วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕)

ถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

ขออนุญาตแทรกประเด็นเกี่ยวกับทางราชการบ้านเมืองเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาหรือไม่เห็น ที่พูดค้างไว้ในตอนก่อน  จะว่าผู้บริหารบ้านเมืองของเราไม่ให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนาไปเสียทั้งหมดก็จะเป็นบาปปาก เอาเป็นว่าขอสรุปทั้งด้านบวกและด้านลบไว้เป็นข้อสังเกตเตือนใจดังต่อไปนี้ 

๑. สมัยหนึ่ง รัฐบาลไทยเคยหยุดราชการวันพระ เพื่อให้ข้าราชการและครอบครัวได้ไปวัดบำเพ็ญบุญ เป็นการให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนา แต่ทำอยู่ได้ไม่นานก็ยกเลิก เปลี่ยนเป็นหยุดราชการเสาร์-อาทิตย์ อ้างว่าเป็นสากล

๒. โปรดสังเกตไว้ว่า :-  วันอาทิตย์ เป็นวันหยุดของศาสนาคริสต์ ชาวคริสต์ในไทยก็ยังหยุดอยู่  วันศุกร์ เป็นวันหยุดของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมในไทยก็ยังหยุดอยู่  วันพระเป็นวันหยุดของศาสนาพุทธ ราชการไทยไม่หยุด-เหตุผลมีเป็นกระบุง แม้แต่พระก็ยังเห็นด้วย

๓. รัฐสภาไทยซึ่งสมาชิกเป็นชาวพุทธแทบทั้งหมด ไม่ได้พิจารณาให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ตรงกันข้ามกลับมีคำประกาศจากผู้มีเสียงดังในแผ่นดินว่า ถ้าบัญญัติเช่นนั้น “เลือดจะนองท่วมท้องช้าง” 

๔. ชาวพุทธเองเป็นจำนวนมาก-แม้แต่พระ-ยังพากันเชื่อว่า ตามข้อเท็จจริงเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นี่คือเราส่วนมากยังไม่ตื่นจากความหลับ-ว่าประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ทุกอย่างต้องบัญญัติเป็นกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ฯลฯ จึงจะมีผลบังคับใช้ ข้อกฎหมายใหญ่กว่าข้อเท็จจริง

ชี้ตัวอย่างให้เห็นชัดๆ - ชายหญิงจะเป็นสามี-ภรรยากัน ต้องจดทะเบียนสมรส แต่ยังมีชายหญิงรุ่นเก่าอีกเป็นจำนวนมากที่บอกว่า อยู่กินด้วยกัน นอนด้วยกันทุกคืน เป็นสามีภรรยากันอยู่แล้ว จะต้องไปจดทะเบียนเหมือนวัวเหมือนควายอีกทำไม  แต่พอฝ่ายหนึ่งตาย มีคนเอาทะเบียนสมรสมาอ้างขอรับมรดก ถึงตอนนั้นแหละจะรู้สึก - ฉันใดก็ฉันนั้น

๕. หน่วยราชการไทยที่มีตำแหน่งทางพระพุทธศาสนาชัดเจนมีเฉพาะกระทรวงกลาโหมเท่านั้น คือมีตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ทำหน้าที่อบรมศีลธรรมให้แก่กำลังพล กล่าวตามสำนวนนิยมว่า-อบรมตั้งแต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพจนถึงพลทหารคนสุดท้าย

๖. อีกหน่วยหนึ่งที่มีตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” คือกรมราชทัณฑ์ แต่ทำหน้าที่อบรมผู้ต้องขังเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่อบรมข้าราชการ (ขณะที่เขียนเรื่องนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ในกรมราชทัณฑ์ยังมีอยู่หรือเปล่า เพราะเคยมีกระแสข่าวว่าจะยกเลิก)

๗. หน่วยราชการอื่นๆ ไม่มีตำแหน่งทางพระพุทธศาสนา ยกเว้นกรมการศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่การบรรจุบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานทั้งสองนี้ก็ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้นับถือศาสนาคริสต์นับถือศาสนาอิสลามก็สามารถเป็นอธิบดีกรมการศาสนาและเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ กรมการศาสนานั้นเราเคยเห็นมาแล้วในอดีต ส่วนสำนักพุทธฯ เราจะได้เห็นกันในอนาคต

๘. หน่วยราชการที่ควรมีตำแหน่งทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่อบรมศีลธรรม คือสถานศึกษาทุกระดับชั้น แต่กลายเป็นว่าคนในสถานศึกษานั่นเองเรียกร้องให้ยกเลิกวิชาศีลธรรม

๙. เวลานี้มีสิ่งบอกเหตุว่าคนไทยกำลังย้ายพระพุทธศาสนาไปไว้ที่ต่างประเทศ ดังนั้น ความอุตสาหะที่จะรักษาแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินพระพุทธศาสนานับวันจะอ่อนลง แต่มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะทิ้งที่มั่นแห่งนี้ไปหาที่มั่นแห่งใหม่ ประกอบกับคนไทยรุ่นใหม่ไม่ได้รับการอบรมปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ดังนั้นพระพุทธศาสนาก็จะยิ่งถูกปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรมไปเรื่อยๆ

๑๐. ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ ผู้บริหารการพระศาสนาของเราใช้นโยบาย “เฉยทุกเรื่อง” ไม่ว่าจะเสนอแนะอะไร ท่านไม่ขยับตัวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในอนาคต ราชการไทยจะใช่เพียงปฏิเสธหลักสูตรวิชาศีลธรรมเท่านั้น หากแต่จะปฏิเสธตัวพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั่นเลย-คอยดูกันไป

๑๑. แล้วทางออกหรือวิธีแก้ไขคืออย่างไร? ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาของเราตื่นขึ้นมาทำงาน ก็ยังพอมีความหวัง นั่นคือแนวทางและวิธีการแก้ไขจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เห็นได้ชัดแล้วว่าทำอย่างไรท่านก็ไม่ตื่นแน่ เพราะฉะนั้น ก็เหลือทางเดียว คือชาวพุทธแต่ละคนลงมือทำงานกันเอง ใครมีกำลังเรี่ยวแรงด้านไหนก็ลงมือทำกันไป

๑๒. วิธีหนึ่งที่แต่ละคนสามารถทำได้ทันทีก็คือ ลงมือหาความรู้ แล้วให้ความรู้แก่ผู้อื่นต่อไป โดยมีความคาดหวังว่า เมื่อเขาได้รู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา เขาก็จะหวงแหน และบำรุงรักษาให้มั่นคงถาวรอยู่สืบไป

๑๓. แหล่งที่จะหาความรู้ได้ก็คือ พระไตรปิฎกและหมายรวมถึงคัมภีร์ประกอบทั้งปวง เรามีนักเรียนบาลีทั้งที่เรียนจบแล้วและกำลังเรียนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย การเรียนบาลีก็คือการเตรียมตัวเดินทางเข้าสู่พระไตรปิฎกโดยตรง แต่แล้วก็-อีกนั่นแหละ นักเรียนบาลีของเราเรียนบาลีเพื่อเอาวุฒิ และเพื่อใช้วุฒิไปทำประโยชน์อย่างอื่นต่อไปทุกอย่าง-ยกเว้นเพื่อการเข้าถึงพระไตรปิฎก 

การเข้าถึงพระไตรปิฎกกลายเป็นเพียงผลพลอยได้ที่เชื่อกันว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัยหรือตามบุญตามกรรม ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมาย แล้วก็มีคำอธิบายสนับสนุนอีกมากมายรวมอยู่ในคำว่า-แม้จะไม่ไปถึงพระไตรปิฎก แต่ผู้เรียนก็ยังได้ความรู้อยู่นั่นเอง  ถ้าคนกลุ่มนี้ตั้งเป้าหมาย-เรียนบาลีเพื่อเข้าถึงพระไตรปิฎก การ “หาความรู้” และ “ให้ความรู้” ก็จะทำกันได้อย่างแพร่หลายกว้างขวางและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง นั่นหมายถึงโอกาสที่จะรักษาแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินพระพุทธศาสนาสืบไปก็จะเป็นไปได้อย่างยิ่ง

จึงพูดได้คำเดียวว่า-น่าเสียดาย

๑๔. แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราแต่ละคนยังมีโอกาสช่วยกันทำงาน “หาความรู้” และ “ให้ความรู้” ได้เสมอ การที่ผมศึกษาจักกวัตติสูตรแล้วนำมาเสนอต่อญาติมิตรทางเฟซบุ๊ก นี่ก็เป็นการ “หาความรู้” และ “ให้ความรู้” ทางหนึ่ง ซึ่งก็คือการเข้าถึงพระไตรปิฎกตามหน้าที่โดยตรงของนักเรียนบาลีนั่นเอง 

ถ้านักเรียนบาลีทั้งหลายช่วยกันทำงานแบบนี้ให้มากขึ้น เทพยดาที่รักษาพระศาสนาท่านก็ย่อมจะอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง และย่อมจะอวยชัยให้พรให้พวกเราทำงานรักษาพระศาสนาได้สำเร็จสมมโนปณิธานทุกประการ  ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือประเด็นที่ว่า-ทางราชการบ้านเมืองเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาหรือไม่เห็น ซึ่งได้แนวคิดมาจากนโยบายการบริหารบ้านเมืองในดินแดนในปกครองของพระเจ้าจักรพรรดิที่ใช้เบญจศีลหรือศีล ๕ เป็นหลัก

ตอนต่อไปจะได้ถอดความแก้วอีก ๖ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔,  ๑๑:๒๓

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: