วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)

พลังอำนาจแห่งจักรแก้ว   ทบทวนกันหน่อยก่อน รัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิคือ -  ๑. จักกรัตนะ จักรแก้ว  ๒. หัตถิรัตนะ ช้างแก้ว  ๓. อัสสรัตนะ ม้าแก้ว  ๔. มณีรัตนะ แก้วมณี  ๕. อิตถีรัตนะ นางแก้ว  ๖. คฤหปติรัตนะ ขุนคลังแก้ว  ๗. ปริณายกรัตนะ ขุนพลแก้ว

จักกรัตนะหรือจักรแก้วท่านยกขึ้นเป็นอันดับแรก คืออะไร ?

ในพระสูตรท่านบรรยายลักษณะของจักรแก้วไว้ดังนี้ :- ทิพฺพํ  จกฺกรตนํ  ปาตุภวิสฺสติ  สหสฺสารํ  สเนมิกํ  สนาภิกํ  สพฺพาการปริปูรํ.  จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง

เป็นอันชัดเจนว่า จักรแก้วในที่นี้ไม่ใช่อาวุธในนิยาย รูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ สำหรับขว้างไปสังหารปรปักษ์ 

หากแต่หมายถึงล้อรถ

คำว่า กำ กง ดุม (บาลี: กำ = อร, กง = เนมิ, ดุม = นาภิ) เป็นส่วนประกอบของล้อเกวียนและล้อรถโบราณ  หาความรู้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกันหน่อย

กำ = ซี่ล้อรถหรือเกวียน  กง = ส่วนรอบของล้อเกวียนหรือล้อรถม้าเป็นต้น  ดุม = ส่วนกลางของล้อเกวียนหรือล้อรถที่มีรูสําหรับสอดเพลา

ที่ต้องพูดมากหน่อยเพราะผมเชื่อว่าคนไทยรุ่นใหม่ไม่รู้จักถ้อยคำพวกนี้  ในภาษาไทยมีสำนวนว่า “กงเกวียนกำเกวียน” ซึ่งมักจะมีคนเอาไปพูดผิดพลาดคลาดเคลื่อนเป็น “กงกำกงเกวียน” 

“กงกำกงเกวียน” เป็นคำพูดที่ผิด กรุณาอย่าจำเอาไปพูด  คำที่ถูกคือ “กงเกวียนกำเกวียน”  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า - 

“กงเกวียนกำเกวียน (สํานวน) ใช้เป็นคําอุปมาหมายความว่า เวรสนองเวร, กรรมสนองกรรม, เช่น ทําแก่เขาอย่างไร ตนหรือลูกหลานเป็นต้นของตนก็อาจจะถูกทำในทำนองเดียวกันอย่างนั้นบ้าง เป็นกงเกวียนกําเกวียน.”

ผมโชคดีที่เป็นคนรุ่นเก่าหน่อย เคยเห็น เคยสัมผัส เคยใช้งานจริงของพวกนี้ เกิดทันช่างที่ผลิตอุปกรณ์พวกนี้ ผมเชื่อว่าช่างไทยที่ทำเป็นทำได้น่าจะยังมีอยู่ ทางราชการควรฟื้นฟูรักษาภูมิปัญญาไทยเอาไว้ก่อนที่จะสูญ (หน่วยงานที่พอจะเป็นความหวังคือ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ) ไม่ใช่ทำเป็นของประดับสวนประดับบ้าน หรือของที่ระลึกนะครับ แต่ผลิตเป็นของใช้งานจริง

พระสูตรบรรยายภารกิจการทำงานของจักรแก้วไว้ดังนี้  พระเจ้าจักรพรรดิประกาศว่า -

ปวตฺตตุ  ภวํ  จกฺกรตนํ  อภิวิชินาตุ  ภวํ  จกฺกรตนํ.   ขอจักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไปทั่วโลกเถิด  ขอจักรแก้วอันประเสริฐจงชนะโลกทั้งปวงเถิด

ลำดับนั้น จักรแก้วก็หมุนไปทางทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จติดตามไป  จักรแก้วไปหยุดยั้งอยู่ ณ ดินแดนใดทางทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าไปประทับ ณ ดินแดนนั้นพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา  ทุกเมืองที่จักรแก้วผ่านไปต่างก็ยอมอ่อนน้อม ประกาศยกบ้านเมืองถวายว่า -

เอหิ  โข  มหาราช   สฺวาคตํ  เต  มหาราช   สกนฺเต  มหาราช  อนุสาส  มหาราช.  ขอเชิญเสด็จมาเถิดมหาราชเจ้า  พระองค์เสด็จมาดีแล้ว  ราชอาณาจักรเหล่านี้เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น  ขอพระองค์จงทรงปกครองเถิดมหาราชเจ้า

พระเจ้าจักรพรรดิตรัสแก่เจ้าเมืองทั้งหลายว่า -

ปาโณ  น  หนฺตพฺโพ,  อทินฺนํ  นาทาตพฺพํ,  กาเมสุ  มิจฺฉา  น  จริตพฺพา, มุสา  น  ภาสิตพฺพา,  มชฺชํ  น  ปาตพฺพํ ...  พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์   ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้  ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย  ไม่พึงกล่าวคำเท็จ  ไม่พึงดื่มน้ำเมา 

ยถาภุตฺตญฺจ  ภุญฺชถาติ.   จงเสวยสมบัติตามเดิมเถิด

ครั้นแล้ว จักรแก้วนั้นก็ลงไปสู่สมุทรด้านทิศบูรพา แล้วโผล่ขึ้นที่สมุทรด้านทิศทักษิณ ทิศปัจฉิม ทิศอุดร บรรจบถึงสมุทรด้านทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จติดตามไป 

จักรแก้วไปถึงดินแดนใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าไปประทับ ณ ดินแดนนั้นพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ทุกบ้านเมืองต่างยอมอ่อนน้อมหมดทั้งสิ้น

เป็นอันว่าแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตทั้ง ๔ ทิศ อยู่ในอำนาจของพระเจ้าจักรพรรดิหมดสิ้น ทั้งนี้ด้วยพลังอำนาจแห่งจักกรัตนะ คือจักรแก้ว  น่าจะเป็นเพราะพลังอำนาจแห่งจักกรัตนะคือจักรแก้วนี่เอง เป็นเหตุให้พระราชาได้นามว่า “พระเจ้าจักรพรรดิ”

“จักรพรรดิ” บาลีเป็น “จกฺกวตฺติ” (จัก-กะ-วัด-ติ) แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้(๑) “ผู้เป็นไปด้วยจักกรัตนะ” (คือประพฤติตามราชประเพณีมีปราบคนชั่วเป็นต้น)  (๒) “ผู้ยังจักกรัตนะให้เป็นไป” (คือปล่อยจักกรัตนะให้ลอยไปข้างหน้าของตน)   (๓) “ผู้หมุนวงล้อแห่งบุญ หรือวงล้อแห่งรถให้เป็นไปในเหล่าสัตว์ หรือทรงให้เหล่าสัตว์เป็นไปในวงล้อนั้น” 

(๔) “ผู้บำเพ็ญทศพิธราชธรรมถึงสิบปีเพื่อให้จักกรัตนะเกิดขึ้น”   (๕) “ผู้ปฏิบัติจักรธรรม” (คือธรรมเนียมปฏิบัติ ๑๐ หรือ ๑๒ ประการ)  (๖) “ผู้ยังอาณาจักรและธรรมจักรให้เป็นไปในหมู่สัตว์ทั้งสี่ทวีป”   (๗) “ผู้ยังจักรคืออาณาเขตให้เป็นไปไม่ติดขัด”   (๘ ) “ผู้ยังจักรคือทานอันยิ่งใหญ่ให้เป็นไป” 

ตอนหน้า: ถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔, ๑๘:๐๐

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒) จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: