฺชมนุสาสนสมตฺถํ  เชฏฺฐปุตฺตสงฺขาตํ  ปริณายกรตนํ.) ก็ยิ่งชัดเจนว่า บุคคลผู้นี้ก็คือมือรองของพระเจ้าจักรพรรดินั่นเอง ตำแหน่ง “ปริณายกรัตนะ” เป็นตำแหน่งที่ต้องรู้งานบริหารงานทุกด้านของแผ่นดินและเตรียมตัวเป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์ต่อไป ซึ่งในพระสูตรก็บรรยายไว้ชัดเจนว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรพระเจ้าจักรพรรดิก็จะสละราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งขณะนั้นก็คือ “ปริณายกรัตนะ” พระองค์เองออกผนวชเป็นราชฤษี ประพฤติเช่นนี้สืบมาทุกพระองค์

รัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิในมุมมองของผมผู้ศึกษาจักกวัตติสูตรมีความหมายดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้  ท่านผู้อ่าน-ท่านผู้อื่นมีสิทธิ์ถอดความ-ตีความเป็นอย่างอื่นหรือเป็นอย่างใดๆ ก็ได้ ลองทำดูสิครับ เป็นวิธีฝึกสร้างภูมิปัญญาในฐานะนักศึกษาพระสูตรในพระไตรปิฎก  อรรถรสของการศึกษาพระไตรปิฎกอยู่ตรงนี้แหละครับ-ศึกษาแล้วขบความออกมาให้ได้

ตอนหน้า: ว่าด้วยจักรวรรดิวัตร-หลักการบริหารแผ่นดินของพระเจ้าจักรพรรดิ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔,  ๑๗:๐๕

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: