มีศัตรูผู้มีปัญญาดีกว่ามีมิตรโง่
เสยฺโย อมิตฺโต มติยา อุเปโต, น ตฺเวว มิตฺโต มติวิปฺปหีโน; มกสํ วธิสฺสนฺติ หิ เอฬมูโค, ปุตฺโต ปิตุ อพฺภิทา อุตฺตมงฺคนฺติฯ (มกสชาตกํ จตุตฺถํ)
ศัตรูผู้ประกอบด้วยปัญญายังดีกว่า มิตรผู้ไม่มีปัญญาจะดีอะไร เหมือนบุตรของช่างไม้ผู้โง่เขลา คิดว่าจะตียุง ได้ตีศีรษะของบิดาแตกสองเสี่ยง ฉะนั้น.
มกสชาดกอรรถกถา
พระบรมศาสดา เมื่อเสด็จจาริกไปในหมู่ชนชาวมคธทรงปรารภพวกมนุษย์ชาวบ้านที่เป็นพาล ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งจึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เสยฺโย อมิตฺโต ดังนี้. ได้ยินมาว่า ในสมัยหนึ่งพระตถาคตเจ้าเสด็จจากพระนครสาวัตถี ไปสู่แคว้นมคธ ขณะกำลังเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธนั้นทรงบรรลุถึงบ้านตำบลหนึ่ง. แม้บ้านหมู่นั้น ก็หนาแน่นไปด้วยพวกมนุษย์อันธพาลโดยมาก.
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พวกมนุษย์อันธพาล ประชุมปรึกษากันว่า „ท่านทั้งหลาย พวกยุงมันรุมกัด เราขณะที่ไปทำการงานในป่า เพราะเหตุนั้น การงานของเราทั้งหลายจึงขาดไป, พวกเราจักถือธนูแลอาวุธ ครบมือทีเดียว พากันไปรบกับฝูงยุง ฆ่ามันเสีย แทงมันเสีย ให้ตายให้หมด“ ดังนี้แล้ว พากันไป ต่างก็หมายมั่นว่า „เราจักแทงฝูงยุง“ กลับไปทิ่มแทงประหารกันเอง ต่างคนต่างก็เจ็บป่วยกลับมานอนอยู่ภายในบ้านก็มีที่กลางบ้านก็มีที่ประตูบ้านก็มี. พระบรมศาสดาแวดล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปสู่บ้านนั้นเพื่อบิณฑบาต. หมู่คนที่เป็นบัณฑิตที่เหลือ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงสร้างมณฑปที่ประตูบ้าน ถวายมหาทานแก่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายบังคมพระศาสดานั่งอยู่แล้ว.
ครั้งนั้น พระศาสดาทอด พระเนตรเห็นคนทั้งหลาย ล้มนอนเจ็บในที่นั้น ๆ ก็ตรัสถามอุบาสกเหล่านั้นว่า „คนเหล่านี้ไปทำอะไรกันมา จึงได้เจ็บป่วยกันมากมาย ?“ อุบาสกเหล่านั้นก็กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญคนเหล่านี้คบคิดกันว่า พวกเราจักทำการรบกับฝูงยุงแล้วพากันยกพวกไป กลับไปรบกันเองเลยเจ็บป่วยไปตาม ๆ กัน“.
พระศาสดาตรัสว่า „มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พวกมนุษย์อันธพาลคบคิดกันว่า เราจักประหารฝูงยุง กลับประหารตนเอง, แม้ในครั้งก่อนก็เคยเป็นพวกมนุษย์ที่คิดว่า จักประหารยุง แต่กลับประหารผู้อื่นมาแล้วเหมือนกัน“, แล้วทรงดุษณี ต่อเมื่อพวกมนุษย์เหล่านั้นทูลอาราธนาแล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี #พระโพธิสัตว์เลี้ยงชีวิตด้วยการค้า.
ครั้งนั้น ที่บ้าน ชายแดนแห่งหนึ่ง ในแคว้นกาสี มีพวกช่างไม้อาศัยอยู่มากด้วยกัน. ช่างไม้หัวล้านคนหนึ่ง ในหมู่ช่างไม้เหล่านั้นกำลังตากไม้ ขณะนั้นมียุงตัวหนึ่ง บินมาจับที่ศีรษะ ซึ่งคล้ายกับกระโหลกทองแดงคว่ำแล้วกัดศีรษะด้วยจะงอยปาก เหมือนกับประหารด้วยหอก. ช่างไม้จึงบอกลูกของตน ผู้นั่งอยู่ใกล้ ๆ ว่า „ไอ้หนู ยุงมันกัดศีรษะพ่อ เจ็บเหมือนถูกแทงด้วยหอก จงฆ่ามันเสีย“. ลูกพูดว่า „พ่อจงอยู่นิ่ง ๆ, ฉันจะฆ่ามัน ด้วยการตบครั้งเดียวเท่านั้น“. แม้ในเวลานั้น พระโพธิสัตว์ก็กำลังเที่ยวแสวงหาสินค้าของตนอยู่ ลุถึงบ้านนั้น นั่งพักอยู่ในโรงของช่างไม้นั้น. เป็นเวลาเดียวกันกับที่ช่างไม้นั้น บอกลูกว่า „ไอ้หนู ไล่ยุงนี้ที“. ลูกขานรับว่า „จ้ะพ่อ ฉันจะไล่มัน“ พูดพลางก็เงื้อขวานเล่มใหญ่คมกริบ ยืนอยู่ข้างหลังพ่อ ฟันลงมาเต็มที่ ด้วยคิดว่า จักประหารยุงเลยผ่าสมองของบิดาเสียสองซีก. ช่างไม้ถึงความตายในที่นั้นเอง.
พระโพธิสัตว์เห็นการการทำของลูกช่างไม้แล้วได้คิดว่า „ถึงปัจจามิตรเป็นบัณฑิตก็ยังดีกว่า เพราะเขายังเกรงอาญาแผ่นดิน ไม่ถึงกับฆ่ามนุษย์ได้“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :- „ศัตรูผู้มีความรู้ ประเสริฐกว่า มิตรผู้ปราศจากความรู้ ไม่ประเสริฐเลย, เพราะลูกชาย ผู้โง่เขลา คิดว่า จักฆ่ายุง กลับผ่าหัวของพ่อเสีย“ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺโย ความว่า ประเสริฐ คือสูงสุด. บทว่า มติยา อุเปโต ความว่า ประกอบด้วยปัญญา. บทว่า เอลมูโค แปลว่า เซ่อเซอะ คือโง่เขลา. บทว่า ปุตฺโต ปิตุ อพฺภิทา อุตฺตมงฺคํ ความว่า เพราะความที่ตนเป็นคนโง่เขลา แม้เป็นบุตร คิดว่า เราจักฆ่ายุง ก็ยังผ่าหัวสมองของพ่อเสียแล่งเป็น ๒ ซีก เพราะเหตุนั้น บัณฑิตถึงจะเป็นศัตรู ก็ยังดีกว่า มิตรที่โง่ ๆ. พระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว ก็ลุกขึ้นไปทำงานตามหน้าที่. แม้พวกที่เป็นญาติก็ได้จัดการทำสรีรกิจของช่างไม้.
พระบรมศาสดา ตรัสว่า „อุบาสกทั้งหลาย แม้ในครั้งก่อนก็ได้เคยมีมนุษย์ที่ได้คิดว่า เราจักประหารยุง แต่กลับประหารคนอื่นมาแล้วเหมือนกัน“ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า „ก็พ่อค้าบัณฑิตที่กล่าวคาถาแล้วหลีกไปได้มาเป็นเราตถาคตนี้แล“.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: