วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“ธรรมฝ่ายขาว”

“ธรรมฝ่ายขาว”

พระผู้มีพระภาคตรัสพระสูตรนี้ไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประการนี้ ย่อมคุ้มครองโลก,  สุกกธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ  ๑.หิริ  ๒.โอตตัปปะ” ดังนี้เป็นอาทิ

อธิบาย

คำว่า “สุกกธรรม” หมายถึงกุศลธรรม คือธรรมที่เป็นฝ่ายขาว หรือธรรมบริสุทธิ์ เพราะเป็นไปเพื่อความผ่องแผ้วอย่างยิ่ง และเพราะเมื่อธรรมฝ่ายขาวเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว จิตจึงประภัสสรบริสุทธิ์

คำว่า “หิริ” ได้แก่ความละอาย หมายถึงความละอายต่ออกุศลธรรม  คำว่า “โอตตัปปะ” ได้แก่ความเกรงกลัว หมายถึงความกลัวต่ออกุศลธรรม

บุคคลผู้ละอายด้วยสิ่งที่ควรละอาย คือละอายต่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่า “ผู้มีหิริ”  บุคคลผู้กลัวด้วยสิ่งที่ควรกลัว คือกลัวต่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่า “ผู้มีโอตตัปปะ”

หิริเกิดขึ้นในภายในจิตใจตน โอตตัปปะเกิดขึ้นในภายนอก,   หิริถือตนเป็นใหญ่ โอตตัปปะถือโลกเป็นใหญ่,  หิริตั้งอยู่ในความละอายเป็นสภาพ โอตตัปปะตั้งอยู่ในความกลัวเป็นสภาพ,   หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะเห็นภัยอันเป็นโทษที่น่ากลัว

หิริเกิดขึ้นในภายในย่อมเกิดด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ นึกถึงชาติตระกูล นึกถึงวัย นึกถึงความเป็นผู้กล้า (กำลังของตน) นึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียน (ความรู้ความสามารถของตน) เมื่อพิจารณาถึงชาติตระกูลเป็นต้นของตนแล้วก็ละอายไม่กล้ากระทำกรรมชั่ว

ส่วนโอตตัปปะเกิดขึ้นในภายนอก เมื่อบุคคลนึกอยู่ว่า “หากเราจักทำกรรมชั่ว เราจักได้รับความติเตียนในบริษัท ๔ และวิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนเรา เหมือนชาวเมืองรังเกียจของสกปรก เราถูกเขากำจัดเสียแล้ว จักเป็นอยู่ได้อย่างไร” ดังนี้เป็นอาทิ

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป จะละอกุศล เจริญกุศล ละสิ่งมีโทษ เจริญสิ่งไม่มีโทษ ย่อมรักษาตนให้บริสุทธิ์ได้ หิริและโอตตัปปะจึงเป็นธรรมฝ่ายขาวย่อมคุ้มครองโลก ด้วยประการฉะนี้.

สาระธรรมจากสุกกธัมมสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

28/8/64








post written by:

Related Posts

  • การกำหนดรู้โกธะ (ความโกรธ)การกำหนดรู้โกธะ (ความโกรธ)พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า   “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโกธะ ยังกำหนดรู้โกธะไม่ได้ ยังไม่คลายความพอใจในโกธะนั้น ยังละโกธะไ… Continue Reading
  • เหตุที่ทำให้เกิดความปราโมช (ความปลื้มใจ)เหตุที่ทำให้เกิดความปราโมช (ความปลื้มใจ) (จะเขียนว่า ปราโมทย์ ก็ได้)ถามว่า ก็เหตุนั้นคืออะไร ?   ตอบว่า เหตุนั้นคือความเพียรจริงอยู่ ความเพียรท่า… Continue Reading
  • รัตนะอันสูงสุดรัตนะอันสูงสุดพระผู้มีพระภาคตรัสแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายว่า  “พระอริยะทั้งหลายกล่าว การประพฤติธรรม ๑ และการประพฤติพรหมจรรย์ ๑ ทั้ง ๒ นี้ว่า “เป็นรัตนะอ… Continue Reading
  • อำนาจวาสนาอำนาจวาสนา“อำนาจ” คำนี้ช่างมีอำนาจสมชื่อจริง ๆช่างมีมนต์ขลังและมีความหอมหวนไม่น้อย เพราะดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็ชอบความมีอำนาจกันทั้งนั้น คนที่พูดว่าฉันไม่อยากมีอำนา… Continue Reading
  • โรคร้าย ๓ ชนิด คือโรคร้าย ๓ ชนิด คือ๑. โรคความอยาก (อิจฺฉา)  ๒. โรคความหิว (อนสนํ)  ๓. โรคชรา (ชรา)เพราะฉะนั้น คำว่า “โรค” หมายถึง ความอยาก ๑ ความอดอยาก ๑ ความทรุดโทรม … Continue Reading

0 comments: