จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)
จักกวัตติสูตร (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๓ - ๕๐) นี้ พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่เมืองมาตุลา แคว้นมคธ
น่าศึกษาสืบค้นว่า เมืองนี้อยู่ตรงจุดไหนในปัจจุบัน
ผมเคยเสนอแนวคิดเปิดการศึกษาภูมิศาสตร์พุทธศาสนา คนไทยไปแสวงบุญที่อินเดียกันเสมอ ที่ไปเรียนก็มาก น่าจะมีใครที่มีกำลังทำโครงการ “ศึกษาภูมิศาสตร์พุทธศาสนา” คือไปอินเดียเพื่อไปสืบค้นว่าสถานที่ซึ่งมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก-เช่นเมืองมาตุลาเป็นต้น-นั้น ปัจจุบันอยู่ตรงไหน หรือถ้าจะให้ได้ผลดี ก็ขอความร่วมมือกับหน่วยงานทางภูมิศาสตร์-โบราณคดีของอินเดีย ขอข้อมูลที่เขามีอยู่ หรือศึกษาหาขอมูลใหม่ร่วมกัน
คิดไปคิดมา ก็ต้องมาลงที่คณะสงฆ์ไทย ถ้าคณะสงฆ์ไทยคิดเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้ ผมว่าไปได้โลด ลองคิดดู เอกชนไปเที่ยวอินเดีย กลับมาเขียนเล่าเรื่องเมืองนั้นเมืองโน้นเป็นสารคดี อ่านสนุก ได้ความรู้ เขายังทำกันเยอะไป
คณะสงฆ์ตั้งคณะทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นการเป็นงาน ทำได้ดีกว่าแน่ๆ คณะสงฆ์ไทยมีกำลังอยู่ในมือมากพอ ทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ หาทุนสนับสนุนเพิ่มเติมพระเราถนัดอยู่แล้ว ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าคณะสงฆ์คิดทำ โลกจะต้องอนุโมทนาชื่นชมยินดี
เชิญกลุ่มที่มีแนวคิด-พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ที่อินเดีย-มาร่วมงานด้วยก็ยังได้ ถ้าบุคคลกลุ่มนี้มีข้อมูลถึงขนาดรู้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ที่อินเดีย ก็น่าจะมีหลักฐานรู้ได้ด้วยว่าเมืองต่างๆ ที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกอยู่ที่ไหนกันบ้าง เพราะเมืองต่างๆ ในพุทธประวัติหรือในพระไตรปิฎกจะต้องสัมพันธ์สอดคล้องกันโดยตลอด. แค่ชื่อเมือง “มาตุลา” คำเดียวคิดไปได้ยาวไกล
กลับมาที่จักกวัตติสูตรกันต่อครับ
พระสูตรนี้เริ่มด้วยตรัสสอนภิกษุให้มีตนเป็นที่พึ่ง ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง แล้วตรัสเล่าถึงพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า ทัฬหเนมิ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว
เรื่องแก้ว ๗ ประการนี้น่าศึกษา ต้นฉบับในพระสูตรระบุว่า
ตสฺสิมานิ สตฺต รตนานิ อเหสุํ เสยฺยถีทํ จกฺกรตนํ หตฺถิรตนํ อสฺสรตนํ มณิรตนํ อิตฺถีรตนํ คหปติรตนํ ปริณายกรตนเมว สตฺตมํ.
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นผู้จัดทำ ตอนย่อเรื่องในจักกวัตติสูตร บอกไว้ว่า รัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิประกอบด้วย - ๑. จักร (ลูกล้อรถ) แก้ว (จักกรัตนะ) ๒. ช้างแก้ว (หัตถิรัตนะ) ๓. ม้าแก้ว (อัสสรัตนะ) ๔. แก้วมณี (มณีรัตนะ) ๕. นางแก้ว (อิตถีรัตนะ) ๖. ขุนคลังแก้ว (คฤหปติรัตนะ) ๗. ขุนพลแก้ว (ปริณายกรัตนะ)
ผมเอ่ยถึง-พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ก็เพื่อให้ญาติมิตรที่อ่านเกิดแรงบันดาลใจ อย่างน้อยๆ ก็จะได้รู้ว่า มีแหล่งสำหรับศึกษาพระไตรปิฎกอยู่ที่ไหนบ้าง
อรรถกถาบรรยายคุณสมบัติย่อๆ ของรัตนะแต่ละอย่างไว้ ขอยกมาเสนอในที่นี้ พร้อมคำบาลีกำกับไว้ด้วยเพื่อประโยชน์แก่นักเรียนบาลี
(๑) ทฺวิสหสฺสทีปปริวารานํ จตุนฺนํ มหาทีปานํ สิริวิภวํ คเหตฺวา ทาตุํ สมตฺถํ จกฺกรตนํ. จักรแก้วสามารถยึดสิริสมบัติของทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวารได้
(๒) ตถา ปุเรภตฺตเมว สาครปริยนฺตํ ปฐวึ อนุปริยายนสมตฺถํ เวหาสงฺคมํ หตฺถิรตนํ. ช้างแก้วเหาะไปบนเวหาสามารถแล่นไปรอบแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด (แล้วกลับมาที่เดิมได้) ก่อนเวลาอาหารทีเดียว
(๓) ตาทิสเมว อสฺสรตนํ. ม้าแก้วก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
(๔) จตุรงฺคสมนฺนาคเต อนฺธกาเร โยชนปฺปมาณํ อนฺธการํ วิธมิตฺวา อาโลกทสฺสนสมตฺถํ มณิรตนํ. ในความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ แก้วมณีสามารถกำจัดความมืดทำให้เห็นแสงสว่างได้เป็นบริเวณประมาณโยชน์หนึ่ง
(๕) ฉพฺพิธโทสวิวชฺชิตํ มนาปจาริ อิตฺถีรตนํ. นางแก้วมีความประพฤติเป็นที่พอใจ เว้นโทษ ๖ อย่าง
(๖) โยชนปฺปมาเณ อนฺโตปฐวีคตนิธึ ทสฺสนสมตฺถํ คหปติรตนํ. คหบดีแก้วสามารถเห็นขุมทรัพย์ที่อยู่ภายในแผ่นดินประมาณโยชน์หนึ่งได้
(๗) อคฺคมเหสิยา กุจฺฉิมฺหิ นิพฺพตฺติตฺวา สกลรชฺชมนุสาสนสมตฺถํ เชฏฺฐปุตฺตสงฺขาตํ ปริณายกรตนํ. ปริณายกแก้ว หมายถึงพระราชโอรสองค์ใหญ่ประสูติแต่พระอัครมเหสี สามารถครองราชสมบัติได้ทั้งหมด
ที่มาคำบาลี: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ หน้า ๖๔ (มหาปทานสุตฺตวณฺณนา)
ขออนุญาตเชิญชวนญาติมิตร-โดยเฉพาะนักเรียนบาลีทั้งหลาย-ช่วยทำการบ้าน ๒ ข้อ นั่นก็คือ - ๑ ความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ (รัตนะข้อ ๔) องค์ ๔ คืออะไรบ้าง
๒ นางแก้วมีความประพฤติเป็นที่พอใจ เว้นโทษ ๖ อย่าง (รัตนะข้อ ๕) โทษ ๖ อย่าง คืออะไรบ้าง
เป็นการฝึกการอ่าน ฝึกการค้นคว้า อุปมาเหมือนชาวครัวช่วยกันทำอาหาร ช่วยกันหาเครื่องแกง ช่วยกันหั่นผัก ขูดมะพร้าว ปอกหอมกระเทียม โขลกน้ำพริก ฯลฯ
ทำเสร็จแล้ว กินด้วยกัน ช่วยกันทำ ช่วยกันกิน ถือคติ - ถ้ากำลังวังชายังไม่สิ้น เราจะไม่นั่งรอกินท่าเดียว
๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๕:๐๕
จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)
0 comments: