เนกขัมมคุณ - คุณแห่งการออกบวช
เนกขัมมคุณ (คุณแห่งการออกบวช)
บุรุษผู้ติดอยู่ในเรือนจำ มีความทุกข์สิ้นกาลนาน เขาไม่มีความยินดีในเรือนจำนั้น แสวงหาแต่การหลุดพ้นจากเรือนจำเท่านั้น ฉันใด
เราก็เหมือนกันนั่นแหละ มองดูภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ จึงมุ่งหน้าต่อการบวช เพื่อความหลุดพ้น ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิบัติอยู่ ซ่องเสพธรรมอยู่ สอนตนอยู่เนืองนิตย์ ขอเนกขัมมคุณของเรา จงเป็นพลวปัจจัยแห่งพระนิพพานเทอญ ฯ
ปัญญาคุณ (คุณแห่งปัญญา)
ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตไปในตระกูลต่ำบ้าง ในตระกูลปานกลางบ้าง ในตระกูลชั้นสูงบ้าง ไม่เว้นตระกูลทั้งหลาย ย่อมได้อาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด
เราก็เหมือนกัน เที่ยวหาอาจารย์ผู้ให้ความรู้ ไม่มีมานะคือความถือตัวเข้าไปหาอาจารย์ผู้ให้ความรู้ทุกชนชั้น จะสอบถามท่านผู้รู้ตลอดกาล เพื่อบำเพ็ญปัญญาบารมีต่อไป ฉันนั้น.
เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิบัติอยู่ ซ่องเสพธรรมอยู่ สอนตนอยู่เนืองนิตย์ ขอปัญญาคุณของเรา จงเป็นพลวปัจจัยแห่งพระนิพพานเทอญ ฯ
ขันติคุณ (คุณแห่งความอดทน)
บุคคลผู้มีขันติ ย่อมมีใจไม่เป็นสอง สามารถอดทนอดกลั้นซึ่งความทุกข์ใหญ่ได้ ดุจไม่มีชีวิตจิตใจคลายแผ่นดิน คือไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้ประทุษร้าย แม้เขาจะหมายเอาชีวิตตนก็อดทนอดกลั้นไม่ประพฤติให้ผิดศีลธรรม
ธรรมดาว่า แผ่นดินย่อมทนต่อสิ่งที่สะอาดบ้าง ต่อสิ่งที่ไม่สะอาดบ้าง สิ่งของทั้งหมดที่เขาทิ้งลงไป ย่อมไม่ทำความยินดียินร้าย ให้แก่แผ่นดิน แม้ฉันใด
เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องอดทนต่อการนับถือและความดูหมิ่นของชนทั้งปวง
เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิบัติอยู่ ซ่องเสพธรรมอยู่ สอนตนอยู่เนืองนิตย์ ขอขันติคุณของเรา จงเป็นพลวปัจจัยแห่งพระนิพพานเทอญ ฯ
ศีลคุณ (คุณแห่งศีล)
ศีล คือข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กําหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา เพื่อการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ผู้ยอมตายย่อมรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ ดังคำว่า
“จามรีมีขนหางติดอยู่ในที่ใดๆ ย่อมยอมตายในที่นั้นๆ ย่อมไม่ให้ขนหางเสียไป แม้ฉันใด เธอจงบำเพ็ญศีลทั้งหลายในภูมิ ๔ จงรักษาศีลทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหาง ฉันนั้นเหมือนกัน”
เพราะฉะนั้น สีลบารมีจึงเป็นพุทธการกธรรม คือธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้า
วิริยคุณ (คุณแห่งความเพียร)
ความเพียรเป็นคุณธรรมที่ช่วยประคับประคองใจมิให้ท้อถอย จนเป็นผู้มั่นคงในการประกอบกรรมดี ดังคำว่า
“สีหมิคราช (ราชสีห์ผู้เจ้าแห่งเนื้อ) มีความเพียรไม่ท้อถอย มีใจประคับประคองแล้วในการนั่ง การยืน การเดินทุกเมื่อ แม้ฉันใด ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงบำเพ็ญวิริยบารมีประคองความเพียรไว้ให้มั่น”
เพราะฉะนั้น จงเลือกเฟ้นธรรมคือความเพียรนี้เป็นเครื่องอบรมบ่มนิสัยให้สมบูรณ์หรือให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด ฯ
ทานบารมี (ให้ทานง่าย แต่ตัดใจยาก)
ดังเนื้อความในเรื่องพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก ในธรรมบท ว่า “จิตประกอบด้วยศรัทธาดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว แต่จิตประกอบด้วยความตระหนี่พันดวงเกิดขึ้นครอบงำศรัทธาจิตแม้นั้นอีก ความตระหนี่อันมีกำลังของเขาคอยกีดกันศรัทธาจิตไว้ ดุจจับมัดไว้อยู่เทียว”
เพราะฉะนั้น ผู้จะสร้างทานบารมีต้องเทหมดใจ เพื่อทำให้กิเลสคือความตระหนี่ที่อยู่ในจิตใจนั้นไหลลงไปหรือไหลออกไปจากจิตสันดานตน
เปรียบเหมือนหม้อน้ำที่ใครๆ คนใดคนหนึ่งคว่ำปากลง น้ำก็ไหลออกจากหม้อจนหมดไม่เหลือ เพราะมิได้จะรักษาน้ำไว้ในหม้อนั้น แม้ฉันใด ท่านเห็นยาจก (ผู้ขอ) ทั้งหลายแล้ว ผู้เป็นชนชั้นต่ำก็ตาม ชั้นกลางก็ตาม ชั้นสูงก็ตาม จงให้ทานโดยไม่เหลือ เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปากลง ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าหากยังเสียดายอยู่ ก็ยากที่จะบำเพ็ญทานบารมีนี้ให้เต็มได้ เพราะยังมีใจอาลัยถึงอยู่นั่นเอง.
สาระธรรมจากอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ (ว่าด้วยการกธรรม)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
0 comments: