วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖)

ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

มนุษย์เริ่ม ทำ  ชั่ ว อย่างแรกคือ ลัก ข โ ม ย หรืออทินนาทานตั้งแต่ยุคที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี แล้วก็ทำ ค ว า ม ชั่ ว อย่างอื่นๆ พอกพูนขึ้นจนกระทั่งมีอายุขัย ๕๐๐ ปี ก็ ทำ ค ว า ม ชั่ ว ตามรายการในอกุศลกรรมบถครบหมดทั้ง ๑๐ ประการ

อกุศลกรรมบถ ๑๐ 

๑ ปาณาติบาต = การทำชีวิตให้ตกล่วง, ปลงชีวิต (destruction of life; killing)    ๒ อทินนาทาน = การถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยอาการขโมย, ลักทรัพย์ (taking what is not given; stealing)    ๓ กาเมสุมิจฉาจาร = ความประพฤติผิดในกาม (sexual misconduct)  ๔ มุสาวาท = การพูดเท็จ (false speech)   ๕ ปิสุณาวาจา = วาจาส่อเสียด (tale-bearing; malicious speech)  

๖ ผรุสวาจา = วาจาหยาบ (harsh speech)  ๗ สัมผัปปลาปะ = คำพูดเพ้อเจ้อ (frivolous talk; vain talk; gossip)  ๘ อภิชฌา = เพ่งเล็งอยากได้ของเขา (covetousness; avarice)  ๙ พยาบาท = คิดร้ายผู้อื่น (illwill)  ๑๐ มิจฉาทิฏฐิ = เห็นผิดจากคลองธรรม (false view; wrong view)

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [321]

เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕๐๐ ปี นอกจากทำอกุศลกรรมบถทุกอย่างแล้ว ก็มีเรื่องที่ประพฤติกันแพร่หลายอีก ๓ อย่าง  คือ  อธรรมราคะ  วิสมโลภะ  และมิจฉาธรรม   คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความหมายของคำเหล่านี้ไว้ดังนี้ :- 

อธมฺมราโคติ  มาตา  มาตุจฺฉา  ปิตา  ปิตุจฺฉา  มาตุลานีติ  อาทิเก  อยุตฺตฏฺฐาเน  ราโค.   คำว่า อธรรมราคะ หมายความว่า ความกำหนัดในฐานะอันไม่สมควร เป็นต้นว่า กำหนัดในมารดา กำหนัดในน้าหญิง กำหนัดในบิดา กำหนัดในอาหญิง กำหนัดในป้า   วิสมโลโภติ  ปริโภคยุตฺเตสุปิ  ฐาเนสุ  อติพลวโลโภ.  คำว่า วิสมโลภะ หมายความว่า แม้ในฐานะที่ควรบริโภคก็มีความโลภอย่างรุนแรง   มิจฺฉาธมฺโมติ  ปุริสานํ  ปุริเสสุ  อิตฺถีนญฺจ  อิตฺถีสุ  ฉนฺทราโค.  คำว่า มิจฉาธรรม หมายความว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๕๙ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา) 

ขมวดความตามอรรถกถาก็คือ -

(๑) อธรรมราคะ คือ ความกำหนัดในฐานะอันไม่สมควร เช่น พ่อกับลูกสาวเกิดกำหนัดกันเอง แม่กับลูกชายเกิดกำหนัดกันเอง หญิงชายที่เป็นญาติกันเกิดกำหนัดกันเอง 

(๒) วิสมโลภะ คือ แม้ในเรื่องหรือในสิ่งที่ตนควรบริโภคใช้สอยเสพเสวยได้ตามฐานะตามสิทธิ์แท้ๆ ก็ยังมีความอยากได้อย่างรุนแรงเกินพอดี (อธิบายให้เข้าชุดกับอธรรมราคะและมิจฉาธรรม ก็คือ ที่ควรจะเสพสมกันตามปกติก็จะเสพกันอย่างโลดโผนดุเดือด)

(๓) มิจฉาธรรม คือ ความกำหนัดพึงใจกันระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปดังกล่าวนี้ อายุขัยก็ลดลงเหลือ ๒๐๐ ปี  เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐๐ ปี เรื่องที่ประพฤติกันแพร่หลาย คือ -  (๑) อมตฺเตยฺยตา ความไม่ปฏิบัติชอบในมารดา   (๒) อเปตฺเตยฺยตา ความไม่ปฏิบัติชอบในบิดา   (๓) อสามญฺญตา ความไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ   (๔) อพฺรหฺมญฺญตา ความไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์   (๕) นกุเลเชฏฺฐาปจายิตา ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล 

สรุปก็คือ นอกจากจะเหยียบย่ำกุศลกรรมบถราบคาบหมดแล้ว ความเคารพนับถือกันก็เหี้ยนเตียนตามไปด้วย ในขณะที่ความวิปริตทางเพศก็ยิ่งเฟื่องฟูขึ้น 

สภาพเช่นนี้มีมาตั้งสมัยเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐๐ ปี แล้วอายุขัยก็ลดลงเหลือ ๑๐๐ ปี 

คำนวณเวลาตามสูตร “๑๐๐ ปีผ่านไป อายุขัยลดลง ๑ ปี” ถอยหลังไปก็ประมาณ ๑๒,๕๐๐ ปีที่ล่วงมาที่ความเสื่อมทางจิตใจเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้น

รวมความว่า ความประพฤติละเมิดศีลละเมิดธรรมใดๆ ที่มนุษย์ในสมัยมีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ประพฤติ เริ่มแต่อทินนาทานเป็นต้นมา ความประพฤติละเมิดศีลละเมิดธรรมนั้นๆ ทุกอย่าง มนุษย์ก็ยิ่งประพฤติสะสมพอกพูนติดต่อกันมาจนถึงยุคที่มีอายุขัย ๑๐๐ ปี คือยุคสมัยของเราทุกวันนี้ 

กล่าวได้ว่า ความชั่วอะไรที่มนุษย์ในอดีตเคยทำกันมา มนุษย์ในสมัยเรานี้ก็ทำแล้วหมดทุกอย่าง และเริ่มจะทำความชั่วอย่างใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปอีก  ที่อยากจะชวนให้คิดเทียบเคียงเพื่อจะได้เกิดความรู้สึกสลดใจกันบ้างก็คือ 

“การกระทำที่คนสมัยก่อนเห็นกันว่าชั่ว คนสมัยนี้กลับเห็นกันว่าดี  การกระทำที่คนสมัยนี้เห็นกันว่าชั่ว คนสมัยหน้าก็จะเห็นกันว่าดี”

ยกตัวอย่างเช่น คนสมัยนี้เห็นว่าครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ ความเห็นอย่างนี้ถือว่าดี ถูกต้อง (อย่างน้อยก็มีคนส่วนหนึ่งยอมรับกันอยู่ว่าถูกต้องแล้ว)  แต่คนที่เห็นว่าครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณนั่นแหละ ลองฟังพฤติกรรมนี้ --

ทสวสฺสายุเกสุ  ... สมฺเภทํ  โลโก  คมิสฺสติ  ยถา  อเชฬกา  กุกฺกุฏา  สูกรา  โสณา  สิคาลา   เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี ... สัตว์โลกจักสมสู่ปะปนกันหมด เหมือนแพะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกที่มันสมสู่กันฉะนั้น

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๖

คนที่เห็นว่าครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณนั่นแหละได้ฟังอย่างนี้ก็จะเห็นว่า คนสมสู่กันแบบสัตว์ฉันรับไม่ได้ มันเกินไป  แต่คนสมัยหน้า-เมื่อมีอายุขัย ๑๐ ปี-เขายอมรับได้ เขาเห็นกันว่าดี ถูกต้อง และทำกันอย่างนั้นทั่วไปเป็นปกติ  นี่คือเรามองไปข้างหน้า

แต่ถ้าเรามองย้อนไปข้างหลัง คนสมัยโน้นถ้าใครพูดว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ เขาได้ฟังอย่างนี้ก็จะบอกกันว่า คนคิดแบบนั้นคิดผิด ฉันรับไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง  แต่สมัยนี้-สมัยเรานี่แหละ-ความคิดอย่างนี้มีคนเห็นกันแล้วว่าดี ยอมรับได้ และถือว่าถูกต้อง

ลองหัดคิด-มองไปข้างหน้า ย้อนไปข้างหลัง กลับไปกลับมา ก็จะเกิดความสะดุดใจว่า วันก่อนสิ่งที่เขาเคยเห็นกันว่าผิด วันนี้เรากลับเห็นว่าถูก-ฉันใด สิ่งที่เราเห็นว่าผิดในวันนี้ ก็จะมีคนเห็นว่าถูกในวันหน้า-ฉันนั้นเหมือนกัน เออหนอ ความคิดจิตใจคน มันเรียวลงไปได้ถึงเพียงนี้ แล้วเราควรจะเอาอะไรเป็นหลัก-ความนิยมของคน หรือหลักเหตุผลที่ถูกธรรม?

เป็นอันว่า วันนี้เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่อกุศลเฟื่องฟู กุศลฟุบแฟบ พร้อมไปกับอายุขัยที่ลดลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงยุคที่มนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของมนุษย์-ต่ำสุดทั้งอายุขัย ต่ำสุดทั้งพฤติกรรม ความคิด จิตใจ

ตอนหน้า: ไปฟังกันว่าจักกวัตติสูตรบรรยายความเสื่อมสุดของมนุษย์ไว้อย่างไรบ้าง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔,  ๑๐:๕๗ 

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕),  จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐)จักกวัตติสูตรศึกษา (๙)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: