เรื่องราวของการสังคายนา (การประชุมตรวจชำระคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นแบบเดียวกันด้วยการซักถามและท่องสวดพร้อมกัน) ครั้งแรก (ตอน 2)
[ณ วัดเชตวัน กรุงสาวัตถี ขณะที่พระอานนท์แวะพักระหว่างเดินทางไปทำสังคายนาที่กรุงราชคฤห์ ท่านรู้สึกแน่นร่างกายด้วยงานช่วงพระพุทธเจ้าปรินิพพาน จึงได้ฉันยาระบาย ในช่วงนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตรทราบว่าพระอานนท์มา จึงให้คนมานิมนต์ไปที่บ้าน ซึ่งพระอานนท์ตอบไปว่าขอเป็นวันรุ่งขึ้น เพราะวันนี้พึ่งฉันยาระบายไป พอรุ่งเข้า พระอานนท์พร้อมพระผู้ติดตาม ได้เข้าไปที่บ้านและได้ตอบคำถามของสุภมาณพโตเทยยบุตรว่าธรรมอะไรที่พระพุทธเจ้าเน้นให้ประชาชนยึดถือ จากนั้น พระอานนท์ได้สั่งให้ช่างบูรณะสถานที่ปรักหักพังในวัดเชตวัน แล้วเดินทางไปสมทบกับสายของพระมหากัสสปะและพระอนุรุทธะที่กรุงราชคฤห์ ]
[ขณะนั้นกรุงราชคฤห์ มีวัดอยู่ใน 18 ตำบล วัดทั้งหมดเหล่านั้นรกรุงรังด้วยของที่ถูกทิ้งและตกเกลื่อนเนื่องจากภิกษุทั้งหมดต่างเดินทางไปยังสถานที่ปรินิพพาน เหล่าพระเถระจึงมีความเห็นว่า]
ถ: ตลอดเดือนแรก เราควรบูรณะสถานที่ที่ทรุดโทรมเหล่านี้ก่อน เพื่อไม่ให้พวกเดียรถีย์ (พวกถือลัทธินอกพุทธศาสนา) วิจารณ์ได้ว่าพอพระศาสดาปรินิพพาน เหล่าภิกษุก็ทอดทิ้งวัดไปกันหมด หลังจากบูรณะเสร็จแล้วค่อยทำสังคายนา
[วันรุ่งขึ้น เหล่าพระเถระได้ไปยืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง พระเจ้าอชาตศัตรูได้เดินมาไหว้แล้วถามว่า]
อ: ท่านทั้งหลาย พากันมาทำอะไรหรือ มีสิ่งใดที่ข้าฯพอทำให้ได้บ้าง? ถ: มหาบพิตร พวกเราอยากจะขอกำลังคนมาช่วยบูรณะวัดทั้ง 18 ตำบล. อ: ได้เลยท่าน.
[หลังบูรณะเสร็จสิ้นในหนึ่งเดือน เหล่าพระเถระได้เข้าไปแจ้งพระเจ้าอชาตศัตรูว่า]
ถ: มหาบพิตร การบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว บัดนี้ พวกเราจะทำการสังคายนาพระธรรมและพระวินัย. อ: ดีเลยท่าน ขอให้ท่านทั้งหลายไม่ต้องห่วงเรื่องทางโลก ให้เป็นภาระของข้าฯ ส่วนเรื่องทางธรรม ขอให้เป็นภาระของท่าน บอกข้าฯได้เลยถ้าจะให้ทำอะไร. ถ: ขอท่านได้โปรดสร้างสถานที่นั่งประชุมสำหรับเหล่าภิกษุผู้ทำสังคายนาด้วย. อ: จะให้ข้าฯสร้างที่ไหนหรือ? ถ: ควรสร้างที่ปากถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภารบรรพต ขอถวายพระพร. อ: ได้ท่าน.
[จากนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูได้สั่งให้สร้างมณฑป (เรือนสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่) ตกแต่งราวกับเทพวิมานที่สร้างโดยช่างเทวดา มีเพดาน ฝา เสา บันไดที่งดงามลงตัว ประดับด้วยดอกไม้นานาชนิด มีการปูที่นั่งซึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือและเตรียมชุดสิ่งของเครื่องใช้ที่เหมาะควรสำหรับสมณะไว้ 500 ชุด มีการตั้งธรรมาสน์อันควรเป็นที่นั่งของพระพุทธเจ้าไว้ตรงกลางมณฑปหันหน้าไปทางทิศตะวันออกพร้อมวางพัดที่ตกแต่งด้วยงาช้างไว้ด้วย เมื่อนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูได้กล่าวว่า]
อ: ท่านผู้เจริญ งานของข้าฯสำเร็จแล้ว
[ครั้นแล้ว เหล่าภิกษุได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า]
ภ: ท่านผู้อาวุโส การประชุมจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ แต่ท่านยังไม่บรรลุอรหันต์ (เสขบุคคล) เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ควรเข้าไปประชุม ขอท่านจงฝึกฝนต่อไปเถิด
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 1 (พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 เล่ม 1 พาหิรนิทานวรรณา ปฐมสังคายนา), 2559, น.29-32
เรื่องราวของการสังคายนา (การประชุมตรวจชำระคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นแบบเดียวกันด้วยการซักถามและท่องสวดพร้อมกัน) ครั้งแรก (ตอน 1), พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงร่วมปฏิรูปพระศาสนา จั บ สึ ก พระอลัชชี
0 comments: