วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๒)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๒) ปัญหาที่ ๑๑ อาจริยานาจริยปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

"น เม อาจริโย อตฺถิ,  สทิโส เม น วิชฺชติ;     สเทวกสฺมึ โลกสฺมึ   นตฺถิ เม ปฏิปุคฺคโล."  (วิ.มหา ๔/๑๒)  อาจารย์ของเราไม่มีหรอก บุคคลผู้เสมอเหมือนเราก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบได้กับเรา หามีไม่ ในโลกพร้อมทั้งเทวดา  ดังนี้ 

และยังตรัสไว้อีกว่า  "อิติ   โข   ภิกฺขเว   อาฬาโร   กาลาโม   อาจริโย   เม   สมาโน   อนฺเตวาสึ   มํ   สมานํ   อตฺตนา  สมสมํ  ฐเปติ  อุฬาราย  จ  มํ  ปูชาย  ปูเชสิ" (ม.มู. ๑๒/๒๘๕)  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ท่านอาฬารกาลามะ ผู้เป็นอาจารย์ของเรา ได้แต่งตั้งเราผู้เป็นศิษย์ ให้เป็นผู้เท่าเทียมกับตน ทั้งได้บูชาเรา ด้วยการบูชาที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระตถาคตตรัสไว้ว่า อาจารย์ของเราไม่มีหรอก บุคคลผู้เสมอเหมือนเราก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบได้กับเรา หามีไม่ ในโลกพร้อมทั้งเทวดา ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ท่านอาฬารกาลามะผู้เป็นอาจารย์ของเรา ได้แต่งตั้งเราผู้เป็นศิษย์ ให้เป็นผู้เท่าเทียมกับตน ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระตถาคตตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ท่านอาฬารกาลามะผู้เป็นอาจารย์ของเรา ได้แต่งตั้งเราผู้เป็นศิษย์ ให้เป็นผู้เท่าเทียมกับตน ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า อาจารย์ของเราไม่มีหรอก บุคคลผู้เสมอเหมือนเราก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบได้กับเรา หามีไม่ ในโลกพร้อมทั้งเทวดา ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระตถาคตตรัสความข้อนี้ไว้ว่า อาจารย์ของเราไม่มีหรอก บุคคลผู้เสมอเหมือนเราก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบได้กับเรา หามีไม่ ในโลกพร้อมทั้งเทวดา ดังนี้จริง และตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ท่านอาฬารกาลามะผู้เป็นอาจารย์ของเรา ได้แต่งตั้งเราผู้เป็นศิษย์ ให้เป็นผู้เท่าเทียมกับตน ทั้งได้บูชาเราด้วยการบูชาที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ ดังนี้จริง ก็แต่ว่า คำนั้นตรัสหมายเอาความที่พระองค์ทรงเป็นผู้มีอาจารย์ ก่อนการตรัสรู้ ยังไม่ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ เท่านั้น

ขอถวายพระพร ก่อนการตรัสรู้ พระองค์ผู้ยังไม่ตรัสรู้ ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ทรงมีอาจารย์ถึง ๕ พวก ซึ่งเป็นบรรดาอาจารย์ที่อนุศาสน์พระโพธิสัตว์ ให้พระองค์ทรงใช้เวลาตลอดทั้งวัน ให้ล่วงไปในศาสตร์นั้นๆ อาจารย์ ๕ พวกมีใครบ้าง ขอถวายพระพร พวกแรกได้แก่พราหมณ์ ๘ คน ที่ได้ทำนายพระลักษณะ เมื่อคราวพระโพธิสัตว์ประสูติใหม่ๆ คือ ท่านรมะ ท่านธชะ ท่านลักขณะ ท่านมันตี ท่านยัญญะ (โกณฑัญญะ) ท่านสุยามะ ท่านสุโภชะ ท่านสุทัตตะ พวกพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้น ได้สวดถวายโสตถิมงคล ทำการรักษาพระโพธิสัตว์นั้น ก็พราหมณ์พวกนั้น จัดว่าเป็นอาจารย์พวกแรก

ขอถวายพระพร ยังมีอีกคนหนึ่ง พระเจ้าสุทโธทนะพระราชนกของพระโพธิสัตว์ ทรงนำพระโพธิสัตว์เข้าไปหาพราหมณ์ชื่อว่า สัพพมิตตะ ผู้รู้บทมนต์ชั้นสูงเป็นอภิชาติ รู้คัมภีร์พยากรณ์อันมีองค์ ๖ ทรงใช้พระเต้าทองหลั่งน้ำ (เหนือมือพราหมณ์นั้น) มอบพระกุมารไป รับสั่งว่า ท่านจงฝึกสอนเด็กคนนี้เถิด ดังนี้ สัพพมิตตพราหมณ์ผู้นี้ จัดว่าเป็นอาจารย์คนที่ ๒.  

ขอถวายพระพร เทวดาผู้ที่ทำให้พระโพธิสัตว์สลดพระทัย เป็นผู้ที่พระโพธิสัตว์ทรงสดับคำพูดแล้วก็ทรงสลดหวาดหวั่นพระทัย เสด็จมหาภิเนษกรมในขณะนั้นนั่นเทียว เทวดาตนนี้จัดว่าเป็นอาจารย์ คนที่ ๓.  ขอถวายพระพร ยังมีอีกคู่หนึ่ง ท่านอาฬารกาลามะ ผู้บอกสอนการบริกรรม อากิญจัญญายตนฌาน ท่านผู้นี้ จัดว่าเป็นอาจารย์ คนที่ ๔

ขอถวายพระพร ยังมีอีกผู้หนึ่ง ท่านอุทกรามบุตร ผู้บอกสอนการบริกรรมเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ท่านผู้นี้จัดว่าเป็นอาจารย์คนที่ ๕ ขอถวายพระพร ก่อนการตรัสรู้พระองค์ผู้ยังไม่ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ทรงมีอาจารย์ ๕ พวก เหล่านี้แล ก็แต่ว่า ท่านเหล่านั้น ล้วนเป็นอาจารย์ผู้อนุศาสน์ในโลกียธรรม ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าอาจารย์ผู้ยอดเยี่ยม ผู้อนุศาสน์พระตถาคต เพื่อการแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณในโลกุตรธรรมนี้ หามีไม่ ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงเป็นพระสยัมภู (ผู้เป็นเอง) ไม่มีอาจารย์ เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงตรัสว่า อาจารย์ของเราไม่มีหรอก บุคคลผู้เสมอเหมือนเราก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบได้กับเรา หามีไม่ ในโลกพร้อมทั้งเทวดา ดังนี้.  

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบ อาจริยานาจริยปัญหาที่ ๑๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นผู้มีอาจารย์ หรือไม่มีอาจารย์ (แห่งพระพุทธเจ้า) ชื่อว่า อาจริยานาจริยปัญหา.  ในอรรถกถาชาดก กล่าวว่า กาลเวลาล่วงไปนับแต่วันที่พระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๕ วัน ในวันที่ ๕ นั้นนั่นแหละ พระเจ้าสุทโธทนะพระราชนกรับสั่งให้เชื้อเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาประกอบมงคลพิธีขนานพระนามพระราชโอรส ในบรรดาพราหมณ์เหล่านั้น พราหมณ์ ๘ คน มีท่านรามะ (รมะ) เป็นต้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจสอบพระลักษณะพยากรณ์พระกุมาร พราหมณ์ ๗ คน มีท่านรามะเป็นต้น ครั้นได้ตรวจสอบพระอวัยวะใหญ่น้อยของพระกุมารแล้ว ก็ยกมือชู ๒ นิ้วขึ้น พยากรณ์คติเป็น ๒ ว่า ถ้าหากทรงเพศฆราวาสครองเรือน ก็จะทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แผ่พระราชอำนาจไปได้ตลอด ๔ ทวีป ถ้าหากเสด็จออกบรรพชา ก็จะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดในโลก

ท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ (ซึ่งในปัญหานี้คือท่าน ญัญญะ) ซึ่งเป็นพราหมณ์หนุ่มน้อยอายุน้อยเพียงผู้เดียวเท่านั้น ยกมือชูนิ้วเดียวเท่านั้น พยากรณ์เป็นคติเดียวว่า จะไม่ทรงอยู่ครองเรือนแน่นอน จะเสด็จออกบรรพชา แล้วจะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประการเดียวเท่านั้น.  ท่านโกณฑัญญะเชื่อมั่นในคำพยากรณ์ของตน เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป ถึงคราวที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชา ท่านโกณฑัญญะทราบข่าวแล้ว ก็ไปชักชวนพราหมณ์ทั้ง ๗ เหล่านั้น ให้ออกบวชตาม บุคคลเหล่านั้น มิได้มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน, ๓ คนไม่ยินดี, ๔ คนเท่านั้นยินดี ยกท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ออกบวชติดตามพระโพธิสัตว์ บุคคล ๕ เหล่านั้น ต่อมาเกิดได้ชื่อว่า “พระปัญจวัคคีย์” (มีพวก ๕)

ส่วนใน อรรถกถาพระสูตรอังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต กล่าวไว้แปลกไปว่า เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ได้ทูลพยากรณ์คติของพระโพธิสัตว์อย่างนั้นแล้ว พราหมณ์ ๗ คน มีท่านรามะเป็นต้น ได้กลับไปแนะนำบุตรของตนให้ออกบวชติดตามเจ้าชายสิทธัตถะ ถ้าหากว่าพระองค์เสด็จออกบรรพชา เพราะพระองค์อาจจะไม่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แนะนำอย่างนี้แล้วก็รอเวลาอยู่ ครั้นสมัยต่อมา เมื่อถึงคราวที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชา ในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ที่พยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้น พราหมณ์ ๗ คนเหล่านั้น ได้ทำกาลกริยาไปก่อนแล้ว เหลืออยู่แต่ท่านโกณฑัญญะผู้เดียวเท่านั้น ท่านโกณฑัญญะ ครั้นทราบข่าวการเสด็จออกบรรพชาของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็ไปชักชวนบุตรของพราหมณ์ทั้ง ๗ ให้ออกบวชตาม บุคคลเหล่านั้น มิได้มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน, ๓ คนไม่ยินดี, ๔ คนเท่านั้นยินดี ยกท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ออกบวชติดตามพระโพธิสัตว์ไป บุคคลทั้ง ๕ ซึ่งรวมทั้งท่านโกณฑัญญะด้วยนั้น ต่อมาได้ชื่อว่า “พระปัญจวัคคีย์”

คำว่า ล้วนเป็นอาจารย์ผู้อนุศาสน์โลกียธรรม คือ ล้วนเป็นอาจารย์ผู้กล่าวสอนในวิชาศิลปะทั้งหลายบ้าง ในพระเวทบ้าง เป็นต้น ตลอดจนการบำเพ็ญฌานสมาธิในสมถกรรมฐาน ทั้งฝ่ายรูปกรรมฐาน ทั้งฝ่ายอรูปกรรมฐาน อันล้วนนับเนื่องในโลกียธรรม อันเป็นธรรมที่ประกอบในโลก นับเนื่องในโลก ทั้งเป็นโลกียธรรมที่มิได้มีส่วนเป็นปัจจัย คือไม่ได้เป็นบาทแก่การบรรลุโลกุตรธรรม คือพระนิพพาน ซึ่งได้ชื่อว่าโลกุตรธรรม เพราะเป็นธรรมที่ข้ามขึ้นจากโลกนั้นเลยเทียว

หมายเหตุ

เนื้อความในอรรถกถาอังคุตตรนิกาย น่าจะถูกต้องกว่า เพราะกว่าพระโพธิสัตว์จะเสด็จออกบรรพชา เมื่อคราวที่ทรงมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา พราหมณ์ผู้เฒ่าทั้ง ๗ นั้น ก็น่าจะทำกาลกริยาไปก่อนแล้ว อีกประการหนึ่ง ในบรรดา ๕ รูปที่ติดตามบวช ยกเว้นท่านโกณฑัญญะแล้ว ท่าน ๔ รูปที่เหลือ หามีชื่อว่ารามะเป็นต้น เหมือนอย่างชื่อที่ปรากฎในบรรดา ๗ คน คลังสมัยที่ทำพิธีพยากรณ์นั้นไม่สักคนเดียว ทว่า ปรากฏชื่อว่า วัปปะ มหานาม ภัททิยะ อัสสชิ ตามที่รู้กันทั่วไปนั้น ต่างหาก ซึ่งชื่อว่า วัปปะ เป็นต้น น่าจะเป็นชื่อบุตรของท่านเหล่านั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๑. จบสันถวรรคที่ ๕  ในวรรคนี้มี ๑๑ ปัญหา. จบ เมณฑกปัญหากัณฑ์. จบเล่ม ๒

ในเล่มที่ ๒ นี้มี ๒ กันฑ์คือลักขณปัญหากันฑ์และ เมณฑกปัญหากัณฑ์ ประกอบด้วย ๕ วรรครวมปัญหาได้ ๕๑ ปัญหา.  หนังสือมิลินทปัญหาที่กระผมคัดลอกมานี้ ผู้เรียบเรียง คืออาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

ผู้จัดพิมพ์เผยแผ่หนังสือเล่มนี้เพื่อธรรมทาน คือ อาจารย์ ปราณีสำเริงราชย์ สำนักวิวัฏฏะ วัดเขาสนามชัย ในนามมูลนิธิปราณี สำเริงราชย์ กระผมขออนุโมทนา สาธุ ในมหากุศลจิต ด้วยครับ.  จบมิลินทปัญหา ตอนที่ ๔๒

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: