วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธภาษิตที่แสดงถึงหลักปฏิบัติเกี่ยวกับความว่างนั้น

พระพุทธภาษิตที่แสดงถึงหลักปฏิบัติเกี่ยวกับความว่างนั้น 

คือพระพุทธภาษิตที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

อาตมากำลังกล่าวเอ่ยถึงคำว่าเป็น "หัวใจของพุทธศาสนา" ฉะนั้น ขอให้สนใจสักหน่อย นั่นคือพระพุทธภาษิตที่ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา" ถ้าเป็นบาลีก็ว่า  "สพฺเพ  ธมฺมา  นาลํ  อภินิเวสาย"  แปลว่า  "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"  สั้นๆ เท่านี้ ตามตัวหนังสือมีเพียงเท่านั้น แต่ถ้าขยายความในภาษาไทยไปอีกหน่อยก็ว่า

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเราหรือของเรา

นี่ฟังดูให้ดีอาจจะเข้าใจได้ในตัวประโยคนั้นเองว่า "อันใครๆ" คือไม่ยกเว้นใคร "ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น" คือทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นตัวเราหรือว่าเป็นของของเรา เป็นตัวเราคือยึดมั่นว่าอัตตา เป็นความรู้สึกที่เรียกว่าอหังการ เป็นของเราก็คือเป็นอัตตนียา แปลว่าเนื่องด้วยตัวเรา เป็นความรู้สึกที่เรียกว่ามมังการ

อย่าได้มีอหังการหรือมมังการในสิ่งใดๆ หมด นับตั้งแต่ฝุ่นที่ไม่มีราคาอะไรเลยสักเม็ดหนึ่งขึ้นมาจนถึงวัตถุที่มีค่า เช่น เพชร นิล จินดา กระทั่งกามารมณ์ กระทั่งสิ่งที่สูงไปกว่านั้น คือธรมะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรค ผล นิพพาน อะไรก็ตาม ไม่ควรจะถููกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา

ธรรมะใกล้มือ เรื่องความว่าง (น.๑๔), ชุดแก่นพุทธศาสน์ หนังสือชนะเลิศรางวัล UNESCO แห่งสหประชาชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

ที่มา : สโมสรธรรมทาน - co dhamma space



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: