จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑)
ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร
พระราชาองค์ที่ ๘ ไม่ได้ใช้หลักจักรวรรดิวัตรปกครองบ้านเมือง หากแต่ปกครองตามความคิดความเห็นความพอใจของพระองค์เอง ประชาราษฎรก็ไม่ได้รับความสุขเหมือนสมัยก่อน อาการที่เกิดขึ้นจากการปกครองตามความคิดความเห็นความพอใจของพระองค์เอง พระสูตรบรรยายไว้ว่า :-
ตสฺส สมเตน ชนปทํ ปสาสโต น ปุพฺเพนาปรํ ชนปทา ปจฺจนฺติ ยถา ตํ ปุพฺพกานํ ราชูนํ อริเย จกฺกวตฺติวตฺเต วตฺตมานานํ ฯ เมื่อท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ก็ไม่เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติในจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๘
อรรถกถาขยายความว่า :-
ชนปทา น ปพฺพนฺตีติ น วฑฺฒนฺติ. ยถา ตํ ปุพฺพกานนฺติ ยถา ปุพฺพกานํ ราชูนํ ปุพฺเพ จ ปจฺฉา จ สทิสาเยว หุตฺวา ปจฺจึสุ. ตถา น ปจฺจนฺติ กตฺถจิ สุญฺญา โหนฺติ หตวิลุตฺตา, เตลมธุผาณิตาทีสุ เจว ยาคุภตฺตาทีสุ จ โอชาปิ ปริหายิตฺถาติ อตฺโถ.
คำว่า ชนปทา น ปจฺจนฺติ หมายความว่า บ้านเมืองไม่เจริญ. คำว่า ยถา ตํ ปุพฺพกานํ หมายความว่า รัชกาลก่อนๆ รัชกาลต้นกับรัชกาลหลังบ้านเมืองเจริญทัดเทียมกัน (แต่ในสมัยพระราชาองค์ใหม่นี้) บ้านเมืองไม่ได้เจริญแบบนั้น คือมีแต่ว่างเปล่า (อะไรที่เคยมีก็หายไปหมด) ถูกทำลายถูกแย่งชิงไปทุกแห่ง กินความไปถึงว่า แม้โอชาในน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น และในยาคูและอาหารเป็นต้นก็เสื่อมไป
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๕๗ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา)
เมื่อสภาพของบ้านเมืองเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรกัน? ปัญหามีตั้งแต่-ที่ว่า “จะทำอย่างไรกัน” นั้น ใครจะเป็นผู้ทำ?
ตามหลักแล้ว พระราชาจะต้องเป็นผู้ทำคือเป็นผู้แก้ปัญหาในฐานะที่เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง แต่ในเมื่อพระราชานั่นเองเป็นผู้สร้างปัญหาเสียเองเช่นนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้แก้ไข ในที่สุดก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลสภาพความเป็นไปของบ้านให้ทรงทราบ และขอให้พระราชาทรงนำเอาหลักจักรวรรดิวัตรมาใช้บริหารบ้านเมืองเหมือนพระราชาในรัชกาลก่อนๆ ถ้าไม่ทรงทราบหลักจักรวรรดิวัตรก็ขอให้ตรัสถามผู้รู้ซึ่งมีอยู่ในบ้านเมือง
ควรสังเกตว่า เหตุการณ์ตอนนี้ --
(๑) ไม่เอ่ยถึงจักรแก้ว คือไม่ได้กล่าวถึงว่าพระราชาองค์ใหม่พยายามปฏิบัติพระองค์เพื่อให้จักรแก้วประจำพระองค์เกิดขึ้นเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อนๆ เป็นอันว่าเรื่องจักรแก้วเลิกพูดกันอีกต่อไป
(๒) ผู้ที่รวมตัวกันเข้าไปกราบทูลพระราชาไม่ได้กราบทูลให้พระราชาไปปรึกษาหาทางแก้ปัญหากับราชฤษีเหมือนกับที่พระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อนๆ ได้เคยกระทำ อาจจะเป็นเพราะราชฤษีล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วก็เป็นได้ จึงได้แต่กราบทูลให้ตรัสถามเอาจากผู้รู้ในบ้านเมือง นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความผิดพลาดอื่นๆ ที่จะเกิดตามมาอีก
ประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเข้าไปเฝ้ากราบทูลปัญหาให้พระราชาทรงทราบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เริ่ม “นับหนึ่ง” หรือขยับตัวเพื่อแก้ปัญหา ถ้าไม่คนกลุ่มนี้ จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาก็เกิดมีขึ้นไม่ได้
คนกล่มนี้เป็นใครกันบ้าง ต้นฉบับบาลีพระไตรปิฎกใช้ศัพท์ว่า :- อมจฺจา ปาริสชฺชา คณกมหามตฺตา อนีกฏฺฐา โทวาริกา มนฺตสฺสาชีวิโน
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๘
พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทยท่านแปลไว้ดังนี้ :- อมจฺจา ปาริสชฺชา = คณะอำมาตย์ข้าราชบริพาร คณกมหามตฺตา = โหราจารย์และมหาอำมาตย์ อนีกฏฺฐา = นายกองช้างนายกองม้า โทวาริกา = คนรักษาประตู มนฺตสฺสาชีวิโน = คนเลี้ยงชีพด้วยปัญญา
คัมภีร์อรรถกถาขยายความชื่อบุคคลเหล่านี้ไว้ดังนี้ :-
อมจฺจา ปาริสชฺชาติ อมจฺจา เจว ปริสาวจรา จ. คำว่า อมจฺจา ปาริสชฺชา หมายถึง เหล่าอำมาตย์และผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในสังคม (ปริสาวจรา = one who moves in the society- PTS Dict.)
คณกมหามตฺตาติ อจฺฉินฺทิกาทิปาฐคณกา เจว มหาอมจฺจา จ. คำว่า คณกมหามตฺตา หมายถึง เหล่าโหรผู้ชำนาญในคัมภีร์เช่นคัมภีร์อัจฉินทิกะ ว่าด้วยการทำนายผ้าขาดเป็นต้น และเหล่าอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ อนีกฏฺฐาติ หตฺถิอาจริยาทโย. คำว่า อนีกฏฺฐา หมายถึง พวกอาจารย์ทั้งหลายมีควาญช้างเป็นต้น โทวาริกาติ ทฺวารรกฺขิโน. คำว่า โทวาริกา หมายถึง ผู้รักษาประตู
มนฺตสฺสาชีวิโนติ มนฺตา วุจฺจติ ปญฺญา, ตํ นิสฺสาย กตฺวา เย ชีวนฺติ ปณฺฑิตา มหามตฺตา, เตสํ เอตํ นามํ. ในคำว่า มนฺตสฺสาชีวิโน ปัญญาเรียกว่า มนฺต (มนต์ = วิชาความรู้) ผู้ที่อาศัยปัญญาเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ เป็นบัณฑิต เป็นมหาอำมาตย์ คำว่า มนฺตสฺสาชีวิโน เป็นชื่อของคนเหล่านั้น
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๕๗ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา)
ผมชวนให้ศึกษาสังเกตเพื่อให้จับตาดูว่า กลุ่มคนที่มักจะทำหน้าที่เคลื่อนไหวเมื่อมีปัญหาสังคมมักจะเป็นคนกลุ่มไหน และควรจะเป็นคนกลุ่มไหน
ในทัศนะของผม และด้วยการตีความตามรูปศัพท์บาลี ผมเห็นว่าบุคคลที่ระบุสถานะไว้ในพระสูตรนี้ว่าเป็นผู้รวมตัวกันเข้าไปเฝ้าพระราชาเพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมือง ถ้าเทียบกับบุคคลในปัจจุบันน่าจะได้แก่กลุ่มคนต่อไปนี้ :-
อมจฺจา = ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ปาริสชฺชา = ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ระดับต่างๆ ในสังคม คณกมหามตฺตา = ผู้ทำงานด้านการประเมินหรือประมวลผล เช่นนักวางแผนและกำหนดโครงการเป็นต้น อนีกฏฺฐา = ผู้นำในสายอาชีพหลักๆ ของสังคม โทวาริกา = ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรักษาความปลอดภัยทุกระดับ (เช่นทหารเป็นต้น) มนฺตสฺสาชีวิโน = ครูบาอาจารย์และปัญญาชน
ถ้าบ้านเมืองมีปัญหา แล้วถามกันว่าใครควรจะเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา ก็ควรชี้ไปที่คนกลุ่มดังที่กล่าวนี้ และคนกลุ่มนี้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า-ไม่ใช่หน้าที่
เพราะฉะนั้น เมื่อบ้านเมืองมีปัญหา แล้วเราเห็นคนในกลุ่มเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหว ก็ไม่ควรจะสงสัยอีกต่อไป เพราะเขาทำกันมาตั้งแต่ยุคสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปีโน่นแล้ว แต่ก็อย่าเพิ่งจบแค่-ใครออกมาเคลื่อนไหว แต่ควรจะศึกษาสังเกตต่อไปให้เห็นวิธีเคลื่อนไหวด้วยว่าเขาทำกันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ตามที่ปรากฏในพระสูตรนี้ เขาไม่ได้ใช้วิธีออกมาด่าพระราชาตามท้องถนนดังที่คนในบางประเทศนิยมใช้กันในปัจจุบัน
หากแต่เขามีความเป็นสุภาพชนและข้อสำคัญ-เขากล้าหาญพอที่จะเข้าไปพูดกับพระราชาของพวกเขาตรงๆ แบบ-ตัวต่อตัว หรือแบบ-จับเข่าคุยกันนั่นเลย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔, ๑๘:๓๖
จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐), จักกวัตติสูตรศึกษา (๙), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)
0 comments: