วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ค ว า ม แ ป ร ป ร ว น ข อ ง ชี วิ ต เป็นธรรมดา


ค ว า ม  แ ป ร ป ร ว น  ข อ ง ชี วิ ต เป็นธรรมดา

มนุษย์ส่วนมากดำเนินชีวิตขัดขวางความเป็นจริงหรือขวางต่อธรรมดาของโลก จึงได้รับความชอกช้ำทรมานใจอยู่เนืองนิตย์ ตัวอย่างเช่น

โลกไม่เที่ยง แต่กระแสความคิดของคนส่วนมากต้องการให้สิ่งที่ตนพอใจ (ซึ่งเป็นโลกอย่างหนึ่ง) นั้นเที่ยง ดำรงอยู่ยั่งยืนเท่าที่ตนต้องการหรือพอใจ จึงไปขวางกับกระแสธรรมดาของโลก แต่เราไม่อาจต้านทานต่อกระแสนี้ได้  โลกเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ อยู่เนืองนิตย์ คนส่วนมากต้องการให้เป็นสุขตามความพอใจของตน เพราะตนชอบความสุขดิ้นรนหาความสุข  เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็ชอกช้ำทรมานใจ

โลกเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งเป็นคราวๆ เหตุปัจจัยมีอย่างใดย่อมเป็นไปอย่างนั้น มนุษย์ไม่กระจ่างถึงเหตุปัจจัย ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ มุ่งแต่ความปรารถนาของตน เมื่อสิ่งในโลกไม่เป็นไปตามปรารถนาของตัวเองก็เดือดร้อน รำคาญ ทุกข์ทรมานใจ เพราะกระแสความคิดของตนไปขวางกับกระแสธรรมดาของโลกเข้า ถ้ากระแสความคิดของเรากลมกลืนไปกับกระแสธรรมดาของโลก รู้เท่าทันธรรมดาของโลก เราก็จะไม่ทุกข์ทรมานใจมากนัก อะไรเกิดขึ้นก็รู้เท่าทันว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา หวังไม่ได้ว่าขอจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย

อนึ่ง ควรตระหนักอยู่เสมอว่า ทั้งเราและผู้อื่นเป็นเพียงประมวลแห่งธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ นอกนั้นเป็นสิ่งที่สมมติทั้งสิ้น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ล้วนเป็นสิ่งสมมติของโลก เราเข้าไปยืดมั่นถือมั่นเข้าต่างหากว่า "เรา" ว่า "ของเรา" เมื่อมันแปรปรวนไม่เป็นไปตามใจหวังจึงเกิดทุกข์ทรมาน อะไรที่ยังไม่ได้ก็อยากได้ อะไรที่ยังไม่เป็นก็อยากเป็น พอได้แล้วเป็นแล้วก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไร ในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ายินดีเลย มีแต่มายา มีแต่ของหลอกลวง เป็นบ่วงคล้องใจให้ทุกข์ทรมานเล่น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาอย่างนี้เนืองๆ เพื่อความปล่อยวางและเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทีทรมานใจของเราและคนทั้งหลายมานานแสนนาน ตลอดสังสารวัฏที่ว่ายวนอยู่ในทะเลทุกข์  ความทุกข์บางอย่างนั้นสุขุม (ละเอียด) จนคนผู้ไร้ญาณจักษุมองไม่เห็นและสำคัญผิดเห็นเป็นสุขไปก็มี จึงนำตนเข้าไปคลุกคลีกับความทุกข์อันสุขุมนั้น ไม่คิดจะถอนตัวออก ไม่มีปัญญาที่จะถอนตัวออก จมอยู่ในทุกข์นั่นเอง (เช่น ลาภ ยศสรรเสริญ)

ความสุขบางอย่างก็สุขุม (ละเอียดอ่อน) จนผู้ไร้ญาณจักษุมองไม่เห็นเช่นกัน เช่น สันติสุข (ความสุขจากความสงบ) เขาคุ้นเคยแต่ความสุขชนิดหยาบๆ เช่น ความสุขจากการเที่ยวเตร่เฮฮาสนุกสนาน และอบายมุข เช่น สุรายาเมา การพนัน เที่ยวกลางคืน คุ้นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น สงบไม่อยู่ อยู่คนเดียวไม่ได้ เห็นความสงบเป็นความว้าเหว่ ถูกทอดทิ้ง จะหาความสุขทีไรก็ต้องพึ่งคนอื่นและสิ่งอื่นเสมอไป ความสุขของเขาไปพิงหรืออิงอยู่กับสิ่งภายนอก พอสิ่งภายนอกนั้นเสื่อมสลายหรือแปรปรวนไป ความสุขของเขาก็แปรปรวนเสื่อมสลายไปด้วย ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง การที่สิ่งภายนอกหรือบุคคลอื่นจะเสื่อมสลายแปรปรวนนั้นเป็นเรื่องธรรมดาประจำโลกอยู่แล้ว เมื่อเรานำตนเข้ายึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งซึ่งมีความแปรปรวนเป็นธรรมดาเช่นนี้ ความสุขของเราจึงไปขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น บางทีถึงกับยอมตนลงเป็นทาสของสิ่งนั้น ไม่เป็นอิสระ พึ่งตนเองไม่ได้ มีแต่ความคลอนแคลน หวั่นไหว ไม่มั่นคง

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้มีตนเป็นที่พึ่งอย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง "พึ่งตน" กับ "พึ่งธรรม" มีความหมายอย่างเดียวกัน กล่าวคือ ทำตนให้มีธรรม น้อมธรรมเข้ามาไว้ในตน เหมือนเราพูดว่า "แก้วน้ำ"หมายความว่า แก้วกับน้ำอยู่ด้วยกัน เมื่อใดเเก้วกับน้ำอยู่แยกกัน เราก็พึ่งแก้วนั้นเพื่อดื่มน้ำแก้ความกระหายไม่ได้ เพราะเราดื่มแก้วไม่ได้ เราต้องดื่มน้ำซึ่งอาศัยแก้วอยู่ ท่านสอนให้พึ่งตนและพึ่งธรรม ก็ต้องเป็นตนที่มีธรรมหรือธรรมอันมีอยู่ในตนนั่นเอง ตนที่มีธรรมนั่นแหละจะเป็นที่พื่งได้ ถ้าไม่มีธรรมก็คือเป็นตนที่ว่างเปล่าพึ่งไม่ได้ ยังจะเป็นภาระให้ต้องดูแลรักษาเหน็ดเหนื่อยเปล่า มีแต่โทษ

คติชีวิต- เพื่อสิ่งที่เติบโตและเข้มแข็ง, เพจอาจารย์วศิน อินทสระ, ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: