จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘)
ว่าด้วยจักรวรรดิวัตรที่ผู้รู้ท่านนำมาแสดง (1)
ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้จัดทำพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ได้ย่อเรื่องในจักกวัตติสูตรไว้ เฉพาะตอนที่ว่าด้วยจักรวรรดิวัตร ท่านแสดงไว้ดังนี้ -
พระราชา (พระองค์ใหม่) กราบทูลถามพระราชฤษีว่า วัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นอย่างไร. ตรัสตอบว่า
“ ๑. จงอาศัยธรรม สักการะเคารพนับถือธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์แลสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้ทำอันเป็นอธรรมเป็นไปได้ในแว่นแคว้น ๒. ผู้ใดไม่มีทรัพย์ก็มอบทรัพย์ให้
๓. เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติ (ความอดทน) โสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) และถามถึงสิ่งเป็นกุศล, อกุศล, มีโทษ, ไม่มีโทษ, ควรเสพ, ไม่ควรเสพ, อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อเสียประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน, อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน. เมื่อฟังแล้ว ก็รับเอาสิ่งที่เป็นกุศลมาประพฤติ. นี้แลคือวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดินั้น.”
ความตอนนี้ท่านทำหมายเหตุไว้ด้วย ดังนี้ :-
หมายเหตุ: ข้าพเจ้าย่อวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิได้ ๓ อย่าง แต่ในอรรถกถาแจกไปตามพยัญชนะได้ถึง ๑๐ อย่าง คือ ให้อารักขาอันเป็นธรรมแก่ ๑. พลกาย หรือกองทหารที่อยู่ใกล้ชิด (เป็นอันโตชน) ๒. กษัตริย์ (น่าจะหมายถึงพระราชวงศ์และกษัตริย์เมืองขึ้น) ๓. ผู้ติดตาม ๔. พราหมณ์คฤหบดี ๕. ชาวนิคมชนบท ๖. สมณพราหมณ์ ๗. เนื้อและนก ๘. ขัดขวางผู้กระทำการที่ไม่เป็นธรรม ๙. เพิ่มให้ทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ๑๐. เข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วถามปัญหา. และแล้วอธิบายต่อไปว่า แยกเป็น ๑๒ ข้อก็ได้ คือแยก คฤหบดีออกจากพราหมณ์และแยกนกออกจากเนื้อ. แต่ที่ข้าพเจ้าย่อเหลือเพียง ๓ ก็เพราะประเด็นแรกมุ่งในทางเคารพธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรม และปราบอธรรม จัดเป็นข้อที่ ๑ -ผู้จัดทำ.
ตอนหน้า: จักรวรรดิวัตรจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔, ๑๓:๑๙
จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)
0 comments: