มีอะไรอยู่ก็ต้องทิ้งหมดเมื่อตายไป ยกเว้นกรรม
[ตอนเที่ยงวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้า และเล่าให้ฟังว่า]
ป: เศรษฐีใหญ่คนหนึ่งในกรุงสาวัตถีเสียชีวิต ข้าพระองค์ได้ให้คนไปขนทรัพย์สมบัติมาไว้ในวัง เพราะเขาไม่มีลูกหลาน เฉพาะเงินนี่มีถึง 10 ล้าน เครื่องเงินอีกนับไม่ถ้วน แต่เศรษฐีผู้นี้กลับกินข้าวกับน้ำผักดอง ใส่เสื้อเนื้อหยาบ ใช้รถเก่าๆ
พ: ใช่ ชาติก่อนๆ เศรษฐีคนนี้เคยถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อ ตครสิขี แต่พอถวายแล้วเกิดเสียดาย คิดว่าเอาไปให้ทาสหรือกรรมกรดีกว่า และก็ยังไปฆ่าหลานซึ่งเป็นลูกพี่ชายตัวเองเพราะกลัวเขามาแย่งสมบัติ
-ด้วยผลกรรมที่ถวายบิณฑบาตพระปัจเจกพุทธเจ้า ทำให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ 7 ครั้ง และมาเกิดเป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้อีก 7 ครั้ง -ด้วยผลกรรมที่ถวายแล้วเกิดเสียดาย ทำให้ชาตินี้ไม่กิน ไม่แต่งตัว ไม่ใช้ของดีๆอะไรมากมาย -ด้วยผลกรรมที่ฆ่าหลานตัวเองเพราะหวงสมบัติ จึงทำให้ถูกไฟเผาในนรกหลายแสนปี และทำให้ทรัพย์สมบัติของตัวเองไม่มีใครรับช่วงต่อ ต้องถูกเก็บเข้าวังเป็นครั้งที่ 7. บุญเก่าที่เขาสะสมไว้นั้นหมดแล้ว บุญใหม่ก็ไม่ได้ทำ วันนี้เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก
ป: เศรษฐีคนนี้ไปเกิดในมหาโรรุวนรกหรือ?
พ: ใช่ ไปเกิดในมหาโรรุวนรกแล้ว ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ เงินทองที่หวงแหน หรือคนงาน คนรับใช้ที่เขามีอยู่นั้น เขาเอาไปไม่ได้เลย ต้องทิ้งไว้ทั้งหมด มีแต่กรรมที่ทำไว้นั่นแหละที่เป็นสมบัติของเขา กรรมนั้นจะติดตามเขาไปเหมือนเงาตามตัว คนเราจึงควรทำแต่กรรมดีสะสมไว้ เพราะทุกคนจะต้องพึ่งบุญเหล่านั้นในโลกหน้า
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 24 (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ภาค 1 เล่ม 1 ทุติยอปุตตกสูตร), 2559, น.398-400
0 comments: