ภัยที่จะทำให้ภิกษุลาสิกขาเพศ
[สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับเหล่าภิกษุว่า]
พ: คนที่ลงน้ำอาจจะเจอกับภัย 4 ประการ คือ - ภัยจากคลื่น (อูมิภัย) - ภัยจากจระเข้ (กุมภีลภัย) - ภัยจากน้ำวน (อาวัฏฏภัย) - ภัยจากปลาที่ดุร้าย (สุสุกาภัย)
เปรียบเหมือนกับภัยที่ผู้ออกบวชอาจจะต้องเจอ
เมื่อผู้ออกบวชถูกเพื่อนสอนว่า ‘ต้องก้าวอย่างนี้ ดูอย่างนี้ ถือบาตรอย่างนั้น ห่มจีวรอย่างนั้น’ ก็อาจจะคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ มีแต่สอนคนอื่น ภิกษุเหล่านี้รุ่นลูกหลานเราทั้งนั้น จะมาสอนเรา’ เกิดโกรธเคืองไม่พอใจ บอกคืนสิกขาลาเพศ นี่เรียกว่า ภัยจากคลื่น (อูมิภัย)
เมื่อผู้ออกบวชถูกเพื่อนสอนว่า ‘นี่ควรกิน นั่นไม่ควรกิน นี่ควรดื่ม นั่นไม่ควรดื่ม ต้องกินตอนนี้ ห้ามกินตอนนั้น’ ก็อาจจะคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ อยากจะกินอะไรก็กิน ไม่อยากกินอะไรก็ไม่กิน จะกินตอนไหนก็ได้ ภิกษุเหล่านี้ทำเหมือนจะมาปิดปากเรา’ เกิดโกรธเคืองไม่พอใจ บอกคืนสิกขาลาเพศ นี่เรียกว่า ภัยจากจระเข้ (กุมภีลภัย)
เมื่อผู้ออกบวชเดินบิณฑบาตไปตามบ้าน ไม่รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวม มองเห็นคฤหบดีในบ้าน เพียบพร้อมบำเรอตนด้วยกามคุณ 5 (ความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ก็อาจจะคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ เพียบพร้อมบำเรอตนด้วยกามคุณ 5 มีทรัพย์สมบัติที่จะใช้หรือทำบุญก็ได้ ถ้าอย่างนั้นเราบอกคืนสิกขาลาเพศดีกว่า นี่เรียกว่า ภัยจากน้ำวน (อาวัฏฏภัย)
เมื่อผู้ออกบวชเดินบิณฑบาตไปตามบ้าน ไม่รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวม มองเห็นหญิงสาวในบ้าน นุ่งห่มไม่เรียบร้อย จิตก็เกิดราคะรบกวน บอกคืนสิกขาลาเพศ นี่เรียกว่า ภัยจากปลาที่ดุร้าย (สุสุกาภัย)
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 35 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภาค 2 ภยวรรค ทุติยภยสูตร ข้อ 122), 2559, น.334-337
0 comments: