วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ความสุขที่เกิดจากปัญญา เป็นความสุขที่สมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์

ความสุขที่เกิดจากปัญญา เป็นความสุขที่สมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์

ความสุขที่เกิดจากปัญญา ก็คือความรู้เท่าทันสังขาร รู้โลก และชีวิต ตามเป็นจริง รู้เท่าทันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ความสุขทั้งหลายนี้ ในที่สุด จะเป็นสุขจากการเสพวัตถุก็ตาม สุขในการอยู่กับธรรมชาติก็ตาม และแม้แต่สุขจากการทำความดีต่างๆ นี้ ล้วนแต่เป็นความสุขที่ยังต้องอิงอาศัย คือต้องอาศัยวัตถุ หรือปัจจัยภายนอก ขึ้นต่อสิ่งหรือบุคคลอื่น

เมื่อความสุขของเราอาศัยวัตถุ เราก็ฝากความสุขไว้กับวัตถุ ถ้าขาดวัตถุนั้นเราก็ขาดความสุข

ตอนแรกเราบอกว่าถ้าเรามีวัตถุนั้นเราจะมีความสุข ต่อมาเราเพลินไป ความสุขของเราก็ต้องอาศัยวัตถุนั้น ต้องขึ้นต่อมัน พอขาดวัตถุนั้นเราสุขไม่ได้ และกลายเป็นทุกข์ด้วย แย่ลงกว่าเก่า    อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสให้ระวัง เพราะจะเป็นการสูญเสียอิสรภาพ ทำอย่างไรเราจะรักษาฐานเดิมไว้ได้ คือ เรามีวัตถุนั้นเราก็มีความสุข แต่ถ้าไม่มีเราก็สุขได้ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่า เรายังตั้งหลักอยู่ได้ และยังมีอิสรภาพอยู่

เมื่อเราทำความดี เราก็มีสิทธิที่จะได้รับความสุขจากการทำความดีนั้น เช่น ด้วยศรัทธา ด้วยเมตตา ด้วยจาคะ เราบำเพ็ญประโยชน์ทำบุญทำกุศลแล้ว เราก็มีสิทธิ์ที่จะได้ความสุขจากบุญกุศลเหล่านั้น แต่มันก็ยังเป็นความสุขที่"อิงอาศัย" คือเราจะต้องอาศัยการระลึกถึงความดีหรือบุญถึงกุศลนั้นอยู่

ถ้าเป็นความสุขที่อิงอาศัย มันก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่นอกตัว ไม่เป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง ทำอย่างไรเราจะมีความสุขที่ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งอื่น  ถ้าความสุขนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น มันก็ผันแปรได้ และตัวเราก็ไม่เป็นอิสระ เพราะสิ่งนั้นตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ เป็นไปตามอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันสามารถกลับย้อนมาทำพิษแก่เราได้

สิ่งภายนอกที่เราอาศัยนั้นมันไม่ได้อยู่กับตัวข้างในเรา ไม่เป็นของเราแท้จริง เมื่อเราฝากความสุขไว้กับมัน ถ้ามันมีอันเป็นอะไรไป เราก็ทุกข์.   ความดีก็เหมือนกัน เมื่อเรามีความสุขเพราะอาศัยมัน ถ้าความดีนั้นเราไปทำแล้วคนอื่นไม่เห็นหรือไม่ชื่นชม บางทีใจเราก็หม่นหมองไปด้วย จึงเรียกว่าเป็นความสุขที่ยังอิงอาศัยอยู่

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องก้าวต่อไป สู่การมีปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าธรรมดาของสิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เป็นสังขาร จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เป็นความชั่ว หรือความดี เป็นวัตถุ หรือเป็นเรื่องของจิตใจ มันก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น

เมื่อรู้ความจริงแล้ว ก็จะเข้าถึงเท่าทันกระแสของธรรมชาติ เรียกว่า กระแสเหตุปัจจัย ปัญญาของเราก็เข้าไปรู้ทันกระแสเหตุปัจจัยนี้ พอปัญญารู้เท่าทันมันแล้ว เราก็วางใจได้ รู้สึกเบาสบาย เราก็รู้แต่เพียงตามเป็นจริงว่า เวลานี้สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เมื่อรู้ทันแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่ย้อนมาทำพิษแก่จิตใจของเรา "จิตใจของเราก็เป็นอิสระ" ตอนนี้ก็จะมาถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขาร มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นทุกข์ไปตามธรรมชาติของมัน ตามสภาวะ เรารู้เห็นความจริงของมัน แต่เราไม่พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย

ความสุขที่สมบูรณ์ และ ชีวิตที่สมบูรณ์

สิ่งทั้งหลายที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่างๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา เพราะมันอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างนั้น ไม่มีใครไปแก้ไขได้

แต่ที่มันเป็นปัญหา ก็เพราะว่า ในเวลาที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาตินั้น มันพลอยมาเบียดเบียนจิตใจของเราด้วย เพราะอะไร เพราะเรายื่นแหย่ใจของเราเข้าไปใต้อิทธิพลความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาตินั้นด้วย ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นปรวนแปรไปอย่างไร ใจของเราก็พลอยปรวนแปรไปอย่างนั้นด้วย เมื่อมันมีอันเป็นไปใจของเราก็ถูกบีบคั้นไม่สบาย

แต่พอเรารู้เท่าทันถึงธรรมดาแล้ว กฎธรรมชาติก็เป็นกฎธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายที่เป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ทำไมเราจะต้องเอาใจของเราไปให้กฎธรรมชาติบีบคั้นด้วย เราก็วางใจของเราได้ ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติ ก็เป็นของธรรมชาติไป ใจของเราไม่ต้องเป็นทุกข์ไปด้วย

ตอนนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า “มีจิตใจเป็นอิสระ” จนกระทั่งว่า..แม้แต่ทุกข์ที่มีในกฎของธรรมชาติ ก็ไม่สามารถมาเบียดเบียนบีบคั้นใจเราได้ เป็นอิสรภาพแท้จริง ที่ท่านเรียกว่า “วิมุตติ”

เมื่อพัฒนามาถึงขั้นนี้ เราก็จะแยกได้ระหว่างการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายภายนอก กับ การเป็นอยู่ของชีวิตจิตใจภายในของเรา กล่าวคือ...  สำหรับสิ่งทั้งหลายภายนอก ก็ยกให้เป็นภาระของ “ ปัญญา ” ที่จะศึกษาและกระทำไปให้ทันกันถึงกันกับกระบวนการแห่ง เหตุ-ปัจจัย ของธรรมชาติให้ได้ผลดีที่สุด  ส่วนภายในจิตใจ ก็คงอยู่ “เป็นอิสระ” พร้อมด้วยความสุข

ความสุขจาก..ความเป็นอิสระ ถึงวิมุตติ ที่มีปัญญารู้เท่าทันพร้อมอยู่นี้ เป็นความสุขที่สำคัญ

พอถึงสุขขั้นนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปพึ่งอาศัยสิ่งอื่นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม มันจะกลายเป็นความสุขที่เต็มอยู่ในใจของเราเลย และเป็นสุขที่มีประจำอยู่ตลอดทุกเวลา เป็นปัจจุบัน

ความสุขที่เรานึกถึงหรือใฝ่ฝันกันอยู่นี้(ทุกวันนี้) มักเป็นความสุขที่อยู่ในอนาคต คือเป็นความสุขที่หวังอยู่ข้างหน้า และอิงอาศัยสิ่งอื่น แต่พอมีปัญญารู้เท่าทันความจริงแล้ว จะเกิดความสุขที่อยู่ในตัวเป็นประจำ และมีอยู่ตลอดทุกเวลา เป็นปัจจุบันทุกขณะ กลายเป็นว่าความสุขเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นชีวิตจิตใจของเราเอง

พอถึงตอนนี้ ก็ไม่ต้องหาความสุขอะไรอีก ถ้ามีอะไรมาเสริมให้ความสุขเพิ่มขึ้น เราก็มีความสุขที่เป็น “ส่วนแถม” และเราก็มีสิทธิ์เลือกตามสบายว่า..จะเอาความสุขนั้นหรือไม่ ไม่มีปัญหา และเมื่อสุขแถมนั้นไม่มี ก็ไม่เป็นไร เราก็สุขอยู่ตลอดเวลา.  

ตอนนี้ท่านเรียกว่า ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก พลังงานชีวิตที่เหลืออยู่ ก็ยกให้เป็นประโยชน์แก่โลกไป  นี่แหละ เป็น “สุขที่สมบูรณ์” และก็เป็น “ชีวิตที่สมบูรณ์” ด้วย.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “ความสุขที่สมบูรณ์”


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: