พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานนี้ว่า
“จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดุจภูเขา ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคืองผู้ใด อบรมจิตได้อย่างนี้ ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน”
อธิบายความ
จิตของพระอรหันตขีณาสพผู้สิ้นอาสวะแล้ว เปรียบเสมือนกับภูเขาหินเป็นแท่งทึบ เพราะพระอรหันต์ไม่มีกิเลสเครื่องเอนเอียงทั้งหมด จึงไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ คือลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์แม้ทั้งปวง
คำว่า “ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด” หมายถึง ปราศจากความยินดีในธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ คือกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิแม้ทั้งหมด อันเป็นเหตุเกิดราคะซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีด้วยอริยมรรค คือตัดขาดอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดได้ด้วยอริยมรรค
คำว่า “ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง” หมายถึง ไม่โกรธ ไม่ขัดเคือง ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง คือในอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอาฆาตแค้น
จิตที่พระอริยบุคคลอบรมดีแล้ว จนเข้าถึงความเป็นผู้คงที่ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ความทุกข์จักเข้าถึงซึ่งบุคคลผู้สูงสุดนั้นแต่ที่ไหน บุคคลเช่นนั้นย่อมไม่มีทุกข์ ดังนี้.
สาระธรรมจากอรรถกถายักขปหารสูตรหรืออรรถกถาชุณหสูตร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
13/8/64
0 comments: