มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๓) กัณฑ์ที่ ๕ อนุมานปัญหา วรรคที่ ๑ พุทธวรรค
ปัญหาที่ ๑ ทวินนังพุทธานังอนุปัชชนปัญหา (ความไม่เกิดขึ้นพร้อมกันแห่งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ – ณัฏฐ)
พระเจ้ามิลินท์, พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า
“อฏฺฐานเมตํ ภิกฺขเว อนวกาโส, ยํ เอกิสฺสา โลกธาตุยา เทฺว อรหนฺโต สมฺมาสมฺพุทธา อปุพฺพํ อจริมํ อุปฺปชฺเชยยุํ, เนตํ ฐานํ วิชฺชติ” (ที.ปา ๑๑/๑๒๘, องฺ.เอกก. ๒๐/๓๗) ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จะพึงบังเกิดในโลกธาตุเดียวกันพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน ใด ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ฐานะนี้หามีได้ไม่ ดังนี้
พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตแม้ทุกพระองค์เมื่อจะทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เมื่อจะตรัสบอกธรรม ก็ตรัสบอกอริยสัจ ๔ เมื่อจะทรงให้ศึกษา ก็ทรงให้ศึกษาในสิกขา ๓ และเมื่อจะทรงอนุศาสน์ (พร่ำสอน) ก็ทรงอนุศาสน์ในข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความไม่ประมาท
พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระตถาคต แม้ทุกพระองค์ทรงมีคำเทศนาเป็นอย่างเดียวกัน มีคำบอกกล่าวเป็นอย่างเดียวกัน มีข้อที่พึงศึกษาเป็นอย่างเดียวกัน มีคำอนุศาสน์เป็นอย่างเดียวกัน ไซร้ เพราะเหตุไร พระตถาคต ๒ พระองค์จะทรงอุบัติในขณะเดียวกันมิได้เล่า ในโลกนี้ เกิดความสว่างไสว แม้เพราะพระพุทธเจ้าองค์เดียวทรงอุบัติ ถ้าหากว่า พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒ ก็มีได้ ไซร้ โลกนี้ก็มีอันแต่จะเกิดความสว่างไสว มีประมาณยิ่งขึ้นไป ด้วยแสงสว่างแห่งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ อนึ่ง พระตถาคต ๒ พระองค์ เวลาจะทรงตักเตือนเวไนยสัตว์ ก็จะทรงตักเตือนได้ง่าย (ไม่ลำบาก) เวลาจะทรงพร่ำสอน ก็จะทรงพร่ำสอนได้ง่าย ขอท่านจงบอกข้าพเจ้าถึงเหตุผลในข้อที่ว่านั้น โดยประการที่ข้าพเจ้าจะได้หายสงสัย เถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้ เป็นที่รองรับพระพุทธเจ้าได้เพียงพระองค์เดียว ย่อมรับรองพระคุณของพระตถาคตเจ้าได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒ พึงอุบัติไซร้ หมื่นโลกธาตุนี้ จะพึงรองรับรองไว้ไม่ไหว จะพึงสั่นไหว โอนเอน คลอนแคลน แหลกกระจาย ไม่อาจถึงความทรงตัวอยู่ได้. ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เรือลำหนึ่ง อาจรองรับบุรุษได้เพียงคนเดียว เมื่อมีบุรุษเพียงคนเดียวขึ้นเรือ เรือลำนั้นจึงจะเป็นเรือที่แล่นไปในทะเลได้ ต่อมา มีบุรุษคนที่ ๒ มาถึง เป็นผู้ที่เสมอเหมือนบุรุษคนแรกนั้น ด้วยอายุ ด้วยวรรณะ ด้วยวัย ด้วยขนาดความผอมความอ้วน ด้วยอวัยวะใหญ่น้อยทุกส่วน บุรุษคนที่ ๒ นั้น ก็ขึ้นเรือลำนั้น ขอถวายพระพร เรือลำนั้นอาจรองรับบุรุษทั้ง ๒ได้หรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, มิได้หรอก พระคุณเจ้า เรือลำนั้น จะพึงสั่นไหว โอนเอน คลอนแคลน แหลกกระจาย ไม่อาจถึงความทรงตัวอยู่ได้ ย่อมจมน้ำไป
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น หมื่นโลกธาตุนี้ เป็นที่รองรับพระพุทธเจ้าได้เพียงพระองค์เดียว ย่อมรองรับพระคุณของพระตถาคตเจ้าได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒ พึงอุบัติได้ไซร้ หมื่นโลกธาตุนี้จะพึงรองรับไว้ไม่ไหว จะพึงสั่นไหว โอนเอน คลอนแคลน แหลกกระจาย ไม่อาจถึงความทรงตัวอยู่ได้. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้หนึ่งบริโภคอาหารตราบเท่าที่ต้องการ ยินดีพอใจเสียจนกระทั่งล้นขึ้นมาถึงคอ เขาผู้อิ่มหนำเต็มที่ ผู้เอาแต่เซื่องซึมอยู่ไม่ขาดระยะ ผู้เกิดงอตัวไม่ได้ แข็งเหมือนท่อนไม้แล้วนั้น ยังขืนบริโภคอาหารจำนวนเท่ากันนั้นนั่นแหละอีก ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นจะพึงเป็นสุขอยู่หรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า เขาบริโภคอีกครั้งเท่านั้น ก็อาจถึงตายได้
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมื่นโลกธาตุนี้ เป็นที่รองรับพระพุทธเจ้าได้เพียงพระองค์เดียว ย่อมรองรับพระคุณของพระตถาคตเจ้าได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒ พึงอุบัติไซร้ หมื่นโลกธาตุนี้จะพึงรองรับไว้ไม่ไหว จะพึงสั่นไหว โอเอน คลอนแคลน แหลกกระจาย ไม่อาจถึงความทรงตัวอยู่ได้
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน แผ่นดินย่อมหวั่นไหวเพราะคุณธรรมที่หนักยิ่งได้เชียวหรือ ?
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มีเกวียนอยู่ ๒ เล่ม ซึ่งแต่ละเล่ม บรรทุกรัตนะเต็มจนถึงทางด้านหน้า บุคคลขนเอารัตนะจากเกวียนเล่มหนึ่ง ไปเทใส่เกวียนอีกเล่มหนึ่ง ขอถวายพระพร เกวียนเล่มนั้นอาจรับเอารัตนะแห่งเกวียนทั้ง ๒ เล่มได้หรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, มิได้หรอก พระคุณเจ้า ดุมเกวียนเล่มนั้นจะต้องแตก เเม้ซี่กำเกวียนก็จะต้องหักไป แม้กงล้อเกวียนก็จะต้องล้มพับ แม้เพลาเกวียนก็จะต้องหัก
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เกวียนย่อมพังไปเพราะรัตนะที่หนักยิ่งได้เชียวหรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ได้ พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน แผ่นดินย่อมหวั่นไหว เพราะคุณธรรมที่หนักยิ่งได้
ขอถวายพระพร อีกนัยหนึ่ง เหตุผลที่จะว่าต่อไปนี้ เป็นข้อที่อาตมาภาพขอรวมมา เพื่อแสดงพระพลานุภาพของพระพุทธเจ้า ขอพระองค์จงสดับเหตุผลที่งดงามยิ่ง แม้อีกข้อหนึ่งในบรรดาเหตุผลทั้งหลายเหล่านั้นว่า เพราะเหตุใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จึงทรงอุบัติในขณะเดียวกันไม่ได้ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ทรงอุบัติในขณะเดียวกันได้แล้วไซร้ บริษัทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้น ก็จะพึ่งเกิดการทะเลาะวิวาทกันว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้ได้ ก็จะพึงเกิดแตกเป็น ๒ ฝ่าย ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บริษัทของอำมาตย์ที่มีกำลังเท่าๆ กัน ๒ คน พึงเกิดการทะเลาะวิวาทกันว่า อำมาตย์ของพวกท่าน อำมาตย์ของพวกเรา ดังนี้ ก็จะพึงเกิดแตกเป็นสองฝ่าย ฉันใด ขอถวายพระพร ถ้าหากว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ทรงอุบัติในขณะเดียวกันได้ไซร้ บริษัทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้นก็จะพึงเกิดการทะเลาะวิวาทกันว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้ ก็จะพึงเกิดแตกเป็น ๒ ฝ่ายฉันนั้น ขอถวายพระพร นี้ก็จัดว่าเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่ง ว่าเพราะเหตุใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จึงทรงอุบัติในขณะเดียวกันมิได้
ขอถวายพระพร มหาบพิตร ขอพระองค์จงสดับเหตุผลที่ยิ่งขึ้นไป แม้อีกข้อหนึ่ง ที่ว่าเพราะเหตุใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จึงทรงอุบัติในขณะเดียวกันมิได้ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ ทรงอุบัติในขณะเดียวกันได้ไซร้ คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดบุคคล ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประเสริฐสุด ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้วิเศษสุด ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สูงสุด ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่เสมอด้วยบุรุษผู้ที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่ใครๆ หาส่วนเปรียบมิได้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง คำที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้หาผู้อื่นเปรียบเทียบกันมิได้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ขอถวายพระพร เหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จึงทรงอุบัติในขณะเดียวกันมิได้ แม้ข้อนี้ ก็ขอพระองค์จงทรงยอมรับตามความเป็นจริงเถิด
ขอถวายพระพร ก็แล ข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น นี้เป็นสภาวะปกติแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุใดหรือ ตอบว่า เพราะพระคุณทั้งหลายของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเป็นของยิ่งใหญ่ ขอถวายพระพร ของที่ยิ่งใหญ่ แม้อย่างอื่นในทางโลก ก็ยังมีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ขอถวายพระพร แผ่นดินเป็นของยิ่งใหญ่ แผ่นดินนั้นก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น ทะเลก็เป็นของยิ่งใหญ่ ทะเลนั้นก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น พญาเขาสิเนรุก็เป็นของยิ่งใหญ่ พญาเขาสิเนรุนั้นก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น อากาศก็เป็นของยิ่งใหญ่ อากาศมันก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น ท้าวสักกะก็ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ท้าวสักกะนั้นก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น พญามารก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่ พญามารนั้นก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น ท้าวมหาพรหมก็ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ท้าวมหาพรหมนั้นก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นก็มีเพียงหนึ่งเท่านั้น ในโลก พระตถาคตทั้งหลายเหล่านั้น ทรงอุบัติในสถานที่ใดได้ ก็ตาม เมื่อพระตถาคตพระองค์หนึ่งทรงอุบัติแล้ว ณ สถานที่นั้น ย่อมหาโอกาสสำหรับพระตถาคตพระองค์อื่นมิได้ ขอถวายพระพร เพราะฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติในโลกได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านตอบปัญหามีอุปมา มีเหตุผลดีแล้ว คนที่หาปัญญาละเอียดอ่อนมิได้ ฟังคำตอบนี้แล้วก็ยังเกิดความพอใจได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงคนที่มีปัญญามากเช่นข้าพเจ้าเล่า ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอน้อมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้. จบทวินนังพุทธานังอนุปัชชนปัญหาที่ ๑
คำอธิบายปัญหาที่ ๑
ปัญหาเกี่ยวกับความไม่เกิดขึ้นพร้อมกันแห่งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ชื่อว่า ทวินนังพุทธานังอนุปัชชนปัญหา. คำว่า อย่าเพิ่งเกิดการทะเลาะวิวาทกันว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา เป็นต้น ความว่า ถ้าหากมีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ทรงอุบัติในโลกธาตุนี้พร้อมกันคราวเดียวกันได้ไซร้ พุทธบริษัทก็จะแตกเป็น ๒ ฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายยึดถือแต่ละพระองค์เป็นพระศาสดาของตน เล็งเห็นอยู่แต่ว่าศาสดาของตนดีกว่าศาสดาของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วประพฤติจาบจ้วงล่วงเกิน เป็นเหตุเกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้น. คำว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่หาเสมอเหมือนมิได้ คือ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ด้วยพระรูปกายสมบัติที่มีพระรัศมีแผ่ไปประมาณ ๑ วา จากพระวรกายเป็นต้น และด้วยพระคุณสมบัติ มีพระญาณที่ไม่สาธารณะด้วยคนทั้งหลายเป็นต้น. คำว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เสมอด้วยบุรุษผู้ที่หาผู้เสมอเหมือนไม่ได้ ความว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่เสมอ คือเท่าเทียมกันกับบุรุษผู้ที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ทรงอุบัติแล้วในอดีต ด้วยพระรูปกายสมบัติ และพระคุณสมบัติ. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑
ปัญหาที่ ๒ โคตมิวัตถทานปัญหา
พระยามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาครับสั่งความข้อนี้ แก่พระมาตุจฉา (น้า) มหาปชาบดีโคตมี ผู้กำลังถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า
“สํเฆ โคตมิ เทหิ, สํเฆ เต ทินฺเน อหญฺเจว ปูชิโต ภวิสฺสามิ สํโฆ จ” (ม.อุ. ๑๔/๔๑๕) ดูก่อน พระนางโคตมี ขอพระองค์จงถวายในพระสงฆ์เถิด เมื่อพระองค์ได้ถวายในพระสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นอันได้บูชาอาตมาภาพด้วย ได้บูชาพระสงฆ์ด้วย
พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงเป็นบุคคลที่ไม่ควรตระหนัก ไม่ควรเคารพ ไม่ทรงเป็นทักขิไณยบุคคลยิ่งกว่าพระสังฆรัตนะหรือไร พระตถาคตจึงรับสั่งให้พระมาตุจฉาของพระองค์ถวายผ้าอาบน้ำฝนที่พระนางทรงย้อมสีเอง ปอก (ฝ้าย) เอง ระบมเอง ปั่นเอง ทอเอง ที่กำลังถวายพระองค์อยู่แก่พระสงฆ์. พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้สูงส่งกว่า หรือยิ่งกว่า หรือวิเศษกว่าพระสังฆรัตนะ พระตถาคตก็จะตรัสว่า เมื่อได้ถวายในอาตมาภาพ ก็จะมีผลมาก ดังนี้ จะไม่รับสั่งให้พระมาตุจฉาถวายผ้าอาบน้ำฝนที่ทรงย้อมสีเอง ปอกฝ้ายเอง ระบมเอง แก่พระสงฆ์ เพราะเหตุที่พระตถาคตไม่โปรดให้ปรารถนาพระองค์ ไม่โปรดให้อิงอาศัยพระองค์ พระตถาคตจึงรับสั่งให้พระมาตุจฉาถวายผ้าอาบน้ำผืนนั้นแก่พระสงฆ์เสีย
พระนาคเสน พระผู้มีพระภาครับสั่งความข้อนี้แก่พระมาตุจฉามหาปชาบดีโคตมี ผู้กำลังถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า ดูก่อน พระนางโคตมี ขอพระองค์จงถวายในพระสงฆ์เถิด เมื่อพระองค์ได้ถวายในพระสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นอันได้บูชาอาตมาภาพด้วย ได้บูชาพระสงฆ์ด้วย ดังนี้จริง ก็คำนั้นตรัสไว้เพราะความที่ทานของผู้น้อมถวายเฉพาะพระองค์เป็นของมีวิบาก (ผลตอบแทน, อานิสงส์) น้อย ก็หาไม่ เพราะความที่พระองค์มิใช่ทักขิไณยบุคคล ก็หาไม่ ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงดำริว่า ในกาลอนาคต เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว พระสงฆ์จะเป็นผู้ที่ชาวบริษัทกระทำความยำเกรง ดังนี้ แล้วทรงประสงค์จะยกย่องคุณของพระสงฆ์ที่มีอยู่จริงนั่นแหละ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่ออนุเคราะห์พระสงฆ์เหล่านั้น จึงตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อน พระนางโคตมี ขอพระองค์จงถวายในพระสงฆ์เถิด เมื่อพระองค์ได้ถวายในพระสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นอันได้บูชาอาตมาภาพด้วย ได้บูชาพระสงฆ์ด้วย
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ผู้เป็นบิดา ขณะที่ยังทรงชีพอยู่นั่นเทียว ก็กล่าวยกย่องคุณของบุตรซึ่งก็มีอยู่จริงนั่นแหละ ในพระราชสำนักของพระราชา ท่ามกลางพวกอำมาตย์ข้าราชการ กำลังพล นายประตูเมือง นายทหารรักษาพระองค์ และชาวบริษัททั้งหลาย ด้วยคิดว่า บุตรของเราได้รับการแต่งตั้งในที่นี้แล้ว ต่อไปในอนาคตกาล จะเป็นผู้ที่คนทั้งหลายบูชา ดังนี้ ฉันใด พระตถาคตทรงดำริว่า ในกาลอนาคต เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆจะเป็นผู้ที่ชาวบริษัทกระทำความยำเกรง ดังนี้ แล้ว ทรงประสงค์จะยกย่องคุณของพระสงฆ์ ที่มีอยู่จริงนั่นแหละ เพื่อเกื้อกูล เพื่ออนุเคราะห์ พระสงฆ์เหล่านั้น จึงตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อน พระนางโคตมี ขอพระองค์จงถวายในพระสงฆ์เถิด เมื่อพระองค์ได้ถวายในพระสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นอันได้บูชาอาตมาภาพด้วย ได้บูชาพระสงฆ์ด้วย ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ขอถวายพระพร พระสงฆ์หาชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งกว่า หรือวิเศษกว่าพระตถาคต เพราะเหตุว่ารับสั่งให้ถวายผ้าอาบน้ำฝนให้เท่านั้นไม่ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ผู้เป็นมารดาหรือบิดา ย่อมแต่งตัวให้บุตร ถูตัวให้ อาบน้ำให้ สระผมให้ ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า ผู้เป็นบุตรชื่อว่า เป็นผู้ยิ่งกว่าหรือวิเศษกว่าผู้เป็นมารดาและบิดา เพราะเหตุสักว่าเขาแต่งตัวให้ ถูตัวให้ อาบน้ำให้ สระผมให้ เท่านั้นหรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า พระคุณเจ้าสำหรับมารดาและบิดา บุตรเป็นผู้ที่ไม่อาจทำกิจ (มีการแต่งตัวเป็นต้น) ตามที่ตนต้องการได้ เพราะฉะนั้น มารดาและบิดา พอเห็นว่าเป็นกาลที่สมควรทำกิจนั้นๆ ให้ จึงต้องทำกิจทั้งหลายให้ คือการแต่งตัวให้ การถูตัวให้ การอาบน้ำให้ การสระผมให้
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระสงฆ์หาชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งกว่า หรือวิเศษกว่าพระตถาคต เพราะเหตุว่ารับสั่งให้ถวายผ้าอาบน้ำฝนให้เท่านั้นไม่ ก็แต่ว่า พระตถาคตเมื่อจะทรงทำกิจที่พระสงฆ์ไม่อาจทำตามที่ตนต้องการได้ จึงโปรดให้พระมาตุจฉาถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นแก่พระสงฆ์. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนพึงน้อมเกล้า ฯ ถวายเครื่องบรรณาการแก่พระราชา, พระราชาพระราชทานเครื่องบรรณาการนั้นแก่คนอื่น ซึ่งเป็นข้าราชการบ้าง กำลังพลบ้าง เสนาบดีบ้าง ปุโรหิตบ้าง ขอถวายพระพร บุรุษได้รับเครื่องบรรณาการนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งกว่า หรือวิเศษกว่าพระราชา เพราะเหตุสักว่าได้รับเครื่องบรรณาการเท่านั้น หรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้ พระคุณเจ้า พระคุณเจ้าบุรุษผู้นั้นเป็นผู้ที่พระราชาทรงชุบเลี้ยง เป็นผู้ที่อาศัยพระราชาเลี้ยงชีพ พระราชาเมื่อทรงดำริอยู่ในอิสริยะฐานะนั้น ก็ย่อมมีอำนาจพระราชทานเครื่องบรรณาการแก่คนอื่นได้
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระสงฆ์หาชื่อว่าเป็นผู้ที่ยิ่งกว่า หรือวิเศษกว่าพระตถาคต เพราะเหตุสักว่ารับสั่งให้ถวายผ้าอาบน้ำฝนให้เท่านั้นไม่ ทว่า พระสงฆ์เป็นผู้ที่พระตถาคตทรงชุบเลี้ยง เป็นผู้ที่อาศัยพระตถาคตเลี้ยงชีพ พระตถาคตทรงดำรงอยู่ในฐานะที่ว่านั้น ก็ย่อมมีอำนาจรับสั่งให้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ได้
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง พระตถาคตทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า สงฆ์เป็นผู้ที่ชาวโลกควรบูชาโดยสภาวะ เราจะให้ชาวโลกบูชาพระสงฆ์ในสำนักของเรา ดังนี้ แล้วก็รับสั่งให้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่สงฆ์ ขอถวายพระพร พระตถาคตหาตรัสสรรเสริญการบูชาพระองค์เองเท่านั้นไม่ ทว่าบุคคลเหล่าใดเป็นผู้ควรบูชาในโลก พระตถาคตจะตรัสสรรเสริญการบูชาแม้ต่อบุคคลเหล่านั้น. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพยิ่งเหล่าเทพ เมื่อจะทรงยกย่องข้อปฏิบัติมักน้อย ในธรรมปริยายเรื่องธรรมทายาท (ธรรมทายาทสูตร) ในมัชฌิมนิกาย ซึ่งเป็นแนวทางประเสริฐว่า
“อสุจิเยว เม ปุริโม ภิกฺขุ ปุชฺชตโร จ ปาสํสตโร จ” (ม.มู.๑๒/๒๑) ภิกษุรูปแรกนั้นแหละจัดว่าเป็นผู้ที่น่าบูชากว่า และน่าสรรเสริญกว่า สำหรับเรา ดังนี้
ขอถวายพระพร ในภพทั้งหลาย สัตว์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลไหนๆ ที่สูงส่งกว่า หรือยิ่งกว่า หรือวิเศษกว่าพระตถาคต หามีไม่ พระตถาคตนั่นแหละทรงเป็นผู้สูงส่งกว่า ยิ่งกว่า วิเศษกว่า. ขอถวายพระพร มาณวคามิกเทพบุตร ยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ท่ามกลางเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ภาษิตความข้อนี้ไว้ใน สังยุตตนิกาย อันประเสริฐว่า
"วิปุโล ราชคหียานํ, คิริเสโฎฺฐ ปวุจฺจติ; เสโต หิมวตํ เสโฎฺฐ, อาทิจฺโจ อาทิ อฆคามินํ. สมุทฺโท อุทธีนํ เสฏฺโฐ, นกฺขตฺตานญฺจ จนฺทิมา; สเทวกสฺส โลกสฺส, พุทฺโธ อคฺโค ปวุจฺจติ." (สํ.ส. ๑๕/๙๒) แปลว่า ภูเขาวีปุระ กล่าวได้ว่าประเสริฐสุดแห่งบรรดาภูเขาในกรุงราชคฤห์ ภูเขาเสตะ (เกลาสระ) กล่าวได้ว่าประเสริฐสุดแห่งบรรดาภูเขาหิมพานต์ พระอาทิตย์ กล่าวได้ว่า ประเสริฐสุดแห่งบรรดาดวงดาวที่โคจรไปในอากาศ มหาสมุทร กล่าวได้ว่าประเสริฐสุดแห่งบรรดาแหล่งขังน้ำทั้งหลาย และพระจันทร์ ก็กล่าวได้ว่า ประเสริฐสุดแห่งหมู่ดาวนักษัตรทั้งหลาย ฉันใด พระพุทธเจ้าก็กล่าวได้ว่าทรงเป็นบุคคลผู้เป็นยอดในโลกที่มีความพร้อมพรั่งทั้งเทวดา ฉันนั้นเหมือนกัน
ดังนี้ ขอถวายพระพร ก็คาถานี้นั้น เป็นคาถาที่มาณวคามิกเทพบุตรขับไว้ดี ไม่ใช่ขับไว้ไม่ดี กล่าวไว้ดี ไม่ใช่กล่าวไว้ไม่ดี และพระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นชอบ ขอถวายพระพร แม้ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้กล่าวไว้เหมือนกันไม่ใช่หรือว่า
“เอโก มโนปสาโท สรณคมนมญฺชลิปณาโม วา อุสฺสหเต ตารยตํ มารพลนิสูทเน พุทฺเธ” แปลว่า ความเลื่อมใสแห่งใจ ก็ดี การถึงว่าเป็นสรณะ ก็ดี การน้อมอัญชลีไป ก็ดี เพียงอย่างเดียว ในพระพุทธเจ้าผู้ทรงทำลายกำลังมารได้ ย่อมสามารถยังสัตว์ให้ข้ามภพกันดารได้ ดังนี้
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพยิ่งเหล่าเทพได้ตรัสไว้ว่า
เอกปุคฺคโล ภิกฺขเว โลเก อุปฺปชฺชมาโน อุปฺปชฺชติ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ ฯ กตโม เอกปุคฺคโล? ตถาคโต อรหํ สมฺมาสมฺพุโทฺธ ฯ อยํ โข ภิกฺขเว เอกปุคฺคโล โลเก อุปฺปชฺชมาโน อุปฺปชฺชติ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ ฯ (องฺ.เอกก. ๒๐/๒๘)
แปลว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกเมื่อเกิดขึ้นมาในโลก ย่อมเกิดขึ้นมาเพื่อเกื้อกูลชนทั้งหลายเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนทั้งหลายเป็นอันมาก (คืออริยมรรค – ณัฏฐ) เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกคนไหนเล่า คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถะประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ ดังนี้
พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านเฉลยมากระนี้ นี้. จบโคตมิวัตถทานปัญหาที่ ๒
คำอธิบายปัญหาที่ ๒
ปัญหาเกี่ยวกับการที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีถวายผ้า ชื่อว่า โคตมิวัตถทานปัญหา. ชื่อว่า จะเป็นอันได้บูชาอาตมภาพด้วย ได้บูชาพระสงฆ์ด้วย เพราะมีจาคะเจตนา (ความตั้งใจบริจาค) ด้วยจิตคิดบูชา เป็นไป ๒ คราวใน ๒ บุคคล คือคราวแรกเมื่อตั้งใจจะถวายแก่พระพุทธเจ้า คราวที่ ๒ เมื่อตั้งใจจะถวายแก่พระสงฆ์. คำว่า ที่พระนางทรงย้อมสีเอง เป็นต้น ความว่า พระนางทรงคัดเลือกช่างหญิงที่มีฝีมือเป็นเลิศในงานศิลปะเกี่ยวกับผ้าไว้เป็นจำนวนหลายคน เสด็จนำไปสู่โรงทอพร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์มีฝ้ายเป็นต้น หญิงเหล่านั้นทำการปอกฝ้าย ปั่นฝ้าย เป็นต้น ทอเป็นผืนผ้าพร้อมทั้งย้อมสีตามรับสั่ง เพื่อเตรียมถวายพระตถาคต อธิบายว่า ไม่ใช่ผ้าที่มีอยู่แล้วตามปกติ. คำว่า เมื่อจะทรงทำกิจที่พระสงฆ์ไม่อาจทำตามที่ต้องการได้ คือเมื่อจะทรงแนะนำทายก (ผู้ถวาย) ให้ถวายปัจจัยแก่พระสงฆ์ อันเป็นกิจที่พระสงฆ์ผู้มีศีล ผู้สำเหนียกในสิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติไว้ แม้ต้องการทำ ก็ไม่อาจทำเพื่อตนเองได้
คำว่า สงฆ์เป็นผู้ที่ควรบูชาโดยสภาวะ คือสงฆ์เป็นผู้ที่ควรบูชา ควรนับถือ ควรยกย่องโดยสภาวะคือคุณธรรมทั้งหลาย มีศีลเป็นต้น ตามที่มีอยู่จริง พระสงฆ์ชื่อว่า เป็นผู้ที่พระตถาคตทรงชุบเลี้ยง ก็เพราะเหตุว่าปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น แม้ได้จากทายกมิใช่ได้จากพระตถาคตก็ตาม ถึงกระนั้น คนเหล่านั้นถวายให้ด้วยเห็นว่าเป็นสาวกของพระตถาคต. คำว่า ในธรรมปริยายเรื่องธรรมทายาท คือในการแสดงธรรมเรื่องเกี่ยวกับธรรมทายาท (ผู้รับมรดกธรรม) ในธรรมทายาทสูตร
ก็ในธรรมทายาทสูตรนั้น มีเนื้อความปรากฏอยู่ตอนหนึ่งว่า ในคราวที่พระตถาคตเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เพียงพอเท่าที่ทรงประสงค์แล้ว แต่ยังมีอาหารเหลือเป็นเดนอยู่ซึ่งอาจจะต้องเททิ้งไปเป็นธรรมดา ถ้าหากว่าในเวลานั้น เกิดมีภิกษุ ๒ รูป ผู้ถูกความอ่อนเพลียเพราะความหิวครอบงำ เข้ามาเฝ้า ทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูปนั้น ฉันอาหารที่เหลือเดนนั้นได้ ภิกษุรูปแรกคิดว่า นี้เป็นบิณฑบาตหรือเดนที่จะต้องเททิ้งไปเป็นธรรมดา ถ้าหากว่าเราไม่ฉัน พระผู้มีพระภาคก็จะส่งเททิ้งไปในที่ไม่มีของเขียว หรือทรงโปรยลงไปในน้ำที่ไม่มีสัตว์ ก็แต่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย แต่ว่า บิณฑบาตนี้ ก็จัดเป็นอามิสอย่างหนึ่ง ถ้ากระไร เราจะไม่ฉันบิณฑบาตนี้ จะทำตลอดคืนและวันนี้ให้ล่วงไป พร้อมกับความอ่อนเพลียเพราะความหิวนี้แหละ คิดอย่างนี้แล้วก็ไม่ฉันบิณฑบาตนั้น ทำตลอดคืนและวันนั้นให้ล่วงไป โดยประการที่มีความอ่อนเพลียและความหิวนั้นนั่นเอง
ส่วนภิกษุรูปที่ ๒ ฉันบิณฑบาตนั้น บรรเทาความหิว ทำตลอดคืนและวันนั้นให้ล่วงไป โดยประการที่ไม่มีความอ่อนเพลียเพราะความหิว ในภิกษุ ๒ รูปนั้น พระองค์จะตรัสสรรเสริญยกย่องภิกษุรูปแรกนั่นเทียว ว่า ภิกษุรูปแรกนั่นแหละจัดว่าเป็นผู้ที่น่าบูชากว่า และน่าสรรเสริญกว่า สำหรับเรา ดังนี้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒. จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๓) (ขึ้นเล่ม ๓)
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us/
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: