พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานนี้ว่า “ผู้ใดพึงเข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ในกาลทุกเมื่อว่า “ถ้าในอดีต กรรมกิเลสไม่พึงมีแก่เรา ในปัจจุบัน อัตภาพนี้ก็ไม่พึงมีแก่เรา ในอัตภาพนี้ กรรมกิเลสจักไม่มีแก่เรา ในอนาคต วิปากวัฏก็จักไม่มีแก่เรา” ผู้นั้นมีปกติอยู่ด้วยอนุปุพพวิหารในกาลทั้ง ๓ นั้น พึงข้ามพ้นตัณหาที่ชื่อวิสัตติกาได้ โดยเวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้นนั่นแล” ดังนี้
อธิบายความ
คำว่า “กายคตาสติ” หมายถึง สติที่เป็นไปในกาย คือการใช้สติไปรู้ลมหายใจเข้าออก เช่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้ายาว ออกยาวเป็นต้น เพื่อละความดำริที่สับสนอันเกิดจากกามคุณ ๕ เป็นต้น หรือการใช้สติรู้อวัยวะในร่างกายของตน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นของไม่งาม ปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น พิจารณาไปจนเห็นความจริง จิตยอมรับความจริงได้ เกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัดยินดีในกาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นกายต่อไป ดังนี้เป็นต้น
คำว่า “กรรมกิเลส” หมายถึงกรรมเครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่าง คือ ๑. ปาณาติบาต การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ๒. อทินนาทาน การถือเอาของสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย ๓. กาเมสุ มิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม ๔. มุสาวาท การพูดเท็จ
กรรมกิเลส ๔ อย่างนี้ นักปราชญ์ไม่สรรเสริญเลย
คำว่า “อัตภาพ” หมายถึงตัวตน ร่างกาย ชีวิต รูปลักษณะ โดยปรมัตถ์หมายถึงขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ถ้าในอดีตชาติ เราไม่ได้ทำกรรมกิเลส อัตภาพคือขันธ์ ๕ ในปัจจุบันนี้ก็คงไม่มี และถ้าในปัจจุบันชาตินี้ เราไม่ทำกรรมเครื่องเศร้าหมองเหล่านั้นอีก กรรมที่จักเป็นปัจจัยให้วนเวียนไปในสังสารวัฏคือทำให้มีการเกิดในภพใหม่อีกก็คงจักไม่มี
ผู้ที่เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ในกาลทุกเมื่อ คือตามเห็นความเป็นของว่างอันมีในตน ในสังขารนั้น ในกาลทั้ง ๓ คือในขณะเกิด ขณะตั้งอยู่ และขณะดับไป, ตัณหาที่ชื่อว่า “วิสตฺติกา” คือตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ อันมีรากเป็นพิษ อันมีผลเป็นพิษ อันมีการบริโภคเป็นพิษ อันแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม ตระกูล และคณะเป็นต้น ที่เราเคยยึดมั่นถือมั่นว่า “เป็นเรา เป็นของเรา” ก็ย่อมคลายไป ดับไป ในเวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้นนั่นแล ดังนี้.
สาระธรรมจากกัจจานสูตร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
20/8/64
0 comments: