วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ความยึดมั่นถือมั่น

ความยึดมั่นถือมั่น

ประเทศชาติบ้านเมืองเรา ถ้าประชาชนพลเมืองมีวินัย มีศีลธรรม สังคมก็จะมีระเบียบเรียบร้อยดี กฎหมายก็ไม่ต้องมี ไม่เดือดร้อน ถ้าธรรมะเราสอนไม่ได้ ไปทำผิด เขาต้องจับไปติดตารางลงโทษ ถ้าโทษร้ายแรงก็เอาไปยิงเป้าตาย ทางโลกเป็นอย่างนั้น ทางธรรมเราค่อยพูดกันไปเรื่อยๆ ตายทางโลกนี่ปืนยิงตูมเดียว มันเห็นหมดทุกคน ตายทางพระธรรมพระวินัยนี่เงียบ ตายอยู่ในห้องผู้เดียวก็ได้ ตายหายใจอยู่ก็ได้ วัดป่าพงนี้ยิ่งตายได้ไว เอาขนมไปกินอยู่กุฏิก็ได้ ธรรมะเป็นอย่างนั้น

กฎหมายบ้านเมืองนั้น ถ้าคนไม่เห็นไม่ว่ากฎหมายพระพุทธเจ้าที่รักษาหมู่เรานี่ เห็นก็ว่า ไม่เห็นก็ว่า ถ้าเหตุไม่เกิดมาแล้วมันไม่เป็น ผมเคยสืบสวนว่าทำไมถึงปกปิดเอาไว้ มันอาย จะทำอะไรไม่ให้ใครรู้จัก มันมีความเห็นแคบๆ มันก็เป็น อลัชชี ปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้นเอง  แต่ก่อนผมเคยคิดว่าอลัชชีนี้จะเป็นจำพวกหนึ่งต่างหาก ไม่รู้จักอลัชชีแท้ๆมันจะเป็นยังไง เมื่อดูไปดูมาปฏิบัติในใจของเรา ก็ค่อยๆรู้จักไป ยิ่งได้รู้รสธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งละเอียดสุขุมเข้าไปเรื่อยๆ อลัชชีก็พวกเรานี้แหละ อันใดมันทำบาปทำสกปรกลามกมันไม่มีความละอายมันก็เป็นอลัชชีนอกศาสนาทั้งนั้น เมื่อคิดสกปรกลามกขึ้นในใจเจ้าของ แล้วก็ทำไปอย่างนั้น มันก็เป็นอลัชชี ทำแล้วก็ไม่คิดแก้ตัว เจ้าของดีใจว่าครูบาอาจารย์หมู่พวกไม่เห็นแล้วไม่เป็นไร ความเป็นจริงความดีความชั่วนั้นเราจะปิดอย่างไรมันก็ไม่มิด แม้จะทำไปผู้เดียวไม่มีใครเห็นก็ปิดไม่ได้

ธรรมะความเป็นจริงต้องเปิดอยู่ตลอดเวลา มันไม่ได้ทำมันก็จริงด้วยการไม่ได้ทำ มันได้ทำมันก็จริงด้วยการได้ทำ จะหนีไปทางไหน? มันไม่พ้นหรอก พระองค์ใด เณรองค์ใด ถ้าทำอะไรลงไป อยากจะทำผิดนั่นคือความสกปรกลามกเกิดขึ้นในใจของเรา ถ้าจะไปทำสิ่งนั้น ก็รู้อยู่ว่ามันผิด แต่ระวังหมู่จะเห็นกลัวครูบาอาจารย์จะรู้ ถ้าอยู่ในที่ลับไม่มีใครรู้ใครเห็นด้วยก็เป็นเลย กระทำสิ่งเหล่านั้น นี้คือมันโง่ที่สุด ถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันหาความบริสุทธิ์ไม่ได้ คิดว่าความปกปิดมันจะมีในโลก พระพุทธเจ้าและผู้รู้ทั้งหลายท่านบอกว่า มันไม่มีหรอกการปกปิด ทำดีก็ดีอยู่ที่นั้น ทำชั่วมันก็ชั่วอยู่ที่นั้น ไม่ต้องมองดูผู้ใดผู้หนึ่งเลย ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว

ฉะนั้น ท่านจึงไม่หวั่นไหวในนินทา สรรเสริญ ลาภ ยศ มันเป็นของโลก ตาคนเห็น หูคนได้ยิน หูคนไม่เหมือนหูพระ ตาคนก็ไม่คือตาพระ ตาคนนั้นชอบใจแล้วมันก็ว่าดี ถึงผิดจากความเป็นจริงมันก็ไม่วาง ขอแต่ว่าชอบใจก็ว่าดี หูได้ยินเสียงมันสนุก ไพเราะ จิตใจมันก็ว่าเสียงนั้นดี แม้มันผิดอยู่ก็ว่าสบายใจดี จำพวกโลกเป็นอย่างนั้น ความสรรเสริญเยินยอ ความนินทากาเลต่างๆ พระพุทธเจ้าท่านฆ่า อันนั้นมันเป็นจิตของคนที่ติดอยู่ในโลก ห่วงอยู่ในโลก

โลกธรรมแปด เป็นโลกธรรมที่ครอบใจสัตว์โลกอยู่ เมื่อมันครอบใจสัตว์โลก สัตว์โลกก็ต้องเป็นไปตามธรรมนั้น มีลาภก็ดีใจ เสียลาภก็เสียใจ เขาสรรเสริญก็พองตัวขึ้นมา ถ้าเขานินทาก็เสียใจ ถ้าเราเป็นอย่างนั้น เราจะจมอยู่ในโลก อยู่ในวัฏฏะ ไม่มีหวังว่าจะพ้นไปได้ แต่หากว่าใครได้พบความจริงแล้วก็ไม่ถือสา ใครจะนินทาจะสรรเสริญก็ช่าง ท่านไม่ได้ยินดียินร้าย ท่านข้ามโลก

ฉะนั้น จิตของพระอริยเจ้าทั้งหลายมันจึงแปลกจากมนุษย์เรา คือท่านเปลี่ยนจากโลกเป็นโลกุตตระ*คือมีความรู้สึกอยู่เหนือโลก ท่านไม่ได้เชื่อคน แต่ท่านเชื่อความจริง มีความสังวรสำรวมในอินทรีย์ทั้งหกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย   นักปฏิบัติเราถ้าซึ้งอยู่ในใจเจ้าของแล้ว ก็จะรู้จักได้ว่ามันยินดีไหม? มันยินร้ายไหม?คือมันพอที่จะคำนวณได้อยู่ ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติละถอนมัน จับมันมาพิจารณาจนกว่าให้มันน้อย ให้มันเบาบางลงไป มันจะรู้จักได้ทุกคน ถ้าใครมีสติอยู่ ถ้าใครมีศรัทธาพิจารณาอยู่ ถ้าเราตามใจกิเลสมันก็เป็นวัฏฏะ เป็นเหตุให้หลงไม่หยุดสักที มันไปยึดในลาภ ในสรรเสริญ ในยศ อย่างที่ผมว่าให้ฟังความยึดนี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นเหตุให้เกิดภพ

อย่างเช่นศีรษะเรานี้เป็นต้น ถ้าคิดไปคิดมาแล้วจะขี้ร้ายกว่าหัวมันซะล่ะมังหัวมันเขายังจับได้หัวคนนี่จับแล้วผมว่ามันจะเกิดชาติขึ้นเลย ไปสหรัฐเขาเอาตีนนี่ใส่หัวลูก แต่ว่าที่ทำอย่างนั้นก็ยังจะไม่ดีอยู่ถ้าไม่มีปัญญา อันนี้เขาเรียกว่ามันเป็นประเพณีที่ไม่ถือสากันอย่างนั้น แต่ว่าประเพณีก็ช่างเถอะ เมื่อพิจารณามันก็เป็นธรรมะ ถ้าเรามีความหวงแหนในศีรษะ มีความยึด ถ้ามีใครมาข้ามศีรษะหรือมาจับแล้ว ไม่พอใจ นี่คือชาติเกิดขึ้นเมื่อเกิดชาติก็เกิดทุกข์เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาตรงนั้น

ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนั้นเมื่อพูดแล้วก้นก ็คือหัวหัวก็คือก้นนี่แหละถ้าคิดได้อย่างนั้นก็ไม่มีอะไร ปล่อยมันเสียอุปาทานมันก็หมดไป ไม่มีอะไรเราจะเห็นได้ง่ายๆว่าเรามีภพไหม? ชาติมันหมดแล้วหรือยัง? โลกุตตระจิตท่านไม่ให้เกี่ยว ท่านฆ่าหมดเรื่องยึดมั่นถือมั่นทางก้นทางหัวสารพัดทุกอย่างไม่ให้ถือ ไม่ได้ถือจริงๆ ไม่ใช่ว่าอย่างนี้เราไม่ยึด ไม่ยึดด้วยกันทั้งนั้น วันนี้มันยังไม่ยึด วันอื่นมันยึด มันก็ไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้เจ้าของ ไม่ให้สงสัย อันใดมันเหลืออยู่ก็ทำไม่ให้มันเหลือผู้ใดรู้จักความเหม็นของขี้ไก่ หยิบมาถูกมือมันเหม็นสกปรก จะต้องล้างออก ล้างแล้วเอามาดมดู ถ้ามันยังเหม็นอยู่ก็เรียกว่ามันยังไม่ทันหมด ก็ล้างมันจนถึงที่สุด จนหายเหม็น นั่นเรียกว่าหมดขี้ไก่มันหายเหม็น หมดกิเลสก็อย่างนั้น ถ้าเรารู้จักอย่างนี้ ก็รู้จักเรื่องกิเลสของเจ้าของ ไม่ต้องไปดูไกล ถ้าเรารู้เรื่องของมันแค่นี้ก็รู้จักแล้ว มันก็ไม่ยาก มันหมด ของมันหมด

ถ้ามีโลภ โกรธ หลง แล้ว ก็ฆ่ากันตีกันอยู่ที่นั้น มันเป็นโลกธรรม ถ้าโลกุตตระจิตมันไม่ได้ว่า เรามันไปติดดี ติดชั่ว ติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญ ท่านจึงว่าธรรมแปดประการนี้เป็นโลกธรรม ธรรมอันครอบงำสัตว์โลกอยู่ สัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมนั้น เป็นยังไง?เขาว่าดีก็ดีใจ เขาว่าไม่ดีก็เสียใจ มีหมดทุกคนไหมในนี้? เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? ให้เรามองดูอย่างนี้  แต่ว่าถ้ามันดีใจแล้วก็รู้ว่า "เออ มันผิด กิเลสเรายังหลาย" อย่างนี้มันก็ยังดีอยู่ ถ้ามีความเสียใจอยู่ ก็รู้จักน้อมเข้ามาหาใจเจ้าของ "เออ อันนี้มันยังอยู่นะ" จำพวกนี้ก็มีแต่น้อย จำพวกหนึ่งถ้าดีใจแล้วเข้าช่วย ถ้าเสียใจแล้วคว้าไม้กระบองตีเพี้ยะเลย จำพวกนี้ยังหลายไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รู้จักการละ ไม่รู้จักการบำเพ็ญ

เราจะต้องมาพิจารณาว่า ยินดีนั่นมันจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้ไหม? ยินร้ายมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้ไหม? ความดีใจมันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดได้ไหม? ความเสียใจมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้ไหม? บางคนไปมองดูแต่เรื่องเสียใจ เรื่องดีใจไม่ได้มองเห็นพระพุทธองค์ท่านสอนให้รู้จักอย่ายินดียินร้ายให้สังวรสำรวมอินทรีย์หกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะทางกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ สอนตั้งแต่นักธรรมตรีขึ้นไปจนจบหลายประโยค ท่านก็สอนอยู่อย่างนี้แหละ

ไอ้ความเป็นจริงเรายินดียินร้ายไหม? เราไม่ได้พิจารณาให้ชัดเจน ถ้าหากว่าเรารู้เรื่องมันชัดแล้วว่าความยินดีมันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ถ้าเราไปหมายมั่นมัน ความยินร้ายมันก็เป็นเหตุให้ความทุกข์เกิด สิ่งทั้งสองอย่างนี้มันมีราคาเท่ากันถ้ามันเกิดขึ้นมาก็เห็นโทษมัน ทุกอย่างถ้าความยินดีเกิดขึ้นมาก็สักแต่ว่ายินดีเท่านั้น ถ้าความยินร้ายเกิดขึ้นก็สักแต่ว่าความยินร้ายเท่านั้นเท่านี้มันก็ระงับเหตุ  เช่นว่า ศีรษะเรานี้เราถือว่า ถ้าใครไปตบ ไปจับ ตาย ตีตาย เขาตบตามข้างๆก็ไม่เป็นอะไร ตามแขนตามขาไม่เป็นอะไร ถ้าไปตบศีรษะที่เราเอาความยึดเข้าไปหมายมั่นว่าตรงนี้สำคัญกว่าเขา มันก็เลยเกิดทิฏฐิมานะขึ้นมา นี่ ความร้ายของมัน ทีนี้อย่างกามคุณนี้ก็เหมือนกัน การเสพกามนี้น่ะมันก็เท่ากัน ที่รูจมูกเราเอามือแหย่เข้าไปนี่นะมันมีอะไรไหม? แต่ถ้าเราไปวางความยึดมั่นหมายมั่นมันแล้วว่าตรงนั้นสำคัญที่สุด มันเป็นช่วงที่ชาวโลกชอบที่สุด เราจะเอาวางไว้ข้างบน วางในตูดเราก็ได้ ถ้าไปเห็นแวบเข้าแล้วใจมันก็ขึ้นวาบ มันเป็นยังไงก็ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าสัตว์ ไม่รู้ว่าบุคคล จมูกเราเอามือแหย่เข้าไปไม่มีอะไร เอาขี้จมูกออกเฉยๆ นี้ก็ไม่มีอะไร เพราะเราไม่ได้วางความยึดมั่นถือมั่นตรงนี้ ถ้าเราวางไว้ทางตูดนั้นน่ะ มันจะยิ่งสกปรกด้วย ตรงนั้นสำคัญที่สุดด้วย

ชาวโลกมองตรงนี้เป็นสำคัญที่สุด พอแต่ยังไม่เห็นเท่านั้น เลิกผ้าขึ้นตรงนี้เท่านั้นน่ะ"อูย ตายแล้วนะ" นี่แหละเพราะอะไร? มันทุกข์มันอยู่ตรงนี้น่ะ ถ้าเราถือว่าตรงนี้ก็เหมือนรูจมูกเรา เอาอะไรไปแหย่เข้าเราก็เฉยๆเท่านั้น แคะแต่ขี้จมูกของมันเท่านั้นน่ะ ถ้าเรามาคิดอย่างนี้มันจะห่างกันเท่าใดไหม? เรื่องธรรมดาก็เป็นอย่างนี้ ตรงนี้เราเอาภพใส่เข้าไปนี่ก็เกิดชาติขึ้นมาซิ เมื่อไม่มีชาติเกิดขึ้น ก็ไม่มีความสุขความทุกข์ ไม่มีความยินดียินร้ายเกิดขึ้นมา มันก็ไม่มีอะไร เป็นธรรมดาๆ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตรงนั้นมันเป็นอันนั้นๆ แต่ชาวโลกชอบจะเอาอะไรไปใส่ตรงนั้นนะ

คนมันชอบทำงานที่ตรงสกปรก ที่สะอาดไม่ชอบทำงาน ตรงที่มันสกปรกเท่าไรยิ่งชอบทำงาน ไม่ต้องจ้างด้วย จ้างเขาก็เอา ทำงานธรรมดาๆ ได้เงินได้ทอง เขาจ้างเรา อันนี้เราจ้างเขา นี่ ดูซิ.มันถูกสมมุติมันยึดอย่างนั้น ให้เราคิด อันนี้เป็นหลักปฏิบัติของเราเท่านั้น แหละถ้าเราพิจารณาดูรูจมูกรูหูรูทั้งหมดในน ี้มันก็เป็นรูขี้เหมือนกันทั้งนั้น ถ้าเราพิจารณาไม่ดีพิจารณาไม่เป็นธรรมะ มันก็สยดสยองอยู่ตรงนี้แหละ ไม่ไปที่ไหนมันเป็นบ้า อยู่ตรงนั้นอันนี้ก็เป็นเหตุนะ

ธรรมปฏิบัตินี่ ผมว่าไม่ต้องไปถามอะไรใครมากหรอก ไม่ต้องไปสอบสวนอะไรมากเราจะต้องพิจารณาจิตตรงนี้ให้มันสะอาด บางทีผมเห็นพระแบกกลดใหญ่ๆ ตากแดดไปโน้นไปนี่หลายจังหวัด ผมมองดูแล้วก็เหนื่อยเหมือนกัน "ไปทำไม?" "ไปหาความสงบ" ผมไม่มีคำตอบเขาแล้ว ไม่รู้ว่าความสงบมันอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ให้โทษเค้า ผมก็เคยเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไปหาความสงบ นึกว่าความสงบมันจะอยู่ตรงโน้น คิดอย่างนั้น แต่ก็มีจริงๆเหมือนกันนะ เมื่อไปตรงโน้นก็สบายหน่อย มันสบาย ไอ้คนเรามันเป็นอย่างนั้นนึกว่าตรงนั้นมันจะสบาย

ผมไปเห็นสุนัขอยู่ที่บ้านปภากโรน่ะ ตัวมันใหญ่ เขารักมัน เอาข้าวให้มันกิน อยู่ข้างนอก มันอยู่ข้างนอกไม่นาน มันก็อยากเข้าในบ้าน ก็เข้ามาดันประตูแฮ่ๆ เจ้าของก็รำคาญ ไปเปิดประตูให้มันเข้ามา อยู่ๆไปอากาศในห้องมันชักจะหนาว มันก็วิ่งไปวิ่งมา เบื่ออีกแล้ว อยากจะออกไปอีกแล้ว ก็เข้าไปแฮ่ๆ เจ้าของก็รำคาญอีก ก็เปิดประตูให้มันออกไปอีก ออกไปอยู่ข้างนอกสบายชั่วคราว เดี๋ยวมันอยากเข้ามาอีกแล้ว อย่างนั้นนึกว่าข้างนอกมันดีกว่าข้างใน พอเข้าไปชั่วคราวเบื่ออีกแล้วก็อยากออกมา ออกมาแล้วก็อย่างนั้นแหละคืออยากเข้าไปอีก จิตของคนมันเหมือนสุนัข มันก็เข้าๆออกๆอยู่อย่างนั้นมันไม่รู้จักว่า ที่ไหนมันจะสบาย ถ้าเราคิดอย่างนี้ อะไรทั้งหลายที่มีความรู้สึกนึกคิดในใจเรา มันจะพยายามระงับดับลงได้ ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนี่เป็นสิ่งที่สำคัญ มันพร้อมกันทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น พวกเรายังไกลนะยังห่างไกลหลาย พูดถึงไปเมืองนอกมาผมเห็นหลายๆอย่างไปทีหนึ่งผมมีปัญญาขนาดหนึ่ง ไปครั้งที่สองนี่ผมมีปัญญาขนาดนี้ ครั้งที่หนึ่งผมต้องเขียนหนังสือตรงนั้นๆ ครั้งนี้ผมวางปากกา ไม่ได้เขียนอันโน้นอันนี้ที่ไหน ปล่อยเลย คิดว่า "เออ เราจะไปเขียนเอาบ้านเอาเมืองเขามันจะทนหรือนี่" มันเป็นเสียอย่างนั้น คล้ายๆที่ว่าเราอยู่ในเมืองของเรานี่น่ะ มันไม่ค่อยสบายคนไทยเราถ้าหากว่าไปถึงที่มันสบายก็นึกว่าเรามีบุญวาสนาบารมีได้ไปเมืองนอก ผมว่ามันจะสู้คนเขาอยู่ได้หรือ?เขาเกิดอยู่ตรงนั้นน่ะ เราไปชั่วคราวก็รู้สึกว่ามันดี มันเลิศ มันประเสริฐ เป็นผู้มีวาสนาบารมีปภากโร เขายิ่งเกิดอยู่ที่เมืองนั้น เขาจะไม่มีบุญมากกว่าเราหรือ นี่คือความยึดมั่นถือมั่นของคน

ฉะนั้น คนไปถูกอะไรต่างๆมันตื่นเต้น มันชอบตื่นเต้น ความตื่นเต้นในใจเรามันเข้าไปบ่มขึ้นมาอีก ไปเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไปรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ แต่ว่าเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์น่ะก็ยกให้เขาไปเลยไม่ต้องไปเถียงเขา เรื่องวัตถุต่างๆน่ะมอบให้เขาซะ เราสู้ไม่ได้แต่เรื่องพุทธศาสตร์นี่เรายังอยู่เหลืออยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนกัน

การประพฤติปฏิบัติของพวกเรานี้ บางคนก็เป็นทุกข์เป็นยาก ก็ไปวิ่งตามรอยที่มันเป็นทุกข์ มันก็ทุกข์ซิ นี่แหละคนเรามันไม่ตกลง จิตมันไม่ได้ภาวนาให้ถึงที่สุด มันก็ไม่เห็นชัดคือการภาวนาไม่ติดตามติดต่อกันไปไม่ต่อเนื่องกันไป คือความรู้จักผิดถูกไม่รู้จัก เกิดขึ้นมา อะไรไม่ชอบไม่เอา อะไรชอบเอา นี่เรื่องทิฏฐิ อย่างมากที่สุดตรงนั้นเขาก็นึกว่ามันดี จึงยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นคนจะไปทางนี้มันน้อย พวกเราทั้งหลายทุกๆคนนี้ก็เหมือนกัน สัมมาทิฏฐิยังมีน้อย

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ โดยมากเมื่อพิจารณาตามธรรมะแล้วมันไม่ชอบ มันเห็นไม่ชอบ ถ้าเห็นชอบมันต้องลดต้องละซิ อันนี้มันไม่เห็นชอบ บางทีก็ไม่เห็นด้วยซ้ำไป เห็นเป็นอย่างอื่นไปเสีย มันอยากจะเปลี่ยนธรรมะให้เป็นอย่างอื่นไป ตัวเราเองนี้แหละมันอยากจะแก้ธรรมะ แล้วก็พยายามใฝ่หากันไปเรื่อยๆ อีกอันหนึ่งไปพบเขาทำโยคะกันสารพัดอย่าง เราทำไม่เป็น ขามันจะหักหมดไม่มีเหลือละ คือเส้นเอ็นของเรามันปกติอยู่ ต้องทำให้เหยียดออกไป ทำไปๆทุกวันๆก็สบาย ถ้าหากว่าเขาไม่ทำ เขาจะไม่สบายผมเลยคิดว่านี่คือเอาโลกใส่เจ้าของอีกแล้ว มันเปลี่ยนแปลงมันถึงออกมาอย่างนี้ มันตึงเครียดแล้วก็เปลี่ยนไปสบายสบายชั่วคราวเพราะเราทำมันถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นเกิดความไม่สบายอีกแล้วจำเป็นต้องทำทุกๆวันมันจึงจะสบาย ถ้าไม่ได้ทำวันสองวันไม่สบายแล้ว ผมเข้าใจว่าเพิ่มงานเข้ามาโดยไม่รู้จักเจ้าของ  ทีนี้นิสัยของคนจะต้องทำน่ะ ผมเห็นจีนคนหนึ่งนะ แกไม่นอนมาได้สามสี่ปีแล้ว นั่งนิ่งอยู่เฉยๆ ตรุษสงกรานต์ก็อาบน้ำกับเขาทีหนึ่ง ร่างกายก็อ้วนท้วนเลือดลมดี ไม่ต้องวิ่งก็ได้ ถ้าจีนคนนี้ให้เขาไปวิ่งก็จะไม่สบายก็ไม่รู้ เพราะเขาฝึกอย่างนั้น

ฉะนั้น มันเป็นเพราะการฝึกสำคัญที่สุด มันแก้โรคก็ได้ เพิ่มโรคก็ได้ ความรู้สึกนึกคิดของเรานี้ก็เหมือนกัน ทุกอย่างนั่นแหละต้องเป็นอย่างนั้น ที่พระพุทธองค์ท่านว่าให้รู้รอบๆให้มันรู้รอบจริงๆ เราทุกคนอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่น อย่าเพิ่งไปตื่นเต้นอะไรมันทั้งนั้น เราอยู่ๆที่นี่น่ะเช่นครูบาอาจารย์ เราอยู่กันสบายมันก็ไม่มีอะไร มันสบายแล้ว คล้ายๆปลาตัวเล็กมันอยู่หนองใหญ่ มันก็ว่ายไปมาสบาย ถ้าอีกวันหนึ่งน่ะ ปลาตัวใหญ่ไปอยู่หนองเล็ก มันจะเป็นยังไงไหม? มันจะเกิดความอึดอัดไม่สบายขึ้นมา   เช่นว่า เราอยู่เมืองนี้ กินสบาย นอนสบาย อยู่สบาย อะไรๆสบาย ถ้าไปเห็นอย่างอื่นที่เขาทำแปลกเราไปอีก มันจะเป็นปลาตัวใหญ่ไปอยู่หนองเล็ก นี่ สมัยที่เราอยู่เมืองไทยเรา วัฒนธรรมอย่างนี้ ใครทำถูกต้องตามวัฒนธรรมอันนี้มันก็สบาย ถ้าอีกคนหนึ่งมาทำให้ผิดจากวัฒนธรรมเราไปซิ มันจะเกิดความไม่สบายขึ้น

ทุกวันนี้ เราเป็นปลาตัวเล็กอยู่หนองใหญ่ มันก็สบาย ถ้าหากว่าปลาตัวใหญ่ไปอยู่หนองเล็ก มันจะเป็นอย่างไร? ชาวเมืองนอกก็เหมือนกันฉันนั้น ที่เขาอยู่ตามสภาพบ้านเขาน่ะเขาก็สบายอย่างนั้น ไอ้พระเรามันปลาตัวเล็กไปอยู่หนองใหญ่ มันสบาย ถ้าเขามาเมืองไทยเราบีบเลยนะ มันเป็นปลาตัวใหญ่ในหนองเล็ก จะขบจะฉัน จะไปจะมาอะไร มันไม่ถูกทางทั้งนั้นแหละ ปลาตัวใหญ่มันอยู่หนองเล็ก มันวิ่งไปไม่ได้ ไปมาไม่สะดวก ขนาดนั้น ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนี่คงในระดับอันเดียวกัน คนหนึ่งติดข้างซ้าย คนหนึ่งติดข้างขวา

ฉะนั้น ในทางที่ดีให้รู้จักประเพณีไทย ประเพณีฝรั่ง ให้รู้จัก ถ้าเรามีประเพณีธรรมะเราจะเอาประเพณีเมืองนอกเมืองไทยเข้ากันได้สบาย ถ้าเราไม่รู้จักประเพณีธรรมะแล้ว มันยุ่งทั้งนั้นแหละ ประเพณีธรรมะนี่เป็นที่รวมของวัฒนธรรมทั้งหลาย อันนี้ผมเคยได้ยินคำพระท่านสอนไว้ว่า เมื่อเราไม่รู้จักภาษาเขา ไม่รู้จักคำพูดเขา ไม่รู้จักความหมายเขา ไม่รู้จักการกระทำของเขาในถิ่นนั้น เราอย่าเพิ่งไปถือตัวในที่นั้น คำนี้ยืนยันตลอดเวลา ผมเพิ่งมารู้ธรรมเช่นนี้ปรากฏขึ้นมา ในคราวที่ผมไปกับลูกศิษย์ลูกหา นี้ อันนี้ได้เอามาใช้สองปีมาแล้ว ที่ได้ออกจากบ้านเราไปนี่น่ะ มีประโยชน์  แต่ก่อนมันยึดแล้วก็มั่นเดี๋ยวนี้มันยึดไม่ให้มันมั่นจับมาดูเฉยๆแล้วก็วางแต่ก่อนจับมาไม่ยอมวาง มันยังยึดมั่น สมัยนี้มันไปยึดแต่ไม่มั่น ให้ผมว่าพวกท่านก็ได้ ให้ผมโกรธพวกท่านก็ได้ แต่ในทำนองเดียวกันยึดอย่าให้มั่น อย่าให้มันขาดจากใจของเราสบายจริง สะดวกจริง ถ้าเรารู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้นผมจึงสรรเสริญคำสอนของพระพุทธเจ้า ยึดเอาประเพณีทั้งสองเข้ามารวมกันสบาย ทีนี้รู้ บางสิ่งบางอย่างที่จะเอามาฝากพวกเราทั้งหลายนั้น มี ผมจึงว่าไปเพื่อประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์พระศาสนา ประโยชน์ในมหาชนทั่วไป ประโยชน์แก่พวกท่านทั้งหลายทั้งหมด ไม่ใช่ผมตั้งใจจะไปดูประเทศนั้นประเทศนี้ เมืองนั้นเมืองนี้เฉยๆ ผมไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ภพนี้ภพหน้า ถึงประโยชน์ปรมัตถ์ เมื่อรวมทั้งหมดแล้วมันก็เท่ากันทุกคน ไม่มีอะไรมันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาแล้วมันก็เหมือนกัน ไปทางโน้นก็เรียกว่าไปดี มาก็ดี  อย่างจะเปรียบเทียบ ไปตรงนี้เห็นคนไม่ดี บางคนเห็นคนไม่ดีแล้วก็รังเกียจ เมื่อเรามีธรรมะ เห็นคนไม่ดีแล้วนั่นแหละคือกลัว แล้วเราจึงจะรู้จักคนดี ถ้าเห็นคนดีก็ดีแล้วจะเป็นครูเรา ให้เรารู้จักคนไม่ดี เห็นบ้านหลังนี้มันสวยมันก็ดี เราจะรู้จักบ้านที่ไม่สวย เห็นบ้านหลังนี้มันไม่สวยมันก็ดี มันจะรู้จักบ้านที่สวย ไม่ได้ทิ้งสักนิดเดียวธรรมะนี่

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า "สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันน่าตระการ ดุจราชรถที่พวกคนเขลาคือคนหลงน่ะหมกอยู่แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่" เรียนนักธรรมเอก ผมพิจารณาเหลือเกิน อันนี้เป็นคำที่สำคัญ แต่มันเพิ่งมาโผล่ขึ้นเมื่อเราปฏิบัติ สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ สูทั้งหลายทั้งหมดนี้นั่งอยู่นี่ก็สู มาดูโลกนี้ โลกนี้มันมนุษย์โลก อากาศโลก สัตว์โลก พวกเราทั้งหลายที่มารวมกันอยู่นี้ ถ้ารู้โลกทั้งหลายเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ไม่ต้องภาวนาอะไรมาก ถ้ารู้จักโลกว่ามันเป็นอย่างนี้ ตามความเป็นจริงนั้น มันไม่มีขัด ไม่มีขัดสักนิดเดียว โลกเขาเป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านรู้แจ้งโลก รู้ตามความเป็นจริงของโลก รู้แจ้งซึ่งโลก แล้วก็รู้ธรรมะอันละเอียด มันก็ไม่ห่วงในโลก ถ้ารู้โลกโดยแจ่มแจ้งมันก็ไม่มีโลกธรรม เราจะเป็นไปตามโลกธรรมนั้น มันก็สัตว์โลก สัตว์โลกมันเป็นไปตามโลกธรรมอันนั้น มันแย่งกันไปทุกอย่าง

ฉะนั้น เมื่อเราเห็นอะไรก็ให้พิจารณาอันนั้น พวกเราทั้งหลายนี้มันยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จึงควรพิจารณา รูป เข้าใจไหมรูป? รูปเราที่นั่งอยู่นี้ รูปผู้หญิง รูปผู้ชาย เสียงเราก็รู้ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราก็รู้กันทั้งนั้นน่ะ ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจก็รู้ เมื่อรู้รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ มันก็มีธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับจิต สิ่งทั้งหลายจะมารวมอยู่ตรงนี้ และผมก็คิดว่าไม่แปลกอะไรกันธรรมะนี้

บางทีเดินไปข้างๆกันตลอดปีตลอดชาติก็ไม่รู้จัก อยู่ด้วยกันตลอดปีตลอดชาติก็ไม่รู้จัก เพราะเรามันคิดเกินไป มันมีหวังจนเกินไป การปฏิบัติหวังเกินไป หวังจนเหลือเกิน จนเหลือหวังเรา เช่นว่าเราจะไปดูรูปผู้ชาย ดูรูปผู้หญิง อย่างนี้เป็นต้น ทุกคนสนใจมากที่สุด เพราะมันวาดสูงจนเกินไป ทางหู ทางตาอยากจะลิ้ม อยากจะเลีย อยากจะดูอากัปกิริยาสารพัดอย่าง มอง เท่านั้นแหละ ถ้าหากว่าให้ไปแต่งงานกันซะแล้วก็ไม่เท่าใดนัก บางเวลาก็อยากจะหนีให้ห่างๆเสียหน่อยหนึ่ง บางทีก็อยากจะหนีไปบวชเสียด้วย แต่มันไปไม่ได้

เหมือนกันกับนายพรานที่เห็นเนื้อทราย ไปยิงเนื้อ ถ้าเห็นเนื้อที่มันขลั่วขลุก*นั้นน่ะมันก็สยดสยองทางหู ทางตา มันสารพัดอย่าง นายพรานก็ยิ่งชอบใจ ยิ่งทำตัวให้เบา กลัวมันจะวิ่งหนี อันนี้ก็เหมือนกัน ยิ่งเห็นไอ้รูปเสียงมันเป็นอย่างนี้ ก็ยิ่ง โอย เพ่งพินิจลงไปให้มันมากที่สุดให้มันบีบหัวใจเรา นายพรานก็เหมือนกัน ถ้าเห็นเนื้อที่มันจะมองเห็นเรา เราก็ยิ่งหลบยิ่งหลีกกลัวมันจะเห็น ยิ่งชอบใจใหญ่เลยนะ ยิ่งทำอากัปกิริยากลัวเนื้อมันจะวิ่งหนี ก็คิดว่าเนื้อนี้มันจะเป็นอะไรมันก็ไม่รู้นะ เมื่อได้จังหวะก็ยิงปุ๊บตาย นายพรานก็หมดภาระ เดินเข้าไปดูเนื้อมันตาย ก็เท่านั้นแหละ ไม่เห็นจะตื่นเต้นอะไร จะเอาเนื้อมันมากินเราก็อิ่ม อิ่มแล้วก็ได้ ไปดูหูมันก็เท่านั้นแหละ ไปจับหางมันดูก็เท่านั้นแหละ เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่ใจนายพรานไม่เป็นอย่างนั้นนะ ก็เหมือนคนเรานั่นแหละ รูปนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไม่ได้ ก็นึกว่ามันสวยเหลือเกินนะ ถ้ามาอยู่ร่วมกันแล้วก็เบื่อ เหมือนเนื้อที่มันตายไปแล้ว ไปจับหูจับหางมันก็เท่านั้นแหละ เพราะมันตายแล้ว

ทีนี้เมื่อไปแต่งงานแล้วน่ะจะทำอะไรก็ได้ มันก็เท่านั้นแหละจะทำยังไง เดี๋ยวก็หาทางหนีอีกแล้ว อย่างนี้แหละเราไม่พิจารณาของเรา ถ้าเราพิจารณาให้มันดีๆ ผมว่ามันจะไม่มีอะไรมากเกินไปกว่านั้น คือมันวาดสูงจนเกินไป มองดูรูปก็เห็นมันจะกินได้ทุกแห่ง หูก็กินได้ ตาก็กินได้ จมูกก็กินได้ บางทีนึกไป บางครั้งนึกว่าขี้มันจะไม่มีเลย ชาวเมืองนอกคิดอย่างนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ ดูเหมือนขี้มันก็จะไม่มีนะ หรือมีก็น้อย เห็นว่าทั้งตัวมันจะกินได้หมดแหละ อันนี้มันวาดสูงเกินไป แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ามันดิ้นแล้วเหมือนแมวกับหนูน่ะ ถ้ามันดิ้นแล้วตั้งใจตะครุบเลย ถ้าหนูพลิกตัวตะครุบเลยแมวยิ่งตั้งใจ ถ้าหนูตายแล้วจะตะครุบอะไร หนูก็เฉย แมวก็ไม่ได้ตั้งใจ เฉย เดี๋ยวแมวก็หนี มันก็เท่านั้นเองแหละ มันวาดสูงจนเกินไป ไอ้พวกเราทั้งหลายมันไปตายอยู่ตรงนั้นแหละ มันวาดให้เป็นไปอย่างนั้น  พูดถึงนักบวชเรานี่มันทนทุกข์มากกว่าเขาละเรื่องกามกามคือตัวใคร่ใคร่ในความชั่วก็ใคร่ใคร่ในความดีมันก็ใคร่ แต่ในที่นี้เรียกกามะ ท่านแปลว่ามีความใคร่ ในทางที่ชอบใจเราก็ใคร่ มันทำลายเราได้ทั้งนั้นแหละ ความใคร่มันเป็นเหตุออกยากลำบาก

ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอน อานนท์ท่านถาม อานนท์ถามว่า "จะให้ข้าพระองค์ปฏิบัติกับสตรีอย่างไร? จะให้ข้าพระองค์ประพฤติปฏิบัติกับสตรีโดยอาการอย่างไรจึงจะไม่เดือดร้อน" พระพุทธเจ้าท่านว่า "อานนท์อย่าเห็นมันเลยดีกว่า" พระอานนท์ก็ฟังไป "อือ คนเรามันจะไม่ให้เห็นกันมันไม่ได้ละมัง ถ้าเราจะเห็นนี้ทำยังไงดีหนอ" คิดไปแล้วก็ว่ามันไม่ได้ ต้องเห็น"ข้าแต่พระพุทธเจ้าข้าถ้าเหตุที่จะต้องเห็นมีอยู่จะให้ข้าพระองค์ทำอย่างไร" "เอออย่าพูดอย่าพูด" พระอานนท์ก็คิดไปอีกแหละ "บางทีเราเดินไปตามทางมันหลงนี่จะทำอย่างไรหนอ มันก็ต้องพูดละมัง" "ถ้าหากว่าเหตุที่จะให้พูดมีอยู่จะให้ข้าพระองค์ทำอย่างไร?" "อานนท์พูดก็ให้มีสติ" นี่เห็นไหม?ให้มีสติทุกครั้งทุกเวลา

สตินี้ จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุด เอาแต่เหตุที่มันจำเป็น หรือจะพูดก็พูดแต่สิ่งที่จำเป็น จะถามก็ถามแต่สิ่งที่จำเป็น ถ้ามีกิจสกปรกลามกขึ้นแล้วอย่าไปดูมัน อย่าไปถามมัน อย่าไปพูดมัน แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ มันมีกิจที่สกปรกเท่าไรก็ยิ่งอยากถาม ยิ่งอยากจะเห็น มันไปคนละอย่างกันอย่างนี้.   ฉะนั้น ผมกลัว กลัวอันนี้มาก แต่ที่พวกท่านทั้งหลายไม่กลัวน่ะ อาจจะเหลวกว่าผมก็ได้ "ไม่กลัวมันไม่เป็นอะไรหรอก" อย่างนั้นน่ะ ผมต้องกลัวไว้ เคยมีไหมคนแก่ๆถามมาถามไปมีไหม? ผมจึงพูด ที่มาอยู่กับผมนี้ผมจึงให้ห่างมากที่สุด ถ้าไม่มีความจำเป็นอย่าไปแตะต้องอันนั้น

ผมไปอยู่ใต้ต้นไม้ในป่าน่ะ ไปเห็นลิงมันซัดกันบนต้นไม้ ผมนั่งกรรมฐานอยู่นะ ผมยังอยากกับมันเลย นั่งดูมันก็อยากเหมือนกัน "อือ ดีเหมือนกันเป็นลิงกับเค้านี่" เอาซิกิ้งก่ามันซัดกันเท่านี้ผมก็อยากนะ สุนัขมันซัดกันผมก็ยังอยากมัน บางองค์ว่าทำไมท่านจึงกลัวหลาย ฟังไม่ได้ ฟังมันปอดหมดเลย ไม่ใช่ผมรังเกียจเค้า ผมมันโง่ เดี๋ยวนี้ก็ค่อยๆพูดกับผู้เฒ่าผู้แก่ๆ นี่เพราะระวังตัวนั่นเอง จึงได้ผ่านอันตรายมาถึงป่านนี้ ไม่ใช่ว่าไปยักคิ้วทำท่าทางอะไรต่างๆ อันนี้ผมกลัว ทำไม่ได้ ระวัง สมณะเราต้องเป็นอย่างนั้น ตัวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ฉะนั้นผมจึงกำชับท่านทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่มันอยู่ใกล้ มันลึก มันยังลึก มันมองไม่เห็น อย่าประมาท คำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านสอนอย่างที่สุดว่า อย่าประมาทเท่านั้น คืออย่าประมาทแล้วมันก็ครอบหมดเลย อย่างนั้นจะต้องควบคุมตัวของใครของมัน ต้องระวังทุกคนไอ้ความมุ่งหมายของนักบวช นี่คือเราจะมาปฏิบัติให้มันพ้นทุกข์ถึงแม้มัน ไม่พ้นทุกข์ก็พยายามทำทุกข์นั้นให้มันน้อยลง อย่าไปทำเรื่องสกปรกในพระศาสนา ถ้าไปไม่ไหวแล้วมาลาผม ผมไม่ให้อยู่หรอก สึก อย่าไปทำให้มันเสียหาย ในเมื่อเวลาเรามาอยู่ในพรหมจรรย์...ฯ

ที่มา : http://www.ajahnchah.org/ 


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: