วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เรื่องราวของการสังคายนา ครั้งแรก (ตอน 1)

First Buddhist council:  Immediately after the Buddha’s death a monk named Subaddha cried out that they don’t need to worry about discipline any more.  This Subaddha should not be misunderstood with the other monk who was ordained at the old age.

เรื่องราวของการสังคายนา (การประชุมตรวจชำระคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นแบบเดียวกันด้วยการซักถามและท่องสวดพร้อมกัน) ครั้งแรก (ตอน 1)

[ณ ป่าสาลวัน ใกล้กรุงกุสินารา หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะได้นึกถึงคำของสุภัททปริพาชกระหว่างเดินทางมากรุงกุสินาราด้วยกันที่ว่า ‘อย่าเศร้าโศกไปเลย เราเป็นอิสระแล้ว จากแต่ก่อนที่จะมีพระมหาสมณะมาคอยสั่งเราว่าสิ่งนี้ทำได้ สิ่งนี้ทำไม่ได้ มาตอนนี้พวกเราจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ตามใจต้องการแล้ว’ ซึ่งทำให้พระมหากัสสปะคิดว่า]

ก:  ถ้ามีคนคิดแบบนี้มากๆ ไม่นานพระธรรมก็จะหายไป ถ้าพระธรรมยังอยู่ ศาสนานี้ก็จะยังอยู่ ดังคำของพระพุทธเจ้าที่พูดไว้กับพระอานนท์ว่า ธรรมที่แสดงแล้วจะเป็นศาสดาของเราต่อไป อย่ากระนั้นเลย เราควรสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ด้วยวิธีนี้จะทำให้พระศาสนาดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

และความที่ตัวเราเองนี้ พระพุทธเจ้าได้เคยให้ผ้าบังสุกุลไว้ใช้ ยกย่องเราเทียบเทียมกับท่านในอุตริมนุสธรรม (คุณวิเศษของผู้บรรลุธรรมชั้นสูง) มีอนุปุพพวิหาร 9 (ภาวะที่จิตสงบนิ่ง 9 ขั้น) และอภิญญา 6 (ความรู้วิเศษ 6 อย่างที่เกิดจากการพัฒนาจิต) ท่านได้อนุเคราะห์เราเหมือนพระราชากับพระราชโอรสที่จะให้ดูแลวงศ์ตระกูล ได้รับมอบเกราะและเกียรติยศของพระราชา ฉะนั้น เราควรจะต้องเป็นผู้เชิญชวนเหล่าภิกษุทั้งหลายให้มาทำสังคายนากัน

[จากนั้นพระมหากัสสปะได้เล่าให้เหล่าภิกษุฟังถึงคำพูดของสุภัททปริพาชก แล้วกล่าวต่อว่า]

ก:  เราทั้งหลายจะสังคายนาพระธรรมและพระวินัยกัน เพราะในภายภาคหน้า ฝ่ายอธรรมจะรุ่งเรืองและมีกำลัง ฝ่ายธรรมะจะถูกขัดขวางและอ่อนกำลัง

ภ:  ถ้าอย่างนั้น ขอท่านเถระโปรดคัดเลือกภิกษุที่จะเข้าร่วมเถิด

[พระมหากัสสปะได้เลือกแต่พระอรหันต์เท่านั้น จำนวน 499 รูป ผู้ซึ่งรอบรู้หลักคำสอน มีปัญญาแตกฉานในวิชชา ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าได้ยกย่องว่ามีความยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง (เอตทัคคะ) ทั้งนี้ ได้เว้นว่างไว้ 1 ที่ โดยเจตนาแล้วอยากจะเชิญพระอานนท์ที่ได้ฟังพระธรรมมาทั้งหมดเพราะอยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา แต่ก็ป้องกันไม่ให้ใครวิจารณ์ได้ว่าลำเอียง จึงไม่เชิญ เพราะพระอานนท์ยังไม่บรรลุอรหันต์ อย่างไรก็ตาม เหล่าภิกษุได้ขอว่า] 

ภ:  ถึงพระอานนท์จะยังต้องศึกษาฝึกฝน ไม่ควรจะให้ใครมองว่าถูกเลือกเพราะความลำเอียงก็จริงอยู่ แต่ธรรมและวินัยที่พระอานนท์ได้เรียนรู้กับพระพุทธเจ้านั้นมีมาก ด้วยเหตุนี้ ขอให้ท่านโปรดเลือกพระอานนท์ให้เข้าร่วมด้วยเถิด

[เมื่อเป็นความเห็นร่วมเช่นนี้ พระมหากัสสปะจึงได้เลือกพระอานนท์เข้าด้วยเป็นรูปที่ 500 ครบจำนวน จากนั้นได้คุยกันว่าจะทำที่ไหนดี ซึ่งก็ตกลงกันว่าเป็นกรุงราชคฤห์ เพราะมีบริเวณกว้างขวาง มีที่พักมากมาย และพระมหากัสสปะได้เสนอว่าทุกรูปควรจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์เลย โดยในระหว่างนี้ไม่ควรให้ภิกษุเหล่าอื่นจำพรรษาที่นี่ เพื่อจะไม่มารบกวนการทำงาน โดยพระมหากัสสปะได้ขอมติว่า ถ้าเห็นชอบตามนี้ให้นิ่ง ถ้าไม่เห็นชอบให้พูด ซึ่งก็ไม่มีใครคัดค้าน*]

[ขณะนั้น เป็นเวลาครึ่งเดือนแล้วนับจากวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ฤดูร้อนยังเหลืออยู่ครึ่งเดือน ช่วงเข้าพรรษาก็ใกล้เข้ามาแล้ว พระมหากัสสปะจึงกล่าวว่า]

ก: ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราออกไปกรุงราชคฤห์กันเถิด

[จากนั้น พระมหากัสสปะได้พาภิกษุครึ่งหนึ่งเดินทางไปทางหนึ่ง พระอนุรุทธะก็พาอีกครึ่งหนึ่งเดินไปอีกทางหนึ่ง ส่วนพระอานนท์ได้ถือบาตรกับจีวรของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุอีกจำนวนหนึ่งเดินผ่านไปทางกรุงสาวัตถี โดยระหว่างทางที่พระอานนท์เดินไป จะมีเสียงร่ำไห้มากมายเหมือนดังวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานว่า ‘ท่านพระอานนท์ ท่านทิ้งพระศาสดาไว้ที่ไหน จึงเดินมานี่’]

[เมื่อพระอานนท์มาถึงกรุงสาวัตถี พระอานนท์ได้ปลอบโยนชาวบ้านให้ทำใจเรื่องไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ความไม่เที่ยงเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเข้าไปยังวัดพระเชตวัน เปิดประตูกุฎีที่พระพุทธเจ้าเคยพักอยู่ นำเตียงและตั่งออกมาเคาะตีและปัดกวาดกุฎี เก็บหยากไย่ดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งทิ้ง แล้วนำเตียงตั่งกลับเข้าไว้ที่เดิม ทำสิ่งต่างๆที่ควรทำเหมือนในเวลาที่พระพุทธเจ้ายังอยู่]

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 1 (พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 เล่ม 1 พาหิรนิทานวรรณา ปฐมสังคายนา), 2559, น.23-28

*วิ.จุลฺล. ข้อ 615

พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงร่วมปฏิรูปพระศาสนา   จั  บ   สึ   ก   พระอลัชชี


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: