วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2564

หลุดพ้นจากทุกข์ได้ด้วย"ปัญญา" หรือ "สัมมาทิฏฐิ"

หลุดพ้นจากทุกข์ได้ด้วย"ปัญญา" หรือ "สัมมาทิฏฐิ"

"การดับทุกข์" ก็คือ การดับความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ..อย่าให้มันเกิด ถ้ามันจะเกิดก็ดับมันทันที ทำอย่าให้มันเกิดได้ จึงจะเป็นการถูกต้องที่สุด เพราะฉะนั้น (พระพุทธองค์)จึงตรัสว่า..หลุดพ้นจากทุกข์ คือไม่ทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่น "อนุปาทา วิมุจฺจนฺติ" = หลุดพ้นจากทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่น 

ที่นี้ ก็มาถึงว่าจะหลุดพ้นได้อย่างไร?  หลุดพ้นได้ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง (พระพุทธองค์)จึงตรัสว่า.."สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพํ ทุกฺขํ อปจฺจคํ" = หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ 

สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความรู้อันถูกต้อง ว่าโลกนี้เป็นของว่าง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่คือสัมมาทิฏฐิสูงสุด สัมมาทิฏฐินี้บางทีไม่เรียกชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ บางทีเรียกชื่อว่า "ปัญญา" ฉะนั้น จึงมีประโยคบางประโยคที่ตรัสไว้ว่า "ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ" = ย่อมบริสุทธิ์จากทุกข์ได้ด้วย "ปัญญา" - พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : จากหนังสือ "โอวาทท่านพุทธทาส" จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธรักษา

.... “เราขาด“สัมมาทิฏฐิ”ข้อเดียว ปฏิบัติเท่าไหร่เราอาจจะไม่ได้ผล

.... หลวงพ่อชาบอกว่า เหมือนกับการจับปลาในหนองที่ไม่มีปลา จะขยันหมั่นเพียรเท่าไหร่ ถ้าไม่มีปลาอยู่ในที่นั้น ความเพียรก็จะเป็นหมัน

.... การทำ“ทิฏฐิ” คือ ความเห็น ให้ตรง หมายถึง การสั่งสม“สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งต้องอาศัยการค่อยๆล้างความเชื่อเก่า ล้างความคิดเห็นเก่า ล้างค่านิยม ทัศนคติ ล้างท่าทีต่อชีวิตและโลก ที่ยังประกอบด้วย กิเลส ตัณหา ออกจากจิตใจ แล้วย้อมใหม่ด้วยสิ่งที่เกื้อกูลต่อการพ้นทุกข์ ฝึกหยิบใช้คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในลักษณะที่เป็นเครื่องมือพิจารณาชีวิตของตน ใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ตน และประโยชน์คนอื่นให้สมบูรณ์” - พระเทพพัชรญาณมุนี ( ชยสาโรภิกขุ )

พุทธวจนะ ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ สัมมาทิฏฐิ หรือ ปัญญา ต้องมาก่อน

พระพุทธองค์ตรัสว่า... “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อการตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ ฉันนั้น ; ภิกษุผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นอันหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักรู้ชัดตามเป็นจริงว่า ทุกข์ คือดังนี้...เหตุให้เกิดทุกข์ คือดังนี้...ความดับทุกข์ คือดังนี้ ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ คือดังนี้  ( สํ. ม. ๑๙/๑๗๒๐/๕๕๒ )

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ 

สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร?  ( ด้วยสัมมาทิฏฐิ ) จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จักมิจฉาวาจา...สัมมาวาจา...มิจฉากัมมันตะ...สัมมากัมมันตะ ฯลฯ” ( ม. อ. ๑๔/๒๕๔-๒๘๐/๑๘๐-๑๘๗ )

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าอย่างไร?  เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้.  โดยนัยดังนี้แล พระเสขะ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงกลายเป็นพระอรหันต์ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐” ( ม. อ. ๑๔/๒๗๙/๑๘๗ )

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: