วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ธรรมะออนไลน์ “วิธีคิด..พิชิตสุข” (๑ ธ.ค. ๖๔)


ธรรมะออนไลน์ “วิธีคิด..พิชิตสุข” (๑ ธ.ค. ๖๔)

วันนี้เสนอคำว่า “ลาทำไม?-ทำไมต้องลา?”

*ช่วงนี้..ตั้งแต่ท่าน ๒ พส. ประกาศออกสื่อว่าจะลา.. มีผู้ถามเข้ามามากว่า ลาทำไม..ทำไมต้องลา?

*คำว่า “ลา” มีหลายความหมาย หลายนัยยะ แล้วแต่จะสื่อไปในทิศทางใด ไม่ว่าคน สัตว์ กิริยา มารยาท พิธีกรรม ฯ

*ลา - หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่งเลี้ยงลูกด้วยนม มีลักษณะคล้ายม้า แต่ตัวเล็กกว่า

*ลา - เรียกการจบหรือสิ้นสุดลงระยะหนึ่ง ๆ ของพิธีบางอย่าง เรียกว่า ลาหนึ่ง ๆ เช่น โห่สามลา ย้ำฆ้องสามลา เป็นต้น

*ลา - การจะจากไปโดยแสดงให้ทราบด้วยกริยาท่าทาง เช่น ลาด้วยคำพูด ลาด้วยการกราบ ลาด้วยการไหว้ หรือโบกมือลา

*ลา - ลาด้วยลายลักษณ์อักษรหรือตัวหนังสือ เพื่อขออนุญาตหยุดการปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ เป็นการชั่วคราว เช่น ลาประชุม ลาป่วย ลากิจ ลาพักผ่อน ลาไปศึกษา ลาไปทำธุระ ลาไปท่องเที่ยว ลาไปต่างประเทศ ฯ

*ลา - การขอรับคืนสิ่งของที่นำมาบูชาหรือเซ่นไหว้ เช่น ลาข้าวพระพุทธ (เสสํ มงฺคลํ ยาจามิ) พระภูมิ ลาของที่บนไหว้ เมื่อกล่าวคำลาเป็นการขออนุญาตแล้วก็ยกสำรับนั้น ๆ ออกมา

*ลา - ลาตายหรือลาไปปรโลก ข้าราชการที่สิ้นชีวิต ญาติประสงค์จะขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ นำธูปเทียนแพ กระทง กรวยดอกไม้ และหนังสือถวายบังคมลาตายไปกราบถวายบังคมที่สำนักพระราชวัง เป็นการกราบทูลข่าวการตายของบุคคลนั้น ๆ ให้ทรงทราบ

*ลา - ยังมีอีกหลายลา เช่น ลาบวช ลาพรรษา ลาโรง ลาลับ ลาโลก ลาออก (เพื่อพ้นสภาพที่ดำรงอยู่นั้น ๆ)

*อีกลาหนึ่ง..ที่นิยมกันมากและปฏิบัติกันเป็นประจำ คือ ลาสึก หรือลาสิกขา หรือลาจากสมณเพศ เป็นการเปลี่ยนภาวะหรือสถานภาพจากพระไปเป็นคน ถ้าผู้ลานั้นเป็นมหาหรือเปรียญ ท่านเรียกว่า “เปรียญลาพรต” กล่าวคือ เปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมจากสมณะสู่ความเป็นคฤหัสถ์, จากบรรพชิตสู่ความเป็น “ฑิต” ซึ่งย่อมาจากคำว่า “บัณฑิต” แปลว่า ผู้มีปัญญารักษาตน, จากความสงบสู่ความวุ่นวายแบบชาวโลก, จากความเป็นพระสู่ความเป็นชาวบ้าน, จากผู้ไม่มีเรือนสู่ความเป็นผู้ครองเรือน, เปลี่ยนจากประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยคือศีล ๒๒๗ ลงมาประพฤติปฏิบัติในศีล ๕ หรือศีล ๘, จากการครองผ้ากาสาวพัสตร์มาสู่การนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าแบบชาวบ้าน, จากอุดมเพศ (เพศภาวะที่สูงสุด) ลงมาสู่หีนเพศ (เพศภาวะที่ต่ำกว่า), จากเคยเข้มงวด-มาสู่ความผ่อนคลาย, จากเคยเคร่งครัด-มาสู่ความคล่องแคล่ว, จากผ้าเหลืองมาสู่ผ้าลาย, จากเส้นทางโลกุตตระ-สู่เส้นทางสายโลกียะ ฯ

*ปุจฉา..ทำไมจึงลา? ข้อนี้มีหลายเหตุผลซึ่งเป็นเหตุผลเฉพาะตนหรือเฉพาะบุคคลนั้น ๆ เช่น..

๑) เบื่อหน่าย - อยู่มานาน จำเจ ซ้ำซาก ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ สำนวนบาลีท่านใช้คำว่า “ไปเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว”

๒) อึดอัด - มีปัญหาเกิดความขัดข้องต่อบุคคลและสถานที่นั้น ๆ ที่เรียกว่า “คับที่อยู่ได้-คับใจอยู่ยาก” มีความกดดัน อึดอัด ขัดข้อง ขัดใจ ขัดแย้ง อยู่ไปก็เป็นตัวต่อปัญหาหรือเติมปัญหาทั้งแก่ตนและคนอื่น จึงตัดปัญหา รวมถึงกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ต่อสังคม เป็นการหนีปัญหา ดับความวุ่นวายหรือไปให้พ้นจากสถานการณ์นั้น ๆ เพราะอยู่ไปผู้ใหญ่ก็ไม่ปลื้ม

๓) จำเป็น - ลาหรือสึกเพราะกตัญญู มุ่งหมายไปดูแลบุพการีที่แก่ชราหรือป่วยไข้ หรือไปสานต่อธุรกิจหรือกิจการของครอบครัว

๔) หมดบุญ - หมดวาสนาที่จะบำเพ็ญสมณธรรมหรือบารมีธรรมในพระศาสนา ท่านเรียกว่า “หมดบุญผ้าเหลือง” หรือ ”ร้อนผ้าเหลือง” (แท้จริง..ผ้าเหลืองมิได้ร้อน แต่ที่ร้อน..คือใจ)

*ถูกบังคับ - บางครั้ง บางโอกาส บางสถานการณ์ เช่นในอดีตที่ชาติต้องการทหารต้องไปเป็นทหารรับใช้ชาติหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือกลายเป็นนักโทษถูกบังคับจับสึก หรือถูกดำเนินคดี ด้วยโทษทางกฎหมาย ทางพระวินัยที่เรียกว่า อธิกรณ์ หรือโทษทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พ้น ๒ ส. คือ สตรี กับสตางค์

*การลาสิกขา..เป็นเรื่องปกติ ไม่มีระเบียบ ข้อบังคับ กฎ กติกา หรือข้อห้ามว่าบวชแล้ว ห้ามสึกหรือสึกไม่ได้

*การทำคุณประโยชน์หรือคุณความดีหรือการเป็นคนดี สามารถกระทำได้ทุกฐานะ ทุกเพศ ทุกวัย

*ประเทศชาติ พระศาสนาต้องการบุคลากรหรือพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ

*ผิดพลาดเพราะทำดี ยังดีกว่าปกติเพราะไม่ทำอะไร?

*หกล้มเพราะเดิน ยังดีกว่าเพลิดเพลินอยู่กับที่

*คนหลายหน้า..ท่านว่าเป็นคนคบไม่ได้ แต่คนทำหน้าที่หลายอย่างและทำได้ดี เป็นคนมีค่าน่าคบ ดีกว่าคนหน้าเดียว..แต่ใช้อะไรไม่ได้ นอกจากเอาไว้ส่องกระจก !

*เมื่อมีดีอยู่ในตัวก็ควรอวด เมื่อถึงคราวต้องอวด ไม่เสียหายอะไร การอวดอีกอย่างหนึ่งซึ่งอันตราย น่าละอาย แต่คนกลับชอบสร้างขึ้นอวดกัน ถึงกับแข่งขันประชันกัน สิ่งนั้นคือ “ความเลว..” !

*พึงตระหนักไว้เสมอว่า..การจะอยู่หรือไปมิใช่ประเด็น อยู่ที่ความพร้อม ประการสำคัญ..ต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับพฤตินิสัยให้เข้ากับโลกให้ได้ กระแสโลกและกระแสสังคมปรารถนาที่จะได้บุคคลผู้อุดมด้วยคุณวุฒิ (ความรู้) และคุณธรรม (ความดี) ชวนให้นึกถึงวลีที่ว่า “วิชาเป็นอำนาจ-มารยาทเป็นเสน่ห์” ซึ่งก็มาจากพุทธคุณข้อว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ อันเป็นเหตุให้อยู่ที่ไหนเขาก็รัก จากเขาก็อาลัย ไป..เขาก็เสียดายคิดถึง

*โลกและสังคมต้องการคนแข็งแกร่ง แต่ไม่แข็งกร้าว, ก้าวเร็วแต่ไม่กร้าวร้าว, อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ, อ่อนหวานแต่ไม่อ่อนไหว ทั้งนี้..เพราะมีศีลธรรมประจำใจนั่นเอง

*อย่าลืมว่า..

ถ้าลืมพระ  ละศีล  ก็สิ้นศักดิ์

ไม่มีหลัก ศักดิ์สิทธิ์ ผิดวิสัย

ต้องมีศีล มีธรรม ประจำใจ

เป็นกำไร ล้ำเลิศ ที่เกิดมา ฯ

________

ธ.พุทธินันทะ





Previous Post
Next Post

0 comments: