จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)
อวสาน
เมื่อมนุษย์กลับมีอายุขัยเพิ่มขึ้นถึงแปดหมื่นปี จักกวัตติสูตรบรรยายความต่อไปว่า :-
อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ อยํ ชมฺพุทีโป อวีจิ มญฺเญ ผุโฏ ภวิสฺสติ มนุสฺเสหิ เสยฺยถาปิ นฬวนํ วา สรวนํ วา ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้จักเป็นดังว่าอเวจี (ที่มีสัตว์นรกมากมาย) คือยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลายปานว่าป่าไม้อ้อหรือป่าไม้แขมฉะนั้น
อยํ พาราณสี เกตุมตี นาม ราชธานี ภวิสฺสติ อิทฺธา เจว ผีตา จ พหุชนา จ อากิณฺณมนุสฺสา จ สุภิกฺขา จ ฯ เมืองพาราณสีนี้จักเป็นราชธานีมีนามว่าเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งและรุ่งเรื่อง มีพลเมืองมาก มีผู้คนคับคั่ง และมีอาหารสมบูรณ์
อิมสฺมึ ชมฺพุทีเป จตุราสีตินครสหสฺสานิ ภวิสฺสนฺติ เกตุมติราชธานีปมุขานิ ฯ ในชมพูทวีปนี้จักมีเมืองแปดหมื่นสี่พันเมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นเมืองหลวง
เกตุมตีราชธานิยา สงฺโข นาม ราชา อุปฺปชฺชิสฺสติ จกฺกวตฺติ ธมฺมิโก ธมฺมราชา จาตุรนฺโต วิชิตาวี ชนปทฏฺฐาวริยปฺปตฺโต สตฺตรตนสมนฺนาคโต ... จักมีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่าพระเจ้าสังขะอุบัติขึ้น ณ เมืองเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ...
อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ เมตฺเตยฺโย นาม ภควา โลเก อุปฺปชฺชิสฺ ... เสยฺยถาปาหเมตรหิ โลเก อุปฺปนฺโน ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์อายุแปดหมื่น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรยจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ... เหมือนเราตถาคตผู้อุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๘
สรุปความตอนจบพระสูตรว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีก็จะมีผู้นำมนุษย์ที่มีคุณธรรมคุณสมบัติถึงขั้นที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเกิดขึ้นในโลกอีกวาระหนึ่ง ก็คือสังคมมนุษย์เริ่มยุคสมัยรุ่งเรืองกันใหม่ และพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าเมตไตรย-คือที่เราเรียกรู้กันว่า “พระศรีอารย์”-ก็จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก-เหมือนพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดมที่เสด็จอุบัติขึ้นในยุคสมัยของเรานี้ พระเจ้าสังขะจักรพรรดิราชนั้นครองราชสมบัติสมควรแก่กาลแล้วก็ทรงออกผนวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์
น่าสังเกตว่า ตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีในอดีตกาลนานไกลครั้งกระโน้นจนถึงมนุษย์มีอายุขัยร้อยปีในปัจจุบันวันนี้ พระสูตรไม่ได้เอ่ยถึงเลยว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนบ้างหรือเปล่า แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏแล้วก็คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์มีอายุขัยร้อยปี มีพระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้ ในพระสูตรมิได้เอ่ยถึง แต่ข้อเท็จจริงเป็นดังนั้น ถ้าใช้แนวคิดเดียวกันนี้ ก็ดูเหมือนจะอนุมานได้ว่า จากอายุขัยร้อยปีในบัดนี้ถอยหลังไปกว่าจะถึงอายุขัยแปดหมื่นปี น่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้บ้างแล้ว? ในภัทรกัป-คือช่วงเวลาที่กำลังเป็นไปอยู่ในบัดนี้-ท่านว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระเมตเตยยะ
คัมภีร์พุทธวงศ์แสดงรายละเอียดว่าด้วยพระชนมายุของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ไว้ว่า
พระกกุสันธะมีพระชนมายุสี่หมื่นปี, พระโกนาคมนะมีพระชนมายุสามหมื่นปี, พระกัสสปะมีพระชนมายุสองหมื่นปี, พระโคตมะมีพระชนมายุร้อยปี, ส่วนพระเมตเตยยะในจักกวัตติสูตรนี้บอกว่าจักเสด็จอุบัติขึ้นในสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี
ข้อมูลที่ต้องชัดเจนก่อนก็คือ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาตรัสรู้ห่างกันกี่ปี
ข้อสมมุติฐาน (เพราะยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล):
(๑) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์
หรือ -- (๒) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หลายพระองค์
ดูในจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี ไม่มีเอ่ยถึงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย แต่ข้อเท็จจริงมี ๑ พระองค์ คือพระโคตมะมาตรัสรู้เมื่อมนุษย์มีอายุขัยร้อยปี และจากจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยสิบปีขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปี ในระหว่างนี้ก็ไม่มีเอ่ยถึงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย ไปมีเอาในช่วงเวลาอายุขัยสูงสุดคือแปดหมื่นปี พระเมตเตยยะมาตรัสรู้
จึงน่าจะสรุปได้ว่า วงรอบที่จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็คือ จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง ช่วงเวลาระหว่างนี้แหละจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์ จะมาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนก็ดูที่พระชนมายุของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์
ดังนั้น ตามความในจักกวัตติสูตรที่กล่าวความตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง จึงมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์เดียว คือพระโคตมะ หรือพระพุทธโคดมที่พวกเรากำลังอยู่ในศาสนาของพระองค์ ณ กาลบัดนี้ และดังนั้น ที่ความในจักกวัตติสูตรบอกว่ามนุษย์เริ่มทำชั่วอย่างแรกคืออทินนาทาน และทำชั่วอย่างอื่นๆ สะสมเรื่อยมาจนถึงมนุษย์หมดความเคารพนับถือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ญาติผู้ใหญ่ในตระกูล สภาพเหล่านี้จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกยังไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้
อุปมาเหมือนสระน้ำที่มีจอกแหนปิดบังผิวน้ำอยู่เต็มสระ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์หนึ่งก็เหมือนทุ่มหินลงไปก้อนหนึ่ง หน้าผิวน้ำบริเวณนั้นก็ปลอดจากจอกแหนไปชั่วขณะหนึ่ง พอหมดแรงกระเพื่อม จอกแหนก็เคลื่อนเข้าปิดบังผิวน้ำไว้ตามเดิม
มนุษยชาติถูกสรรพกิเลสครอบงำจิตใจตลอดเวลาก็มีอุปมาฉันนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสในที่สุดว่า :-
อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา ฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เลย
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๙
โลกจะเจริญหรือโลกจะเสื่อมก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หน้าที่ของเราคือรู้ทันโลก เมื่อรู้ทันแล้ว จะวิ่งตามโลกหรือจะเดินตามธรรม ก็จงพิจารณาเอา จะเป็นกับมันหรือจะไม่เอากับมัน ก็จงพิจารณาเอา และจากนี้ไปจนกว่าจะถึงเวลานั้น จะทำอย่างไรกันก็จงพิจารณาเอา
ถ้าไม่ปรารถนาจะไปเจอสภาพเสื่อมสุดของมนุษยชาติ ก็ต้องพยายามสลัดออกจากวงเวียนเกิด-ตายนี้ให้ได้ แต่ถ้ายังเวียนตายเวียนเกิด ก็จงเชื่อเถิดว่าจะต้องเจอกับมันแน่นอน จะเจอแบบรู้ทันมันหรือแบบเป็นไปกับมัน ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเลือกเอง อนึ่ง เรามักตั้งความปรารถนากันว่าขอให้ได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย
พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้แล้วว่า พระเมตไตรยก็ตรัสสอนพระธรรมเหมือนกับที่พระพุทธองค์ตรัสสอนในบัดนี้นี่แหละ และ ณ เวลาบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ยังปรากฏอยู่ หนทางดำเนินเพื่อนำไปสู่ความไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดก็ยังมีผู้รู้เห็นชัดเจนอยู่
ทำไมเราจึงไม่ปฏิบัติดำเนินกันเสียตั้งแต่เวลานี้ ทำไมจะต้องรอไปจนถึงศาสนาของพระเมตไตรย แล้วแน่ใจหรือว่า ถ้ายังประมาทกันอยู่อย่างนี้เราจะรอดสันดอน-คือสัตถันดรกัปหรือยุคมิคสัญญี-ไปถึงศาสนาของพระเมตไตรยได้?
จักกวัตติสูตรศึกษาอวสานเพียงเท่านี้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔, ๑๘:๐๙
จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑), จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐), จักกวัตติสูตรศึกษา (๙), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)
0 comments: